การลงทุนหุ้น และเศรษฐกิจ อัพเดทรายสัปดาห์

03 กุมภาพันธ์ 2555

บทสัมภาษณ์พิเศษ: เซียนหุ้นเมืองไทยที่คุณต้องรู้จัก

เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ทางSETTALKได้มีโอกาสสัมภาษณ์กับบุุคคลท่านหนึ่ง ซึ่งท่านอายุยังไม่ถึง50ปี แต่กลับประสบความสำเร็จทั้งในด้านชีวิตการทำงาน และชีวิตการลงทุนส่วนตัว อย่างน่าทึ่ง

บุคคลท่านดังกล่าวได้เป็นผู้จัดการกองทุนหุ้นของBBL Asset Management ตั้งแต่อายุ26ปี ต่อมาเมื่ออายุได้32ปี ท่านเป็นSenior Vice President ของ Merrill Lynch Phatra Securities ทำหน้าที่กำกับดูแลสินทรัพย์ที่อยู่ในprovident funds และ private funds รวมมูลค่า สามหมื่นเจ็ดพันล้านบาท

หลังจากนั้นประมาณหกปี ท่านได้ก้าวขึ้นเป็นประธานบริหาร(CEO)ของ Krung Thai Asset Management (KTAM) งานประจำล่าสุดที่เกี่ยวกับทางการเงินที่ท่านได้ทำก็คือ การดำรงตำแหน่งDirector ของ Proprietary Trading Department ณ บริษัท Phatra Securities ซึ่งท่านเป็นทั้งผู้วางระบบ และผู้จัดการกองทุนของบริษัท

ในปี 2005 ท่านได้ผันตัวเองมาเป็นอาจารย์สอนวิชาการลงทุน อยู่ทีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะเศรษฐศาสตร์ หลักสูตรนานาชาติ (EBA) ก่อนที่จะเกษียณตัวเองเมื่อปีที่แล้ว

ท่านผู้นี้มีนามว่า อยุทธ์ ชาญเศรษฐิกุล ซึ่งปัจจุบัน ท่านเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทจำนวนหนึ่งในตลาดหุ้น เช่น บริษัท เอส แอนด์ พี ซินดิเคท จำกัด (มหาชน) [S&P] และ บริษัท ส. ขอนแก่นฟู้ดส์ จำกัด (มหาชน) [SORKON] นอกจากนี้ ท่านยังเป็นกรรมการอยู่ในบอร์ดของบริษัทอยุธยา อลิอันซ์ ซีพี จำกัด (มหาชน) และ บริษัทหลักทรัพย์ เพื่อธุรกิจหลักทรัพย์ จำกัด (มหาชน) อีกด้วย

ไหนๆ ก็เกริ่นกันมาพอสมควรแล้ว เรามาดูบทสัมภาษณ์กันเลยดีกว่าครับ

สไตล์การลงทุน

SETTALK: อาจารย์เคยพูดไว้ว่า “You have to get burned before you get rich” อาจารย์ช่วยขยายความหน่อยได้มั้ยครับ?

คุณอยุทธ์: มันไม่ต้องถึงกับ get burned หรอก แต่บางที เราก็ต้องลอง และก็ต้องมีผิดพลาดบ้าง เพื่อเรียนรู้จากความผิดพลาด เมื่อเรามีประสบการณ์รู้ว่าอะไรผิดเราจะได้ไม่ไปทำอีก อย่าง สมมติว่าคุณขับรถ แล้วคุณต้องเข้าซอย พอขับผ่านซอยนี้บ่อยๆ คุณก็จะรู้ว่าซอยนี้เวลาฝนตก น้ำก็จะขึ้นสูง คุณก็ควรเลี่ยงไปใช้ทางอื่น คุณต้องเคยลองไป ถึงจะรู้ การผิดพลาดมันก็มีประโยชน์ experience teaches

SETTALK: Warren Buffett เคยอธิบายตัวเองว่า เขาเป็น 85% Graham และ 15% Fisher อาจารย์มีคำอธิบายสไตล์การลงทุนของตนเองอย่างไรครับ?

คุณอยุทธ์: จริงๆแล้ว แต่ละคนก็อาจจะมีสไตล์การลงทุนที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่ว่าเรารับความเสี่ยงได้มากแค่ไหน คือ เราควรจะเลือกสไตล์การลงทุนที่เข้ากับ character ของตัวเอง คุณอาจจะจัดพอร์ทแบบ Tactical Asset Allocation คือ ปรับสัดส่วนตามวัฏจักรของตลาด/เศรษฐกิจ หรือ Strategic Asset Allocation ซึ่งไม่สนใจเศรษฐกิจเท่าไรนัก  คือมองแนวโน้มใหญ่เลย หรือ คุณอาจจะเลือกลงทุนแบบ bottom-up ซึ่งจดจ่อไปที่ fundamental เป็นหลัก อย่างไรก็ตาม นักลงทุนก็ควรเลือกสไตล์การลงทุนที่เหมาะกับตัวเอง แบบที่ใช้แล้วกลางคืนนอนหลับ ไม่ต้องกังวลกับพอร์ทจนเกินไป

จากคำถาม จะเห็นได้ว่า ทั้งGraham และ Fisher นั้นมีความเชื่อในการลงทุนระยะยาวอย่างชัดเจน ทาง Graham and Dodd เขาจะดู fundamental เป็นหลัก และเล่นระยะยาว ส่วนสายที่เล่นระยะสั้นกว่าก็จะเน้นหนักไปที่Technical Analysis

โดยส่วนตัวผมเอง ผมจะใช้แนวbottom-upเป็นหลัก คือมองหาบริษัทที่มีvaluationที่น่าสนใจ(เมื่อเปรียบเทียบกับราคา)โดยจะดูมูลค่าที่แท้จริงของบริษัทนั้นๆ แต่ผมจะเลือกลงทุนเฉพาะบริษัทที่มีแบรนด์ และไม่ลงทุนในบริษัทจำพวกOEMที่ผลิตสินค้าที่จะต้องถูกประทับตราว่าเป็นแบรนด์ของคนอื่น นอกจากนั้นผมจะเล่นเฉพาะบริษัทที่จ่ายปันผลสม่ำเสมอ

SETTALK: ผมสังเกตเห็นว่าแนวการลงทุนของอาจารย์นั้นโน้มเอียงไปทาง Peter Lynch และ Warren Buffett แต่ที่แตกต่างกันคือ อาจารย์นำTechnical Analysis มาใช้ด้วย จึงเป็นที่น่าสนใจมากครับว่า อาจารย์สามารถนำTechnicalมาร่วมใช้ด้วยได้อย่างไรครับ?

คุณอยุทธ์: เราก็ควรรู้ไว้ว่า คนในตลาดเขาดูตัวแปรอะไรบ้าง เหมือนเราไปออกรบ ควรจะครบเครื่องเรื่องอาวุธ และสามารถนำมาใช้ได้เหมาะสมตามสภาวะ ถึงแม้ในเวลาส่วนใหญ่เราจะรบระยะไกล พกปืนยาวไปอย่างเดียวก็น่าจะเพียงพอ แต่มันก็มีโอกาสที่ศัตรูจะเข้ามาประชิดถึงตัว เพราะฉะนั้น เราเตรียมมีดสั้น กับ โล่ไปด้วยก็คงจะดีกว่า เพราะปืนยาวคงไม่เหมาะกับการรบระยะประชิดตัว

การลงทุน ก็เหมือนการลงไปในสนามรบ Technicalจะทำให้คุณเข้าใจนักลงทุนและทิศทางตลาดมากขึ้น ส่วนที่ว่ามันจะช่วยทำกำไรได้มากน้อยแค่ไหนนั้น ก็ขึ้นอยู่กับตัว filters/indicators ที่นักลงทุนนำมาใช้ และทักษะของแต่ละคน

อย่างน้อยคุณก็จะรู้ว่า ตอนนี้ตลาดอยู่ในช่วงขาขึ้น หรือขาลง ผมไม่ได้รับประกันว่า คนที่รู้ทั้ง technical และ fundamental จะได้ผลตอบแทนมากกว่าคนที่รู้ fundamental อย่างเดียว แต่คนที่รู้ทั้งสองอย่างน่าจะได้เปรียบ

SETTALK: แสดงว่าส่วนตัวแล้ว อาจารย์ก็ใช้Technical เหมือนกันใช่มั้ยครับ

คุณอยุทธ์: ใช่ แต่ผมแค่ใช้ดูว่าตอนนี้มันอยู่ในช่วงขาขึ้น หรือ ขาลง สำหรับคนที่ถือยาวจริงๆ การใช้Technicalจะเริ่มไม่ค่อยมีความสำคัญเท่าไร เพราะถ้าคุณถือหุ้นยาวเป็นปีๆ จะใช้หรือไม่ใช้Technical ผลตอบแทนก็ไม่ต่างกันมาก 

ที่ยากก็คือความอดทนจะถือยาวมากกว่า โดยเฉพาะการถือหุ้นในช่วงตลาดขาลง เพราะช่วงนั้น มูลค่าพอร์ทของเราก็จะลดลงเรื่อยๆ เราจะถูกคนรอบข้าง หรือลูกค้า (ถ้าเราเป็นผู้จัดการกองทุน) ถามว่า “ทำไมไม่ขายไปก่อน?” หรือ “เอาเงินไปทำอย่างอื่นก่อนไม่ดีกว่าเหรอ?” อันนี้คือคำถามยอดฮิตเลย ปัญหาก็คือถ้าคุณขายทิ้งในช่วงขาลง แล้วเวลาขาขึ้น คุณเข้าไม่ทัน คุณก็เสียโอกาส

ตัวอย่างเช่น หุ้นSCC ก่อนต้มยำกุ้งปี1997 ราคาของหุ้นตัวนี้เคยขึ้นไปถึง170(adjusted for split) พอเกิดวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง ราคาSCCร่วงลงมาที่18บาท ปัจจุบันSCCมีราคาประมาณ350บาทต่อหุ้น คำถามคือ คุณจะทนไหวมั้ยตอนที่มันลงจาก170มาที่18บาท หรือมูลค่าหายไปกว่า95%

โดยส่วนตัว ราคาหุ้นยิ่งลงผมยิ่งชอบ คนส่วนใหญ่มักจะชอบเวลาราคาหุ้นขึ้นทันทีหลังจากที่ซื้อ แต่ผมชอบให้ราคาหุ้นลงไปอีก มันเปรียบเสมือนโอกาสในการซื้อของที่มีคุณภาพ ณ ราคาที่ถูกลง ในขณะที่สินค้าอื่นๆมักจะมีราคาขึ้นเพราะinflationเป็นบวก ผมกลับได้โอกาสซื้อสินค้าคุณภาพในตลาดหุ้น ซึ่งมีการปรับตัวของราคาส่วนทางกับinflation

SETTALK: อาจารย์เคยกล่าวว่า “I have not done market timing for a long time” อะไรคือสาเหตุครับ?

คุณอยุทธ์: ก็เหมือนที่ตอบไปในข้อก่อนๆแหละครับ ผมจะใช้การลงทุนสไตล์bottom-up แลถือยาวเป็นหลัก คุณจะเห็นว่าอย่างBuffettเขาก็ไม่ได้ใช้timingนะ หุ้นที่เขาลงทุน เขาก็มักจะถือไปเรื่อยๆ พอตลาดปรับตัวลง เขาก็ใช้โอกาสนั้นแหละเป็นการซื้อหุ้นเก็บเข้ามาเพิ่ม สำหรับคำจำกัดความของคำว่า ระยะยาว นั้น ก็คงแตกต่างกันไป แต่สำหรับผมอย่างน้อยก็ควรจะไม่ต่ำกว่า 5 ปี แต่ถ้าจะให้ดีควรจะอยู่ประมาณ 1 วัฏจักรทางเศรษฐกิจ ซึ่งก็ประมาณ 7-8 ปี ซึ่งผมก็กำลังทำอยู่



ภาวะตลาดหุ้น และเศรษฐกิจ

SETTALK: ในบทสัมภาษณ์ตอนเดือนมีนาคม 2009 อาจารย์บอกว่าสภาวะตลาดหุ้นตอนนั้นเป็นจังหวะการลงทุนที่ดีมากสำหรับนักลงทุนระยะยาว และก็เห็นได้ชัดว่าอาจารย์คาดการณ์ได้อย่างถูกต้อง อาจารย์มีความเห็นอย่างไรกับสภาวะตลาดตอนนี้ครับ?

คุณอยุทธ์: ตลาดบ้านเราขึ้นอยู่กับกลุ่มน้ำมันเป็นหลัก ซึ่งผมก็เชื่อว่าถ้าราคาน้ำมันยังทรงตัวอยู่ได้ ดัชนีตลาดบ้านเราก็จะไม่ปรับตัวลง และผมก็เชื่อว่าน้ำมันน่าจะอยู่ช่วง 95 ถึงร้อยกว่าๆ และคงไม่มีการปรับตัวลงมา

ส่วนอุตสาหกรรมธนาคาร กลุ่มที่ใหญ่รองลงมา ผมว่าไม่น่าจะมีปัญหาอะไร การเก็บfeeเพิ่มเพื่อไปจ่ายดอกเบี้ยหนี้ของFIDFนั้นจะไม่มีผลมากนัก นอกจากนี้กลุ่มนี้ยังจะได้ผลประโยชน์ค่อนข้างมากจากอัตราภาษีที่ลดลงอีกด้วย ซึ่งจะเป็นปัจจัยบวกที่พยุงราคาหุ้นเอาไว้

โดยรวมแล้วคือ ตลาดบ้านเรามีdownside riskค่อนข้างจำกัด กำไรของบริษัทอาจจะโตได้ไม่เยอะ แต่ตลาดไม่น่าจะปรับตัวลง ถ้าจะลดลงก็คงจะเป็นผลข้างเคียงจากตลาดต่างประเทศที่ปรับตัวลงมากกว่า

SETTALK: อาจารย์มีความคิดเห็นอย่างไรกับ การลงทุนหุ้นในยุโรปและจีน ผ่านกองทุนรวม ณ ตอนนี้ครับ

คุณอยุทธ์: การลงทุนผ่านกองทุนก็เป็นช่องทางหนึ่งที่คุณจะลงทุนหุ้นในต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่า ทั้งตลาดยุโรปและจีน นั้นยังปรับตัวลงไม่สุด

สำหรับยุโรป ผมว่าจะมีปัญหาตามมาอีก แม้กระทั่งกรีซจะได้รับความช่วยเหลือจากการเจรจาครั้งนี้ก็ตาม เพราะถ้ากรีซได้haircut ประเทศอื่นๆในยุโรปที่มีปัญหาก็ต้องเข้ามาขอhaircutด้วย สุดท้ายสถาบันการเงินที่ถือพันธบัตรรัฐบาลของประเทศเหล่านั้นอยู่ก็ต้องเจ็บตัวอยู่ดี

ในส่วนของประเทศจีน ผมว่า ถ้าเรามองcycleใหญ่ จีนกำลังอยู่ในช่วงขาลง ถึงแม้จะมีกระเตื้องขึ้นมาบ้างเป็นช่วงๆ และอัตราดอกเบี้ยยังปรับตัวลงได้อีกเยอะ คงมีเวลาอีกอย่างน้อยก็ 4-5 ปี ผมเชื่อว่าเศรษฐกิจกำลังชะลอตัว และท้ายที่สุด ผมคิดว่าจีนจะต้องเจอวิกฤตเศรษฐกิจที่ญี่ปุ่น อเมริกา และยุโรปต้องเจอ ประเทศที่ใช้ระบบทุนนิยมคงหนีวงจรนี้ไม่พ้น ผมจึงเชื่อว่าถ้าจะเข้าลงทุนจีนกับยุโรปตอนนี้คงจะเร็วเกินไป


เกณฑ์การเลือกหุ้น

SETTALK: อาจารย์มีInvestment Checklistsมั้ยครับ?


คุณอยุทธ์: ผมไม่เคยเขียนใส่กระดาษนะ แต่ผมมีเกณฑ์อยู่3-4อย่าง

1. บริษัทนั้นต้องมีแบรนด์
ถ้าเป็นแบรนด์อันดับต้นๆของตลาดได้ก็ยิ่งดี ผมจะไม่ซื้อบริษัทที่ไม่มีแบรนด์ เพราะผมเชื่อว่า การมีแบรนด์คือcompetitive advantageที่สำคัญ นอกจากแบรนด์ที่ผู้บริโภคนิยม ผมมักจะลงทุนในหุ้นที่ขายสินค้าประเภทที่ใช้แล้วหมดไป ไม่ใช่สินค้าที่นานๆซื้อที  ผลก็คือ หุ้นหลายๆตัวที่ผมซื้อนั้นเป็นของบริษัทที่ขาย consumer staples ซึ่งก็คือสินค้าที่ต้องซื้อบ่อยๆเพราะ สินค้านั้นเป็นอาหาร หรือของจำเป็นที่ใช้ไม่กี่ครั้งก็หมดไป

2. จ่ายปันผลสม่ำเสมอ
ผมค่อนข้างconservative และต้องการผลตอบแทนในรูปของเงินปันผลที่มั่นคง

แต่คนไทยส่วนใหญ่ชอบไปดูเงินปันผลที่บริษัทจ่ายในอดีต อย่างเช่นปีก่อนหน้า และสมมติกันเอาเองว่า ปีนี้อัตราเงินปันผล(dividend yield)นั้นจะเท่าเดิม ซึ่งวิธีนี้ใช้ไม่ได้กับหลายๆอุตสาหกรรม เช่น กลุ่มบริษัทที่ขายสินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆ และโรงกลั่น โดยเฉพาะบริษัทจำพวกโรงกลั่นซึ่งมีผลประกอบการแกว่งตัวรุนแรงตามวงจรเศรษฐกิจ ถ้าเศรษฐกิจบูม ยอดขายก็ก้าวกระโดด profit marginก็เพิ่ม บริษัทก็จะจ่ายปันผลได้เยอะ ถ้าเศรษฐกิจถดถอย ยอดขายก็ลด profit marginก็แทบไม่เหลือ จนบางครั้งก็ไม่มีเงินจ่ายปันผล เพราะฉะนั้นการดูอัตราเงินปันผลในอดีตเพื่อคาดเดาเงินปันผลในอนาคตนั้นจะใช้ได้กับ บริษัทที่มีผลประกอบการมั่นคง ไม่แกว่งตัวตามเศรษฐกิจเท่านั้น

3. ยอดขายโตทุกปี
ผมต้องการบริษัทที่ยอดขายโตมาตลอด ในช่วง4-5ปีที่ผ่านมา และต้องการให้กำไรโตตามยอดขายด้วย
แต่ถ้ายอดขายโต แต่กำไรไม่โต นั้นอาจจะเป็นโอกาสที่ดีในการซื้อหุ้นเพิ่ม เพราะการที่กำไรไม่เพิ่มนั้นอาจจะเกิดจากปัจจัยชั่วคราว เช่น ราคาวัตถุดิบที่ปรับตัวสูงขึ้น  ในที่สุดการ diverge ของยอดขายกับกำไรสุทธิจะชลอตัวลง และเปลี่ยนเป็น converge หากัน และราคาหุ้นก็จะปรับตัวตามการturnaround นี้ แบบนี้ถือว่าน่าลงทุน

4. ไม่มีหนี้ที่มีดอกเบี้ยจ่าย (Interest Bearing Debts)
ผมต้องการบริษัทที่ไม่มีหนี้ หรือแทบไม่มีหนี้ที่มีดอกเบี้ยจ่าย เพราะผมต้องการบริษัทที่เงินปันผลมั่นคง และไม่มีภาระดอกเบี้ย นอกจากนี้ผมไม่ชอบบริษัทที่กู้เงินมาจ่ายเงินปันผล โดยเฉพาะบริษัทที่ทำเช่นนี้บ่อยครั้ง เพราะมันจะเป็นผลเสียกับบริษัทเองในระยะยาว

เกณฑ์อื่นๆเพิ่มเติม: ผมไม่ค่อยให้ความสนใจใน P/E เท่าไรนัก เพราะ อาจจะถูกmislead ได้โดยเฉพาะ quality of earning ผมจะให้ความสนใจมากใน P/CF* ซึ่งควรจะอยู่ในช่วง 8-10 เท่า หรือต่ำกว่า และ ROAและROE เป็นเลขสองหลัก และที่สำคัญต้องมี top line growth (การเติบโตของยอดขาย) และ bottom line growth (การเติบโตของกำไร)

*CF = Cash Flow from Operations ซึ่งก็คือมูลค่าของเงินสดที่ได้จากการดำเนินธุรกิจนั้นเอง
---------------------------------------

ก่อนจาก ผู้เขียนได้ถามคุณอยุทธ์ไปว่า "อาจารย์ครับ แล้วคนที่มีพอร์ทเล็กต้อง ซื้อ-ขาย บ่อยๆมั้ยครับ" ท่านตอบมาว่า "ไม่ๆ ใช้หลักการเดียวกันนั้นแหละ" ซึ่งก็คือไม่ว่าจะพอร์ทเล็ก หรือ พอร์ทใหญ่ จะลงทุนให้มีผลตอบแทนดีนั้น ต้องถือยาวครับ ส่วนคนที่ยังอยากเล่นสั้น หรือ มีการซื้อ-ขายบ่อย ก็ควรจะแยกพอร์ทเล่น จะได้รู้ตัวอยู่เสมอว่า พอร์ทแรกนั้นไว้สำหรับลงทุนระยะยาวเท่านั้น และพอร์ทที่สองไว้สำหรับเก็งกำไรระยะสั้น จะได้ไม่นำกลยุทธ์มาปนกัน

หวังว่า คำแนะนำจากเซียนท่านนี้จะเป็นประโยชน์กับท่านผู้อ่านบ้างนะครับ


อยากทราบข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเซียนท่านนี้? คลิกที่นี่

Posted in: ,
Twitter