การลงทุนหุ้น และเศรษฐกิจ อัพเดทรายสัปดาห์

17 เมษายน 2555

Price per Book Value: Part 1 ความหมายและที่มา [ปรับปรุงครั้งที่2]


Price per Book Value (P/BV) หรือ ราคาปิดต่อมูลค่าตามบัญชีเป็นหนึ่งในตัวเลขที่มีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับใช้เปรียบเทียบว่าหุ้นตัวนั้นราคาถูกไป หรือ แพงไป ถ้าถูกไปหรือที่เรียกกันว่าundervaluedก็ควรซื้อเก็บไว้รอมันขึ้น ถ้าแพงหรือที่เรียกกันว่าovervalued ก็ควรขาย เพราะฉะนั้นทางเราจึงขอพูดถึงความหมายของตัวเลขนี้กันอย่างคร่าวๆนะครับ

อะไรคือราคาปิดต่อมูลค่าตามบัญชี?
ราคาปิดต่อมูลค่าตามบัญชีประกอบด้วยสองส่วนหลักๆ คือ "ราคาปิด" และ "มูลค่าตามบัญชี"

ราคาปิด ก็คือราคาปิดของหุ้นในแต่ละวัน ที่เราติดตามและคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี

มูลค่าตามบัญชี หรือ Book Value ที่เราได้ยินกันบ่อยๆ และถูกใช้ในอัตราส่วนP/BVนั้น คือ มูลค่าของสินทรัพย์ ที่ทางบริษัทใช้เงินทุนจากเจ้าของบริษัทมาซื้อ ซึ่งก็คือ มูลค่าตามบัญชีที่เป็นส่วนของผู้ถือหุ้นนั้นเอง (ชื่อเต็มภาษาอังกฤษ คือ Book Value of Equity)

มาถึงตรงนี้ ความหมายของของมูลค่าตามบัญชีอาจจะยังไม่กระจ่าง ผมจึงขอเริ่มด้วยการพูดถึงที่มาของสินทรัพย์นะครับ

ทั้งคนทำงานและบริษัททั่วๆไปต่างก็ต้องมีสินทรัพย์ ถ้าเป็นคนทำงานอาชีพเซลล์แมน ก็ต้องมีสินทรัพย์ อย่างเช่น ยานพาหนะ คอมพิวเตอร์ และสิ่งต่างๆที่เซลล์แมนใช้ทำงาน และขายของได้ ถ้าเป็นบริษัท ก็ต้องมีสินทรัพย์ อย่างเช่น เครื่องจักร สำนักงาน ที่ดิน สินค้าคงคลัง และสิ่งต่างๆที่ใช้ในการดำเนินงานของบริษัท

โดยส่วนใหญ่แล้ว สินทรัพย์เยอะจะเป็นสัญญานที่ดีเพราะนั้นหมายถึงบริษัทมีความสามารถในการขยับขยาย ลงทุน หรือ ผลิตสินค้าเพิ่มนั้นเอง

สมมุติว่าเจ้าของบริษัทต้องการซื้อสินทรัพย์เพิ่ม แต่ไม่มีเงินทุน บริษัทนั้นๆสามารถหาเงินทุนเพิ่มได้สองวิธีด้วยกัน คือ หาเจ้าหนี้เพื่อยืมเงินทุน หรือ หาหุ้นส่วน ผู้ที่จะมาเป็นเจ้าของร่วมมาลงทุนเพิ่ม

เจ้าหนี้ที่รู้จักกันดี ก็คือธนาคารนั้นเอง ส่วนการหาหุ้นส่วนเพิ่มก็ทำได้หลายวิธี ตั้งแต่ชวนเพื่อจนไปถึงการเอาบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์

การนำเอาบริษัทเข้าตลาดหุ้นเป็นครั้งแรกมีชื่อเรียกว่า "Initial Public Offering" (IPO) ซึ่งเป็นการเสนอให้บุคคลทั่วไปสามารถเป็นเจ้าของบริษัทได้โดยการซื้อหุ้นจากบริษัทนั้นๆ เพราะฉะนั้นการIPOก็เปรียบเสมือนการหาเงินทุนจากการหาหุ้นส่วนเพิ่มนั้นเอง  บริษัทก็จะนำเงินที่ได้จากIPOนี้ไปลงทุน ซื้อสินทรัพย์ ขยับขยายกันต่อไป (จะเห็นได้ว่าบริษัทได้เงินทุนเฉพาะตอนIPOเท่านั้น และไม่ได้เงินทุนเพิ่มจากการที่หุ้นมีการเปลี่ยนผู้ถือ หรือซื้อ-ขายในตลาดหลังจากIPO)

สรุปก็คือสินทรัพย์ของแต่ละบริษัท ประกอบไปด้วยสองส่วนคือ
1.)ส่วนที่บริษัทยืมเงินเจ้าหนี้มาซื้อ
2.)ส่วนที่บริษัทใช้เงินทุนของเจ้าของเองมาซื้อ (เงินทุนจาก ผู้ก่อตั้ง+หุ้นส่วน/ผู้ถือหุ้น)

หรือ จัดเป็นสมการง่ายๆจะได้ว่า

มูลค่าสินทรัพย์ตามบัญชี  = มูลค่าหนี้สินตามบัญชี  + มูลค่าเงินทุนของผู้ถือหุ้นตามบัญชี
         (Book Value of Asset)                      (Book Value of Debt)                                 (Book Value of Equity)

มาถึงตรงนี้ อาจจะเห็นได้ว่าความหมายของ"มูลค่าตามบัญชี"ที่กล่าวไว้ข้างต้นนั้นก็คือส่วนที่สองนั้นเอง คือเป็น  มูลค่าเงินทุนของผู้ถือหุ้นตามบัญชี  หรือ มูลค่าของสินทรัพย์ของบริษัท โดยไม่รวมส่วนที่ยืมเจ้าหนี้มาซื้อนั้นเอง

Book Value of Equity (หรือที่เรียกสั้นๆว่า Book Value) จึงมีข้อดี คือ มันไม่รวมสินทรัพย์ที่ยืมเงินเจ้าหนี้มาซื้อ ซึ่งทำให้ดูออกว่าจริงๆแล้วสินทรัพย์ที่บริษัทเป็นเจ้าของจริงๆ ณ ปัจุบัน มีมากน้อยเพียงใด
สรุป ราคาปิดต่อมูลค่าตามบัญชี คือ ราคาต่อหนึ่งหุ้น หารด้วย มูลค่าตามบัญชีต่อหนึ่งหุ้น
ตัวอย่าง บริษัทAมี
มูลค่าตามบัญชี = 20ล้านบาท
จำนวนหุ้นในตลาด = 20ล้านหุ้น
ราคาหุ้น = 1บาทต่อหนึงหุ้น

จะได้ว่า มูลค่าตามบัญชีต่อหนึ่งหุ้น = 20ล้านบาท/20ล้านหุ้น = 1บาทต่อหนึ่งหุ้น

เมื่อนำราคาหุ้นไปเปรียบเทียบกับมูลค่าตามบัญชีต่อหุ้นจะได้ว่า
ราคาหุ้น/มูลค่าตามบัญชีต่อหุ้น = 1บาท/1บาท = 1

เพราะฉะนั้น ราคาปิดต่อมูลค่าตามบัญชี = 1 หมายความว่าราคาหุ้นมีค่าเท่ากับมูลค่าตามบัญชีต่อหุ้น หารกันออกมาจึงเท่ากับหนึ่ง

นำไปขยายความต่อได้ก็คือ P/BVของบริษัทที่มากกว่า1 (ราคาหุ้นมีค่ามากกว่ามูลค่าตามบัญชีต่อหุ้น) นั้นหมายความว่า มูลค่าของบริษัทในตลาดหุ้นมีมากกว่ามูลค่าของสินทรัพย์ที่บริษัทมีอยู่จริงเสียอีก ซึ่งส่วนใหญ่P/BVที่มากกว่า1มากๆจะเกิดขึ้นกับบริษัทที่มีผลประกอบการดี กำไรสูง และคนส่วนใหญ่เชื่อว่าบริษัทมีมูลค่ามากกว่าสินทรัพย์ของบริษัทที่จับต้องได้ มูลค่าที่เพิ่มขึ้นมานั้นอาจจะเกิดจาก ความสามารถในการจัดการของผู้บริหาร มูลค่าของยี่ห้อสินค้า หรือแม้กระทั่งอำนาจผูกขาดในตลาดที่บริษัททำธุรกิจอยู่ สิ่งเหล่านี้ทำให้ราคาทีคนยอมรับซื้อ-ขายกันในตลาดหุ้นนั้นสูงกว่ามูลค่าของสินทรัพย์ต่อหุ้นที่บริษัทมีอยู่มาก (ตัวอย่าง PTTEP ซึ่งมี ราคาปิดต่อมูลค่าตามบัญชีเท่ากับ 2.9)

P/BVของบริษัทที่ต่ำกว่า1 (ราคาหุ้นมีค่าต่ำกว่ามูลค่าตามบัญชีต่อหุ้น) นั้นหมายความว่า มูลค่าของบริษัทนั้นๆในตลาดหุ้นต่ำกว่ามูลค่าของสินทรัพย์ที่บริษัทมีอยู่จริง ซึ่งส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นกับบริษัททีมีผลประกอบการไม่ดี ขาดทุนบ่อย และคนส่วนใหญ่ไม่เชื่อมั่นในองกรค์นี้เท่าไรนัก มูลค่าที่คนยอมรับซื้อ-ขายกันในตลาดหุ้นจึงต่ำกว่าสินทรัพย์ที่บริษัทมี (ตัวอย่าง RCL ซึ่งมี ราคาปิดต่อมูลค่าตามบัญชีเท่ากับ 0.51)

อย่างไรก็ตาม บริษัทที่อยู่ต่างภาคธุรกิจกันก็มักจะมีP/BVไม่เท่ากัน บริษัทที่เน้นการให้บริการ และใช้เครื่องจักรและสินทรัพย์น้อย ก็มักจะมีBook Valueที่ค่อนข้างต่ำ ส่งผลให้มีP/BVที่ค่อนข้างสูงไปด้วย ตัวอย่างเช่น ASบริษัทผู้ให้บริการเกมส์ออนไลน์ซึ่งมีP/BVสูงถึง2.93เท่า และSCBLIFบริษัทประกันชีวิตของธนาคารไทยพาณิชย์ ซึ่งมีP/BVสูงถึง3.88เท่า ในทางตรงกันข้าม บริษัทที่ต้องใช้เครื่องจักรมากในการผลิตสินค้า หรือต้องใช้สินทรัพย์ราคาสูงบางอย่างในการประกอบกิจการ ก็มักจะมีBook Valueที่สูง ส่งผลให้P/BVนั้นต่ำตามธรรมชาติของธุรกิจ

สรุปก็คือ P/BVสูงๆของบริษัทในตลาดหุ้นนั้นเกิดได้จากสามสาเหตุหลักๆคือ
1.) บริษัทประกอบกิจการในธุรกิจที่ใช้เครื่องจักร และสินทรัพย์น้อย ซึ่งสิ่งนี้มักจะเกิดกับธุรกิจการบริการ หรือธุรกิจใดๆก็ตามที่พึ่งคนมากกว่าสิ่งของ
2.) นักลงทุนส่วนใหญ่ในตลาดหุ้นเล็งเห็นว่าบริษัทมีมูลค่าแฝงบางอย่าง นอกเหนือจากสินทรัพย์ที่จับต้องได้ เช่น ความสามารถของผู้บริหารและพนักงาน ระบบที่มีประสิทธิภาพขององกรค์ มูลค่าของแบรนด์ที่เป็นที่รู้จักดี และอำนาจผูกขาดจากรัฐบาล เป็นต้น
3.) บางบริษัทอาจจะมีP/BVที่สูงมากไป มากเกินกว่าที่เหตุผลสองข้อแรกจะอธิบายได้ และนั้นก็คือสัญญาณที่นักลงทุนควรระวังไว้ว่า ราคาหุ้นอาจจะแพงเกินไปแล้วนั้นเอง

นักลงทุนที่ประสบความสำเร็จหลายรายได้ใช้P/BVเป็นหลักเกณฑ์ในการเลือกหุ้น เราอาจจะไม่ต้องใช้เกณฑ์ดังกล่าว ถ้าเราไม่ชอบหรือไม่เห็นด้วย แต่อย่างน้อยนักลงทุนควรจะแยกให้ออกว่าP/BVที่สูงมากๆของบางบริษัทนั้นเกิดจากสาเหตุใด จะได้ไม่ไปติดกับซื้อหุ้นที่มีราคาแพงเกินไปครับ

 Price per Book Value: Part 1 ก็จบลงเพียงเท่านี้ครับ

ต่อไปนี้คือ คลิปวิดีโอจากinvestopedia เกี่ยวกับความหมายของBook Valueครับ

Posted in:
Twitter