ราคาน้ำมันขึ้น ดีหรือแย่ กับตลาดหุ้น?

ราคาน้ำมันส่งผลต่อ ธุรกิจ และเศรษฐกิจ อย่างไร? เชิญรับชมครับ

เว็บไซต์ดีๆที่นักลงทุนไม่ควรพลาด

เว็บเหล่านี้จะทำให้ชีวิตการลงทุนของท่าน ง่ายขึ้น!

Value Investing (VI) คือ?

ค้นพบความหมายที่แท้จริงของ การลงทุนแบบเน้นคุณค่า ได้ที่นี่


การลงทุนหุ้น และเศรษฐกิจ อัพเดทรายสัปดาห์

10 กันยายน 2562

หุ้นแบงค์ถูกพอหรือยัง? Part II


ความเดิมจากตอนที่แล้ว... ในบทความ หุ้นแบงค์ถูกพอหรือยัง Part I เรามีเล่าถึงความหมายของ P/BV ของสถาบันการเงิน และกล่าวไว้ว่า "ถ้าเรามองว่า ธุรกิจของธนาคารยังเติบโตได้ในระยะยาว P/BV ที่ระดับต่ำกว่า เท่า อาจจะแปลว่าหุ้นตัวนั้นราคาถูกแล้วก็ได้" อาจจะด้วยความบังเอิญ หรือความโชคดี หุ้น KBANK เริ่มปรับตัวขึ้นมาแล้ว 4.4% ในช่วง2วันที่ผ่านมา ส่งผลให้ P/BV ปรับตัวขึ้นจาก 0.96 เท่า เป็น 1.00 เท่าพอดี

ในบทความนี้เรามาดูเครื่องมืออื่นๆ นอกจากอัตรา P/BV ณ ปัจจุบัน ที่จะช่วยให้นักลงทุนคัดเลือกหุ้นแบงค์ได้ง่ายขึ้นครับ ซึ่งประกอบไปด้วย 1) ค่า P/BV ในอดีต และ 2) ROE ระยะยาว  


P/BV ปัจจุบัน เทียบกับ P/BV ในอดีต

จากกราฟด้านล่าง จะเห็นได้ว่าหุ้นธนาคารแทบทุกตัวกำลังซื้อ-ขายอยู่ที่ P/BV ในระดับที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยระยะยาว11ปีของตัวเอง (ที่ใช้11ปีก็เพื่อที่จะได้รวมปี 2009 ซึ่งเป็นช่วงวิกฤตเข้าไปด้วย) ตัวอย่างเช่น P/BV ของ KBANK ปัจจุบันอยู่ที่ 1.00 เท่า ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยระยะยาวที่ระดับ 1.74 เท่า ถึง 42% ส่วน SCB ค่า P/BV อยู่ที่ 1.01 เท่า ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยระยะยาวถึง 46% 




มีแค่ KKP กับ TISCO เท่านั้นที่ซื้อ-ขายอยู่ในระดับสูงกว่าค่าเฉลี่ย P/BV ของตัวเอง ถ้าจำกันได้ ในบทความที่แล้วเราเคยบอกไว้ว่า TISCO เป็นหุ้นธนาคารตัวเดียวที่ราคาเพิ่มขึ้นนับตั้งแต่ต้นปี 2018 สาเหตุหลักคือ มีการเพิ่มสัดส่วนเงินปันผลจากเดิม เคยจ่าย 66% ของกำไรในปี 2017 เพิ่มเป็น 80% ของกำไรในปี 2018 ในสภาวะดอกเบี้ยต่ำเตี้ยแบบนี้ (ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยอายุ 10 ปี อยู่ที่ประมาณ 1.5%) นักลงทุนจึงให้ค่าหุ้นที่จ่ายปันผลดีค่อนข้างมาก

ในกราฟที่เห็นด้านบน เราได้โชว์ข้อมูลเพิมเติมด้วยว่า ถึงแม้ P/BV ของธนาคารจะค่อนข้างต่ำ เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ย 11 ปี แต่ค่า P/BV ปัจจุบัน ก็ยังไม่ต่ำกว่าจุดต่ำสุดที่เกิดขึ้นช่วงวิกฤตปี 2009 (ยกเว้น CIMBT และ TMB) การที่ TMB เป็นหุ้นที่มี P/BV เท่ากับ 0.68 เท่า ซึ่งต่ำกว่าช่วงวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2009 (0.70 เท่า) อาจจะแปลว่าหุ้นตัวนี้มีความเสี่ยงต่ำก็ได้ อย่างไรก็ตาม TCAP กับ TMB กำลังอยู่ในระหว่างการควบรวม และการเพิ่มทุน นักลงทุนควรปรึกษา นักวิเคราะห์ หรือ ที่ปรึกษาการลงทุน เพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน

ROE ระยะยาว

ROE ย่อมาจาก Return on Equity หรืออัตราผลตอบแทนผู้ถือหุ้น (กำไรสุทธิ (net profit) หารด้วย ส่วนของผู้ถือหุ้น (BV) ) ยิ่ง ROE สูง แปลว่าผลตอบแทนจากการลงทุนสูง บริษัทสามารถนำเงินของผู้ถือหุ้นไปแสวงหากำไรได้ดี หรือมองอีกมุมก็คือ ยิ่ง ROE สูง BV ของบริษัทก็ยิ่งเติบโตได้เร็วนั่นเอง เพราะกำไรที่หาได้เพิ่ม(หลังหักปันผล)จะถูกนำมาใส่ไว้ที่ส่วนของผู้ถือหุ้นในงบดุล

มาถึงตรงนี้คอนเซปท์ของ P/BV และ ROE จะคล้ายๆกับ P/E และ อัตราการเติบโตของกำไร (อ่าน Peter Lynch and His Famous PEG ratio) P/E คืออัตราส่วนที่บอกว่าตลาดให้มูลค่าหุ้นมากแค่ไหนเมื่อเทียบกับกำไรต่อปี ณ วันนี้ ยิ่งคาดหวังการเติบโตของกำไรในอนาคตมาก ตลาดยิ่งมีแนวโน้มให้ค่า P/E สูง ทำนองเดียวกัน หุ้นที่ ROE สูง ตลาดยิ่งมีโอกาสให้ค่า P/BV สูงไปด้วย เนื่องจาก Book Value สามารถขยายได้เร็ว ในตารางดังต่อไปนี้ ทางเราได้นำค่า P/BV ของหุ้นธนาคารมาถูกหารด้วย ROE ระยะยาว เพื่อหาว่าหุ้นตัวไหนมีราคาถูกเมื่อเทียบกับ ROE ของตัวเอง โดยจะสุ่ม ROE มาจากบทวิเคราะห์ล่าสุดของหุ้นแต่ละตัวที่อยู่ใน SETTRADE และใช้ ROE ของปี 2020 (หรือปี 2021 ถ้ามี) - ขออนุญาตเรียกอัตราส่วนนี้ว่า PBR


--- ตั้งแต่ย่อหน้านี้เป็นต้นไป จะขอไม่พูดถึง CIMBT และ LHFG เพราะไม่มีประมาณการจากนักวิเคราะห์ใน SETTRADE และไม่พูดถึง TISCO เพราะมีปันผลสูงเป็นพิเศษจนทำให้ราคาหุ้น และ ROE เปรียบเทียบกับธนาคารตัวอื่นค่อนข้างลำบาก (ROE ที่ได้จาก AWS เป็นปี 2020 ในขณะที่ ROE จาก MBKET เป็นปี 2021) ---

เมื่อเรามองไปที่ P/BV เปล่าๆ ช่วงห่างระหว่างตัวที่ P/BV สูงสุด (KKP = 1.36 เท่า) และต่ำสุด (TMB = 0.68 เท่า) จะกว้าง โดย P/BV ของ KKP สูงกว่า TMB ถึง 99.6% แต่เมื่อเราปรับอัตราส่วน P/BV ด้วยการนำ ROE มาหาร จะพบว่าอัตราส่วน PBR ของหุ้นแต่ละตัวจะเกาะกลุ่มใกล้ค่าเฉลี่ยของกลุ่ม (average = 0.093 เท่า) มากขึ้น ช่วงห่างระหว่างตัวที่ PBR สูงสุด (KBANK = 0.105 เท่า) กับต่ำสุด (TMB = 0.084 เท่า) อยู่ที่ 25.2% เท่านั้น ซึ่งบ่งชี้ให้เห็นว่าอัตราส่วน P/BV ที่ตลาดจะให้ค่าสูงหรือต่ำนั้น เป็นตัวทำหน้าที่สะท้อนความคาดหวังของ ROE ในระยะยาวนั้นเอง (ROE สูงถูกสะท้อนด้วย P/BV ที่สูง และ ROE ต่ำถูกสะท้อนด้วย P/BV ที่ต่ำ)

ในขณะนี้ หุ้นที่มี PBR ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่ม (0.093 เท่า) คือ BBL KKP KTB TCAP TMB ส่วน SCB ถือว่าใกล้เคียงค่าเฉลี่ยกลุ่ม เพราะอัตราส่วน PBR  อยู่ที่ 0.096 เท่า เหลือแค่ KBANK ที่ PBR สูงกว่ากลุ่มอย่างเห็นได้ชัดที่ระดับ 0.105 เท่า (สูงกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่ม 8.8%) ทั้งนี้อัตราส่วน PBR ดังกล่าวขึ้นอยู่กับ ROE ที่นำมาใช้ นักวิเคราะห์ต่างคนก็ต่างใช้ ROE ระยะยาวไม่เท่ากัน นักลงทุนอาจจะต้องคำนวน ROE ระยะยาวเอง หรือ เอามาจากบทวิเคราะห์ที่เราเชื่อถือครับ

จะลงทุนหุ้นธนาคารทั้งที นักลงทุนควรประเมินแนวโน้มหนี้เสีย(NPL)ของแต่ละธนาคาร และประเมินเศรษฐกิจมหภาคของทั้งประเทศไทยและโลกประกอบด้วยนะครับ ซึ่งทั้ง2ปัจจัยดังกล่าวยังไม่ได้ถูกกล่าวถึงในบทความนี้ อย่างไรก็ตาม ทางเราหวังว่าเครื่องมือต่างๆที่ถูกกล่าวถึงในบทความทั้ง2ตอนจะช่วยให้ท่านนักลงทุนที่อ่านตัดสินใจเลือกหุ้นได้ง่ายขึ้นครับ

08 กันยายน 2562

หุ้นแบงค์ถูกพอหรือยัง? Part I (Price per Book Value)

ตลาดหุ้นไทยมีธนาคารทั้งหมด 11 ตัว โดยนักลงทุนส่วนใหญ่ที่ถือหุ้นธนาคารในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา คงขาดทุนไปตามๆกัน เพราะราคาปรับตัวลงตาม รายได้ค่าธรรมเนียมที่หายไป และภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวจนทำให้หลายๆธนาคารมีหนี้เสีย หรือ NPL (Non-Performing Loan) สูงขึ้น ตัวอย่างเช่น KBANK ปรับตัวลงจาก 241.0 บาท ณ วันที่ 5 .. 2018 มาอยู่ที่ ราคา 160.5 บาท เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (6 .. 2019) เท่ากับปรับตัวลงมา 33% ในช่วงเวลาไม่ถึง 2 ปี ในช่วงเวลาเดียวกัน หุ้น SCB ปรับตัวลง 22%  หรือ พูดง่ายๆ ว่าตั้งแต่ต้นปี 2018 มาถึงปัจจุบัน  ราคาหุ้นธนาคารทุกตัวปรับตัวลงทุกตัวยกเว้น TISCO (+13%)

แหล่งที่มา: Bloomberg

คำถามต่อมา คือ ราคาลดลงมาขนาดนี้ ราคาหุ้นถูกน่าซื้อหรือยัง วันนี้เรามาดูความถูก และแพงของหุ้นธนาคารผ่านอัตราส่วน Price per Book Value (P/BV) 


อะไรคือราคาปิดต่อมูลค่าตามบัญชี (P/BV)?
ราคาปิดต่อมูลค่าตามบัญชีประกอบด้วยสองส่วน คือ "ราคาปิด" (Price) และ "มูลค่าตามบัญชี" (Book Value)

ราคาปิด ก็คือราคาปิดของหุ้นในแต่ละวัน

มูลค่าตามบัญชี หรือ Book Value ที่เราได้ยินกันบ่อยๆ และถูกใช้ในอัตราส่วนP/BVนั้น คือ มูลค่าของสินทรัพย์ ที่ทางบริษัทใช้เงินทุนจากเจ้าของบริษัทมาซื้อ ซึ่งก็คือ มูลค่าตามบัญชีที่เป็นส่วนของผู้ถือหุ้นนั้นเอง (ชื่อเต็มภาษาอังกฤษ คือ Book Value of Equity) หรือ พูดอีกอย่างก็คือเป็น มูลค่าสินทรัพย์ของบริษัทหลังจากหักส่วนของเจ้าหนี้แล้ว


มูลค่าสินทรัพย์ตามบัญชี  = มูลค่าหนี้สินตามบัญชี  + มูลค่าเงินทุนของผู้ถือหุ้นตามบัญชี

         (Book Value of Asset)                      (Book Value of Debt)                                 (Book Value of Equity)


ในกรณีของบริษัททั่วไปๆ BV มักได้มาจากมูลค่าของโรงงาน เครื่องจักร เงินสดและเงินลงทุนต่าง (asset) ลบด้วย ภาระหนี้สิน (liabilities) (อ่านเกี่ยวกับ P/BV ของธุรกิจทั่วไปเพิ่มเติมได้จาก Price per Book Value: Part I ความหมายและที่มาส่วนในกรณีของธนาคาร BV ส่วนใหญ่มาจาก มูลค่าเงินปล่อยกู้ให้ลูกค้าและเงินลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ (asset) ลบด้วย มูลค่าเงินฝากจากลูกค้าธนาคารและเงินกู้แหล่งอื่นๆ (liability) เงินปล่อยกู้ถือเป็นสินทรัพย์หรือ asset เพราะสามารถสร้างรายได้ดอกเบี้ยให้ธนาคารได้ และเป็นเงินต้นที่ธนาคารควรจะได้คืนในอนาคต ในขณะที่เงินฝากจากลูกค้าธนาคารถือเป็นภาระหนี้สินหรือ liability เพราะเป็นสิ่งที่ธนาคารมีต้นทุนดอกเบี้ยจ่าย และเป็นเงินต้นที่ธนาคารต้องจ่ายคืนลูกค้าในอนาคตตามอายุเงินฝาก หรือการถอนเงินตามความสมัครใจของลูกค้า

ที่อัตราส่วน P/BV เท่ากับ 1 เท่า หมายความว่า ตลาดหุ้นให้มูลค่าธนาคารนั้น เท่ากับ มูลค่าของเงินปล่อยกู้ (ที่หักลบด้วยภารหนี้สินแล้ว) เพราะฉะนั้น ถ้าธุรกิจธนาคารปกติดี P/BV ควรจะซื้อ-ขาย อยู่ในระดับอย่างน้อย 1 เท่าเพราะ Book Value หรือเงินปล่อยกู้เหล่านั้นเป็นสิ่งที่ 1) สร้างรายได้ดอกเบี้ยให้ธนาคารได้ และ 2)ป็นก้อนเงินที่ลูกหนี้ควรจะจ่ายธนาคารจนครบ ถ้าหุ้นธนาคารตัวไหนซื้อ-ขายที่ P/BV ต่ำกว่า 1 เท่า แปลว่าตลาดมองแนวโน้มการปล่อยกู้สินเชื่อก้อนใหม่ในอนาคตน้อยกว่า การจ่ายเงินคืนสินเชื่อก่อนที่มีอยู่เดิม (มูลค่าสินเชื่อสุทธิลดลง) หรือ ตลาดมองแนวโน้มหนี้เสีย (NPL) ปรับตัวสูงขึ้นได้อีกมาก ซึ่งการเติบโตของสินเชื่อสุทธิติดลบ และ NPL ที่เพิ่มขึ้นจะส่งให้ BV ลดลงเองในอนาคต

พูดอีกแง่นึง คือ ถ้าเรามองว่า ธุรกิจของธนาคารยังเติบโตได้ในระยะยาว P/BV ที่ระดับต่ำกว่า 1 เท่า อาจจะแปลว่าหุ้นตัวนั้นราคาถูกแล้วก็ได้ จากหุ้นธนาคารในตลาดหลักทรัพย์ทั้งหมด 11 ตัว ปัจจุบันมีอยู่ถึง 8 ตัวที่เทรดอยู่ต่ำกว่า 1 เท่า เราจึงคาดเดาว่านักลงทุนในตลาด ณ ตอนนี้ คงกังวลเรื่องภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวของไทย ซึ่งได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาทแข็ง การท่องเที่ยวซบเซา เศรษฐกิจโลกชะลอตัว และ สงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกา (อ่านเรื่อง Trade War ได้ที่ สงครามกับคะแนนนิยมของประธานาธิบดี)

แหล่งที่มา www.set.or.th - ข้อมูล ณ วันที่ 6 ก.ย. 2019

ในสภาวะที่เศรษฐกิจมหภาคมีความเสี่ยงรอบด้าน การใช้ P/BV ในการคัดเลือกหุ้นอย่างเดียวคงไม่พอ ในบทความหน้า เรามาดูกันต่อว่ามีตัวเลขอะไรบ้างที่จะมาใช้ร่วมกับ P/BV เพื่อประกอบการตัดสินใจเลือกหุ้นแบงค์ครับ

22 สิงหาคม 2562

จุดอ่อนของอเมริกาที่จะทำให้เกิดวิกฤตรอบต่อไป



SET Index ปรับตัวลงจากจุดสูงของปีมาประมาณ 6% ในขณะที่ S&P 500 ของอเมริกาปรับตัวลงมาประมาณ 3% โดยทั้งสองดัชนีเริ่มปรับตัวลงในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือน กรฎาคม หลังจากมีความไม่แน่นอนเกี่ยวกับเศรษฐกิจโลกมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งประเด็นที่สำคัญที่สุดก็คงหนีไม่พ้นสงครามการค้าระหว่าง อเมริกา กับ จีน ซึ่งประธานาธิบดี Trump ได้กลับมาประกาศศึกขึ้นภาษีสินค้านำเข้าอีกครั้งเมื่อวันที่ 1 สิงหาฯ ที่ผ่านมา

SET Index ขึ้นไปจุดสูงสุดของปีที่ 1,740.91 จุด ณ วันที่ 1 กรกฏาคม 2019

คำถามต่อมาที่อาจจะเกิดในใจนักลงทุน ก็คือ หุ้นจะลงต่อได้อีกมั้ย คำตอบจากเราคือ ความเสี่ยงยังมีรออยู่อีกเยอะ โดยบทความนี้จะมุ่งเน้นไปที่ความเสี่ยงที่ตลาดหุ้นอเมริกา ซึ่งเป็นตลาดที่นักลงทุนในไทยและทั่วโลกควรให้ความสนใจ เพราะเวลาตลาดอเมริกาปรับตัวลงแรง ก็มักจะลากตลาดอื่นลงไปด้วย 

S&P500 ขึ้นไปจุดสูงสุดที่ 3,025.86 จุด ณ วันที่ 26 กรกฎาคม 2019

ปัจจัยเสี่ยง หรือ จุดอ่อนของประเทศ ที่อาจทำให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจในอเมริกา ณ ปัจจุบันมีอยู่อย่างน้อย 3 อย่าง คือ 1) ตลาดหุ้นที่แพง 2) หนี้ภาคเอกชนที่สูงเป็นประวัติการณ์ 3) สงครามทางการค้า

1) ตลาดหุ้นที่แพง

ตัวบ่งชี้ตัวแรกที่บอกว่าตลาดหุ้นอเมริกานั้นแพงแล้วคือ Buffett Indicator หรือ Market Cap to GDP

Warren Buffett เคยกล่าวว่า Market Cap to GDP เป็นดัชนีชี้วัดที่ดีที่สุดว่าตลาดหุ้นอเมริกาถูกหรือแพง ตัวบ่งชี้นี้ประกอบไปด้วยสองส่วน ส่วนแรกคือ market capitalization หรือ มูลค่าหุ้น ซึ่งอิงจากดัชนี Wilshire Total Market ซึ่งรวมมูลค่าหุ้นทั้งเล็กใหญ่ในอเมริกาประมาณ 6,700 ตัว ส่วนประกอบที่สอง คือ  Gross Domestic Product (GDP) หรือผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศสหรัฐอเมริกา   ทางเว็บไซต์ gurufocus มีการอัพเดทอัตราส่วน Market Cap to GDP ทุกวัน 

ในช่วงเวลาปกติ Market Cap to GDP ของอเมริกามักจะอยู่ในระดับ 75%-90% ซึ่งแปลความหมายได้ว่าหุ้นมักจะมีมูลค่ารวมใกล้เคียงกับขนาดของเศรษฐกิจประเทศ ยิ่งมูลค่าหุ้นต่ำเมื่อเทียบกับ GDP แปลว่าหุ้นถูก ยิ่งมูลค่าหุ้นสูงเมื่อเทียบกับ GDP แปลว่าหุ้นแพง ปัจจุบัน (22 สิงหาคม 2019) Market Cap to GDP อยู่ที่ 140% ซึ่งแปลว่ามูลค่าหุ้นอเมริกานั้นมีขนาดใหญ่กว่าเศรษฐกิจถึง 40%

อัตราส่วนนี้เคยทำสถิติสูงสุดไว้ที่ระดับ 148.5% ในเดือน มี.ค. ปี 2000 ซึ่งเป็นช่วงตลาดหุ้นร้อนแรง เกิดภาวะฟองสบู่ในหุ้นกลุ่มที่เกี่ยวกับอินเตอร์เน็ต และเทคโนโลยี (Dot Com Bubble) ในขณะที่วิกฤตเศรษฐกิจรอบล่าสุด Market Cap to GDP ขึ้นไปแตะที่ระดับ 110% ในช่วงปลายปี 2017 ก่อนที่จะปรับตัวลงมา

ปัจจุบัน อัตราส่วน Market Cap to GDP อยู่ที่ 140.3%

ตัวบ่งชี้อีกหนึ่งตัวที่บอกว่าตลาดหุ้นอเมริกาแพง คือ Shiller P/E ของดัชนี S&P 500 โดยต่างจากอัตราส่วน P/E ทั่วไปตรงที่ กำไรที่ถูกนำมาใช้ คือ ค่าเฉลี่ยกำไรในอดีต10ปี และเป็นกำไรที่ถูกปรับด้วยอัตราเงินเฟ้อให้มีมูลค่าเท่ากับเงินดอลล่าร์ปัจจุบันแล้ว การใช้กำไรระยะยาวเช่นนี้ก็เพื่อที่จะตัดปัจจัยวงจรเศรษฐกิจออกจากการคำนวณ P/E ตัวอย่างเช่น ในปีที่เศรษฐกิจดีมาก อัตราการทำกำไรของบริษัท (gross margin, EBIT margin, net margin) อาจจะทำได้ดีเป็นพิเศษ ไม่สะท้อนผลการดำเนินงานที่แท้จริงของบริษัทในระยะยาว

ปัจจุบัน Shiller P/E ของดัชนี S&P 500 อยู่ที่ 29.1 เท่า สูงกว่าค่าเฉลี่ยระยะยาวที่ 17 เท่า ถึง 71% 

2) หนี้ภาคเอกชนในอเมริกาสูงเป็นประวัติการณ์

ย้อนไปวิกฤตเศรษฐกิจช่วงปี 2008-2009 ตัวปัญหาที่ทำให้วิกฤตรุนแรง คือ สินเชื่อเพื่อการซื้อบ้านที่มีคุณภาพต่ำ (subprime mortgage loans) การปล่อยสินเชื่อที่ต่ำกว่ามาตรฐานทำให้มีก้อนหนี้ครัวเรือนสูงเกินไป และคุณภาพต่ำเกินไป ตั้งแต่นั้นมา ธนาคารในอเมริกามีวินัยในการปล่อยกู้มากขึ้น ตัวผู้กู้เองก็มีวินัยในการกู้มากขึ้นจนทำให้ ปัญหานี้ถูกคลี่คลายไป

ปัจจุบันปัญหาใหม่เกิดขึ้นในอเมริกา เมื่อหนี้ภาคเอกชนของบริษัทที่อยู่นอกอุตสหากรรมการเงิน (Total Credit to Non-Financial Corporations) ได้ปรับตัวสูงขึ้นเรื่อยๆจนอยู่ในระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ระดับ  74.4% ของ GDP ณ สิ้นไตรมาส 4 ปี 2018 แซงหน้าสถิติเดิมที่ 72.6% ณ สิ้นปี 2008 

อัตราส่วนหนี้สินของบริษัทในอเมริกาอยู่ที่ 74.4% ณ สิ้นปี 2018 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดตลอดกาล แซงหน้า 72.6% ณ สิ้นปี 2008 

หนี้ที่สูงขึ้นเกิดจากภาวะดอกเบี้ยต่ำนานหลายปี เอื้อให้บริษัทในอเมริกากู้เงินมากขึ้น ซึ่งบริษัทเหล่านั้นก็นำเงินมาซื้อหุ้นตัวเองคืนจากตลาดหลักทรัพย์ด้วยเช่นกัน และเป็น 1 ในเหตุผลที่ทำให้ตลาดหุ้นในอเมริกาปรับตัวแพงขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่เดือน มี.ค. ปี 2009 จนถึงปลายปี 2018 บริษัทในกลุ่ม S&P500 ใช้เงินซื้อหุ้นตัวเองเป็นมูลค่า 4.5 ล้านล้านดอลล่าร์ หรือคิดเป็น 1 ใน 3 ของมูลค่าที่เพิ่มขึ้น (capital gain) 15 ล้านล้านดอลล่าร์ของ S&P500 ในช่วงเวลาเดียวกัน น่าเป็นห่วงว่าเมื่อไรที่บริษัทเริ่มกู้เพิ่มได้ยากขึ้น ไม่ว่าจะด้วยเพราะความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกและกำไรในอนาคต หรือ ด้วยดอกเบี้ยที่ปรับตัวสูงขึ้นในอนาคต การซื้อหุ้นคืนของบริษัทอาจจะเริ่มชลอตัวลง และอาจทำให้ราคาหุ้นอเมริกาไปต่อลำบาก 

กราฟเส้นสีดำแสดงถึงดัชนีตลาดหุ้น S&P500 ในขณะที่กราฟแท่งสีเขียวแสดงถึงมูลค่าการซื้อหุ้นคืนของบริษัทในกลุ่ม S&P500

หลังจากที่ทำสถิติสูงสุดใหม่ในทุกไตรมาสของปี 2018 ในไตรมาส2ของปี2019 การซื้อหุ้นคืนของบริษัทในกลุ่ม S&P500 เริ่มปรับตัวลงแล้ว โดยลดลงถึง 13% จากช่วงเวลาเดียวกันในปีก่อนหน้า (อ้างอิง: https://www.koamnewsnow.com/news/money/stock-buybacks-slowing-down/1112161241 และ https://www.wsj.com/articles/slowing-share-buybacks-remove-a-pillar-of-stock-market-11566379801)

3) สงครามทางการค้าระหว่าง อเมริกากับจีน

ถ้าสงครามทางการค้าไม่จบเร็วๆนี้ แล้วประธานาธิบดี Trump ตัดสินใจลั่นไกขึ้นภาษี10%สำหรับการนำเข้าสินค้าจีนที่เหลือมูลค่า3แสนล้านดอลล่าร์จริง (บางส่วนจะขึ้นตั้งแต่ 1 กันยาฯ บางส่วนขึ้นภาษีเดือน ธันวาฯ) เราเชื่อว่าจะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในอเมริกาและคงลุกลามไปทั่วโลก และเมื่อเศรษฐกิจหดตัว ภาระหนี้ก้อนใหญ่ของบริษัทในอเมริกาก็จะเป็นตัวปัญหาที่ทำให้วิกฤตรุนแรงขึ้น (อ่านบทความ Trade War: สงคราม กับ คะแนนนิยมของประธานาธิบดี)

จะเห็นได้ว่าแค่ขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีนชุดแรกไปแล้ว 2.5 แสนล้านล้านดอลล่าร์ การส่งออกจากประเทศต่างๆ รวมถึงไทย ที่เป็น supply chain ของจีน ก็เริ่มมีการชลอตัวให้เห็นแล้ว เศรษฐกิจของสิงค์โปร์ ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์บางท่านเปรียบเปรยเหมือนเป็นปรอทวัดไข้ของ ASEAN ก็มีหดตัวลง 0.6% ในไตรมาสสองของปี2019 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ถ้า trade war ยังรุนแรงขึ้นอีก ประเทศอื่นในภูมืภาคเดียวกันก็ยิ่งมีความเสี่ยงมากขึ้นเรื่อยๆที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย


เนื่องด้วยความเสี่ยงของอเมริกาที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ท่านนักลงทุนทั้งหลายควรลงทุนหุ้นด้วยความระมัดระวังเป็นอย่างยิ่งครับ

10 สิงหาคม 2562

The tools you need: จะเล่นหุ้นต้องรู้อะไรบ้าง


"อยากเล่นหุ้น ต้องทำไงบ้าง?" คำถามง่ายๆ ที่ผมไม่เคยมีคำตอบง่ายๆให้

การลงทุนหุ้น ก็คล้ายๆกับ อาชีพสาขาอื่น และการเล่นกีฬาต่างๆ คนที่มีหลักการที่ถูกต้อง ทุ่มเท ขยันฝึกฝน ถึงจะมีโอกาสประสบความสำเร็จในระยะยาว ไม่มีทางลัด

เมื่อมีคนถามว่าเล่นหุ้นต้องเตรียมตัวยังไง คำถามแรกที่ผมถามกลับไปคือ รู้บัญชีมั้ย อ่านงบการเงินเป็นหรือเปล่า เพราะงบการเงิน คือ ภาษาที่ธุรกิจใช้สื่อสารออกมาว่าผลการดำเนินงานของบริษัทตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันเป็นอย่างไร ถ้าไม่เข้าใจบัญชี ก็ไม่เข้าใจอดีตของธุรกิจ ถ้าไม่เข้าใจอดีตของธุรกิจ การวิเคราะห์อนาคตของธุรกิจคงเป็นไปได้ยาก อย่างน้อยที่สุดนักลงทุนควรจะเข้าใจว่าอัตราส่วน P/E P/BV ROA ROE คืออะไร คำนวนมาจากอะไร มีความสำคัญยังไง

ซึ่งนำมาสู่ สิ่งจำเป็นข้อที่สอง คือ ความสามารถในการวิเคราะห์ธุรกิจ เข้าใจว่ายอดขาย และต้นทุนสามารถเพิ่มขึ้นและลดลงเพราะปัจจัยอะไรได้บ้าง แนวโน้มการเติบโตของยอดขายและกำไรในระยะยาวเป็นอย่างไร ในข้อนี้ Warren Buffett จะพูดเสมอว่าเขาจะลงทุนเฉพาะในธุรกิจที่เขาเข้าใจเป็นอย่างดีเท่านั้น (อยู่ใน circle of competence) และที่สำคัญต้องเข้าใจด้วยว่าบริษัทที่เราจะลงทุนมีความได้เปรียบทางการแข่งขันอย่างไร (อ่านเกี่ยวกับ ความได้เปรียบทางการแข่งขัน หรือ competitive advantage ได้ในบทความ 5 จุดแข็งของบริษัทที่น่าลงทุน) ส่วน Peter Lynch ก็แนะนำให้ลงทุนในธุรกิจที่อยู่ใกล้ตัว เช่น ของที่เราต้องกินใช้อยู่ทุกวัน (ร้านอาหาร ร้านขายเสื้อผ้า ร้านสะดวกซื้อ เป็นต้น) หรือ สามารถเอาความรู้จากวิชาชีพของเรามาต่อยอดได้ แพทย์ก็ควรจะเข้าใจธุรกิจโรงพยาบาลมากกว่าคนทั่วไป นักข่าว-นักแสดงก็ควรจะเห็นมุมมองธุรกิจสื่อมากกว่าคนอื่น พนักงานบริษัทก็ควรจะเข้าใจอุตสาหกรรมและธุรกิจของนายจ้างในระดับนึง

You don’t have to be an expert on every company, or even many. You only have to be able to evaluate companies within your circle of competence. The size of that circle is not very important; knowing its boundaries, however, is vital.” - Warren Buffett
สิ่งสุดท้ายที่ขาดไม่ได้ในการเล่นหุ้น คือ คุณต้องบอกได้ว่าหุ้นตอนนี้ถูกไปหรือแพงไป เพราะการรู้ว่าแนวโน้มธุรกิจดีแล้วจะลงทุนเลยคงไม่ดีเท่าไรนัก ถ้าราคาหุ้นสะท้อนความคาดหวังเชิงบวกไปมากแล้ว (หุ้นแพง) ในทางตรงกันข้าม ธุรกิจที่แนวโน้มไม่ค่อยดี อาจเป็นการลงทุนที่ดีได้ ถ้าราคาหุ้นสะท้อนความคาดหวังเชิงลบมากเกินไป(หุ้นราคาถูก) ทั้งนี้ โอกาสในการลงทุนในหุ้นดีๆราคาถูกมักจะมาตอนที่ ตลาดหุ้นตกใจกับวิกฤตเศรษฐกิจ วิกฤตอุตสาหกรรม หรือวิกฤตของบริษัทเอง ที่เกิดขึ้นชั่วคราว ความยากคือ ต้องวิเคราะห์ให้ออกว่า 1) วิกฤตครั้งนี้เกิดขึ้นชั่วคราวหรือระยะยาว 2) ณ ระดับราคาไหนที่ว่าราคาเริ่มถูกแล้ว พอวิเคราะห์ออกแล้วว่าราคาถูก ต้องใจถึงพอที่จะซื้อแล้วถือเวลาราคาหุ้นลงต่อเนื่องด้วย


"First-level thinking says, “It’s a good company; let’s buy the stock.” Second-level thinking says, “It’s a good company, but everyone thinks it’s a great company, and it’s not. So the stock’s overrated and overpriced; let’s sell." - Howard Marks
สรุป สิ่งที่นักลงทุนหุ้นต้องรู้คือ
1) พื้นฐานบัญชี งบการเงิน
2) ความเข้าใจในธุรกิจที่จะลงทุนอย่างถ่องแท้ จนวิเคราะห์แนวโน้มธุรกิจในอนาคตได้
3) บอกได้ว่าราคาหุ้นถูกหรือแพง (และใจถึงพอที่จะซื้อและถือเวลาราคาหุ้นเริ่มถูก)

แน่นอนว่า คนที่เรียนบัญชี และสาขาวิชาที่เกี่ยวกับธุรกิจและเศรษฐกิจย่อมได้เปรียบคนที่ต้องมาศึกษาเองอยู่พอสมควร ส่วนความใจถึงในการซื้อและถือหุ้นในช่วงวิกฤต คงไม่มีโรงเรียนไหนสอน แต่สามารถพัฒนาได้ด้วยตนเอง ไม่มีกฎหมายที่ไหนห้ามไม่ให้คนที่ไม่รู้ครบ 3 ข้อที่ทางเราเพิ่งเขียนไปไม่ให้เล่นหุ้น แต่ถ้าคุณไม่มีเครื่องมือพร้อม 3 ข้อ แล้วยังเล่นหุ้นด้วยตัวเอง มีโอกาสสูงมากที่ คุณจะ 1) ตกใจขายหุ้นเวลาราคาลงแรงๆ (เพราะไม่มีความรู้มากพอที่จะเชื่อมั่นในธุรกิจและซื้อหุ้นเพิ่ม ในเวลาที่ราคาถูกลง) 2) ตื่นเต้นจนกระโดดเข้าไปซื้อหุ้น เวลาราคาขึ้นแรงๆ (เพราะกลัวตกรถ ทั้งๆที่ไม่ได้เข้าใจพื้นฐานธุรกิจเท่าไร)

เป็นนักลงทุน ก็เหมือนเป็นนักเรียนตลอดชีวิต เพราะเราต้องพัฒนาตัวเอง และเรียนรู้สิ่งใหม่ๆตลอด หนทางอาจจะไม่ได้ราบรื่น แต่ผมเชื่อว่าคนจำนวนมากที่มีพื้นฐานทางบัญชีอยู่แล้ว สามารถพัฒนาตัวเองเป็นนักลงทุนที่ดีได้ถ้าทุ่มเทและให้เวลากับมัน ถ้ารู้สึกว่ามันมากไปที่ต้องมาเตรียมพร้อมตัวเองให้ทำได้ทั้ง 3 ข้อ ทางเราขอแนะนำให้ลงทุนผ่านกองทุนดีกว่าครับ

ส่วนคนที่พร้อมจะเรียนรู้และพัฒนาตัวเอง เรามีหนังสือมาแนะนำให้ครับ

หนังสือการลงทุนเหมาะสำหรับ มือใหม่ และ นักลงทุนมีประสบการณ์
1.) The Intelligent Investors โดย Benjamin Graham
2.) One Up On Wall Street โดย Peter Lynch
3.) Little Book That Still Beats the Market โดย Joel Greenblatt
4.) Random Walk Down Wall Street โดย Burton G. Malkiel

หนังสือการลงทุนเหมาะสำหรับ นักลงทุนมีประสบการณ์
1.) The Most Important Thing: Uncommon Sense for the Thoughtful Investor โดย Howard Marks
2.) The New Buffettology โดย Mary Buffett และ David Clark
3.) The Essays of Warren Buffett: Lessons for Corporate America โดย Warren Buffett และ Lawrence A. Cunningham

"Investment is most intelligent when it is most businesslike." - Benjamin Graham

Twitter