ในรัฐทั้งหมด50รัฐของสหรัฐอเมริกา ทุกๆคนยินดีที่จะรับเงินดอลล่าร์เมื่อต้องทำการซื้อขายสินค้าต่างๆ ถ้าจะเปรียบเทียบให้เห็นภาพก็คือว่า อัตราการแลกเปลี่ยนระหว่างนิวยอร์ก ดอลล่าร์ และซาน ฟรานซิสโก ดอลล่าร์ ถูกกำหนดไว้ให้มีมูลค่าเท่ากัน คือเท่ากับยูเอส ดอลล่าร์
อย่างไรก็ตาม ถ้าคุณลองเดินทางเป็นระยะทาง5,000กิโลทั่วทวีปยุโรปในช่วงปี1990s คุณจะพบว่าคุณจะต้องคอยเปลี่ยนเงินสกุลเงินอยู่บ่อยๆ โดยจะต้องเปลี่ยนจากเงินฟรังส์ของฝรั่งเศส เป็นมาร์คของเยอรมัน เป็นกิลเดอร์ ของเนเธอร์แลนด์ เพเซตาของสเปน และไลร่าของอิตาลี
การที่ทวีปยุโรปมีสกุลเงินจำนวนมาก ทำให้การท่องเที่ยว และการซื้อขายสินค้าระหว่างประเทศนั้นค่อนข้างจะยากลำบาก เพราะนอกจากความไม่สะดวกที่จะต้องคอยเข้าคิวเพื่อเปลี่ยนสกุลเงินแล้ว คุณจะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมทุกๆครั้งสำหรับการบริการดังกล่าว และถ้าเป็นการซื้อขายระหว่างประเทศ ผู้ซื้อและผู้ขายก็จะต้องแบกรับความเสี่ยงจากความผันผวนในค่าเงิน
แต่ว่าสถานการณ์ทุกวันนี้ในยุโรปเปลี่ยนไป และคล้ายๆกับของสหรัฐมากขึ้น ประเทศในทวีปยุโรปหลายๆประเทศยอมทิ้งสกุลเงินของตนเองและจัดตั้งสหภาพทางการเงินและการปกครองขึ้น โดยใช้สกุลเงินร่วมกันที่ชื่อว่า ยูโร ซึ่งทำหน้าที่เหมือนยูเอส ดอลล่าร์ในสหรัฐอเมริกานั้นเอง
เพราะฉะนั้น ในปัจจุบัน อัตราการแลกเปลี่ยนระหว่างค่าเงินในฝรั่งเศสและเยอรมัน ก็ถูกกำหนดให้มีค่าเท่ากัน เหมือนกับที่เกิดขึ้นในนิวยอร์กกับ ซาน ฟราซิสโก
ถึงแม้การใช้สกุลเงินร่วมกันจะทำให้มีการท่องเที่ยว การซื้อขายระหว่างประเทศมากขึ้น ระบบนี้ก็มีข้อเสียอยู่หลายอย่าง ข้อเสียที่ส่งผลกระทบชัดเจนที่สุดคือ ประเทศต่างๆในยูโรโซนจะไม่สามารถควบคุมนโยบายทางการเงินด้วยตัวเองได้อีกต่อไป ซึ่งEuropean Central Bankจะเป็นผู้เข้ามาทำหน้าที่เกี่ยวกับนโยบายทางการเงินแทน
ด้วยความร่วมมือของประเทศสมาชิก ECBจะจัดตั้งนโยบายทางการเงินเพียงรูปแบบเดียว สำหรับประเทศสมาชิกทั่วยุโรป
ผู้ไม่เห็นด้วยกับสหภาพทางการเงินกล่าววว่า ความเสียหายที่เกิดจาก การสูญเสียการควบคุมนโยบายทางการเงินของแต่ละประเทศ มีมูลค่าสูงมาก เพราะเมื่อมีวิกฤตเศรษฐกิจเกิดขึ้นกับประเทศใดประเทศหนึ่งในกลุ่มEU ประเทศนั้นจะไม่สามารถใช้นโยบายทางการเงิน เช่นการอัดชีดเงินเพื่อลดอัตราดอกเบี้ย เพื่อต่อสู้กับสภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจด้วยตนเองได้
การใช้สกุลเงินยูโรร่วมกัน ทำให้ประเทศผู้ยืมและประเทศผู้ให้ยืมไม่ต้องกังวลเรื่องค่าเงินที่เปลี่ยนแปลง การปล่อยสินเชื่อจึงง่ายดายเหมือนกับการกู้ยืมกันระหว่างรัฐในอเมริกา ซึ่งสิ่งนีก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย
ข้อดี คือ ความเสี่ยงต่อผู้ยืมและผู้ให้ยืมในด้านของการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยนนั้นมีน้อยลง แต่ข้อเสียคือ การกู้ยืมที่ทำได้ง่ายขึ้นกระตุ้นให้ประเทศในกลุ่มPIIGSสร้างกองหนี้สาธารณะอันมหาศาลเกินกว่าประเทศของตนจะจ่ายคืนไหว
ข้อเสียต่อมาคือ ความแข็งและมั่นคงสกุลเงินของยูโรสะท้อนสภาพเศรษฐกิจของกลุ่มEUไม่ใช่ประเทศใดประเทศหนึ่งในกลุ่มEU เพราะฉะนั้น เวลามีประเทศใดประเทศหนึ่งในกลุ่มสมาชิกเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจ ค่าเงินยูโรจะอ่อนลงเพียงเล็กน้อย เพราะความแข็งตัวของค่าเงินดังกล่าวยังมีพื้นฐานทางเศรษฐกิจของประเทศอื่นๆของกลุ่มEUมาหนุนอยู่
ตัวอย่าง
ในปี1997 ประเทศไทยกลายเป็นแหล่งกำเนิดของวิกฤตเศรษฐกิจของเอเชียที่ชื่อว่าวิกฤตต้มยำกุ้ง นักลงทุนเกิดอาการหวาดกลัวพากันเทขายเงินบาท จนแบงค์ชาติรับซื้อเงินบาทไม่ไหวจึงตัดสินใจปล่อยให้เงินบาทลอยตัว จากที่เคยกำหนดไว้ว่า 1ดอลล่าร์ = 25บาท กลายเป็น 1ดอลล่าร์ = 50บาท ภายในไม่กี่วัน สรุปคือ หลังจากปล่อยเงินบาทลอยตัว ค่าเงินบาทสูญเสียมูลค่าไปสูงสุดถึง100% แล้วจึงค่อยๆปรับตัวลงมาอย่างช้าๆ ความอ่อนตัวของเงินบาท เป็นตัวกระตุ้นการส่งออกของไทย และทำให้เศรษฐกิจของประเทศฟื้นตัวได้ค่อนข้างเร็ว
ในช่วงปลายปี2009 คนเริ่มพูดถึงหนี้สาธารณะอันมหาศาลของกรีซและประเทศกลุ่มPIIGS ทำให้นักลงทุนทยอยกันขายยูโรกันมาเรื่อยๆ จากจุดที่แข็งตัวที่สุดของยูโรในปี2009มาถึงจุดที่อ่อนตัวที่สุดเมื่อวันที่19พฤษภาคม2010 ค่าเงินยูโรอ่อนตัวลงเพียง19%เมื่อเทียบกับดอลล่าร์สหรัฐ ผลก็คือ กรีซไม่สามารถพึ่งการส่งออกให้ช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจได้มากนัก
ถ้ากรีซไม่ได้ใช้ยูโร และยังใช้สกุลเงินของตนเอง สิ่งที่จะเกิดขึ้นกับกรีซก็จะคล้ายๆกับที่เกิดขึ้นกับประเทศไทย คือค่าเงินอ่อนตัวลงอย่างมาก ซึ่งเป็นตัวกระตุ้นให้การส่งออกดีขึ้นอย่างชัดเจน
ข้อเสียสุดท้าย เกี่ยวกับการใช้ค่าเงินร่วมกันก็คือ ถึงแม้ยูโรจะอ่อนค่าลงขนาดไหนก็ตาม การส่งออกของกรีซก็อาจจะไม่ได้มากขึ้นเสมอไป เพราะการที่ยูโรอ่อนค่าลงนั้นหมายถึง สินค้าส่งออกของประเทศกลุ่มสมาชิกEUทุกๆประเทศมีราคาถูกลง ซึ่งจะส่งผลให้ประเทศในEUอย่างเยอรมัน และฝรั่งเศสซึ่งผลิตสินค้าส่งออกที่มีคุณภาพมากกว่ากรีซ มีความสามารถในการแข่งขัน(competitive advantage)ในตลาดโลกเพิ่มขึ้นด้วย ผลก็คือ ยูโรที่อ่อนตัวลงอาจจะทำให้คนซื้อของจากเยอรมันและฝรั่งเศสเพิ่มขึ้น และไม่ได้ช่วยทำให้กรีซดีขึ้นเลย
ข้อเสียที่กล่าวมาทั้งหมดของสหภาพทางการเงิน เป็นเพียงส่วนหนึ่งของสาเหตุที่EUและIMFจำเป็นที่จะต้องยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือกรีซ ส่วนสาเหตุอื่นๆนั้นมาจากประเทศกลุ่มPIIGSเอง ซึ่งเกิดจากรัฐบาลที่ขาดความรับผิดชอบทางการเงิน และโครงสร้างนโยบายทางเศรษฐกิจที่ทำให้ประเทศเหล่านี้มีต้นทุนการผลิตสูง ส่งผลให้แข่งขันกับต่างชาติไม่ได้
บทความนี้เกิดจากการปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงบทความcase study ในบทที่12ของหนังสือMacroeconomics; N. Gregory Mankiw
บทความที่เกี่ยวข้อง
ภาระหนี้อันมหาศาลของรัฐ ส่งผลต่อประชาชนอย่างไร
ปัญหาของกรีซ ขาดสภาพคล่อง หรือ ขาดความสามารถในการจ่ายหนี้?
จุดเริ่มต้นของจุดจบ: วิกฤตหนี้รัฐบาลในยูโรโซน