การลงทุนหุ้น และเศรษฐกิจ อัพเดทรายสัปดาห์

05 กุมภาพันธ์ 2555

กรีซ และการลงทุนหลังจาก haircut


กว่าสองปีที่ผ่านมา ผู้นำยุโรปได้ส่งเงินช่วยเหลือกรีซอย่างทุ่มสุดตัว ในทีแรก อาจจะเข้าใจได้ยากว่า ทำไมพวกเขาต้องเข้าไปช่วยเหลือ ประเทศที่ช่วยเท่าไรก็ไม่รอดอยู่ดี? หรือ พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ คุณจะช่วยประเทศที่ขาดความสามารถในการจ่ายหนี้ โดยการให้ประเทศนั้นกู้เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ (จากIMF, ECB, EU) ได้อย่างไร?

ปัจจุบัน หนี้สาธารณะของกรีซอยู่ที่ประมาณ 160% ของ GDP ซึ่งเป็นระดับที่สูงไปมาก ตามตัวเลขข้อมูลในอดีต ระดับหนี้ของรัฐที่95%ของGDPนั้น เริ่มเป็นเขตอันตราย เพราะมันจะเริ่มส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจ ซึ่งจะทำให้การจ่ายหนี้คืนให้ได้หมด ตามเวลาที่กำหนด เป็นไปได้ยากยิ่งขึ้น

แต่กรีซคงใช้ตัวเลข95%ไม่ได้ เพราะ
1.) เส้นอันตราย 95% คือ ค่าเฉลี่ยของประเทศที่พัฒนาแล้ว
2.) กรีซมีสภาพเศรษฐกิจที่แย่เป็นพิเศษ เนื่องจาก3ปัจจัยหลัก คือ นโยบายของรัฐบาลที่ไม่เอื้อต่อการทำธุรกิจ ความสามารถในการแข่งขันของแรงงานไม่เพียงพอ และประชากรสูงอายุที่มีอยู่มากเป็นอันดับต้นๆในยุโรป จนส่งผลให้ความสามารถในการเติบโตของเศรษฐกิจนั้นค่อนข้างจำกัด และเพิ่มภาระค่าใช่จ่ายของรัฐเพื่อเลี้ยงดูคนเหล่านี้ [อ่าน วิกฤตหนี้ในยุโรปเกิดขึ้นได้อย่างไร?]

เพราะฉะนั้น เส้นอันตรายของกรีซคงจะอยู่ต่ำกว่า 95% อยู่มาก


สาเหตุที่ต้องอุ้มกรีซ

ในเมื่อภาระหนี้ก็มากเกินเยียวยา ภาวะเศรษฐกิจก็ย่ำแย่ ช่วยไปยังไงก็ไม่ฟื้น แล้วสาเหตุที่แท้จริงที่ต้องช่วยคืออะไร?

ที่ต้องคอยส่งเงินช่วยเหลือมาตลอดก็เพราะว่า ความล้มเหลวของกรีซจะนำไปสู่ความล้มเหลวของประเทศอื่นในยูโรโซนด้วย เช่นกัน

ในปี 2008 ชาวยุโรปโดยรวมถือหนี้ของธนาคาร บริษัทต่างๆ และรัฐบาลของกรีซ อยู่มากถึง 3 แสนล้านยูโร นักลงทุน และผู้นำยุโรป จึงกลัวว่า การล้มของรัฐบาลกรีซจะทำลายระบบธนาคารในประเทศ และส่งผลกระทบรุนแรงต่อสถาบันการเงินของประเทศอืนๆในยูโรโซน โดยเฉพาะ เยอรมัน และฝรั่งเศส

อย่างไรก็ตาม ในช่วงสองปีที่ผ่านมา เจ้าหนี้ของกรีซพากันทยอยขายหนี้ในประเทศกรีซทิ้ง [อ่าน จุดเริ่มต้นของจุดจบ: วิกฤตหนี้รัฐบาลในยูโรโซน] ธนาคารกลางและกองทุนบำเหน็จบำนาญในประเทศกรีซ จึงต้องรับภาระซื้อพันธบัตรรัฐบาลกรีซเป็นจำนวนมาก IMFต้องเข้ามาให้เงินกู้ช่วยเหลือในส่วนที่ขาด และECBก็ทำการซื้อพันธบัตรกรีซทางอ้อม โดยการยอมรับ พันธบัตรรัฐบาลกรีซ เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันในการกู้เงินจากECB

ผลก็คือ ณ สิ้นเดือนกันยายน ปี 2011 ภาคเอกชนจากประเทศที่พัฒนาแล้ว ถือหนี้ของกรีซอยู่ประมาณ 1.1 แสนล้านยูโร ซึ่งผู้เขียนคาดว่า ปัจจุบัน ภาคเอกชน ถือหนี้ของรัฐบาลกรีซอยู่เป็นมูลค่าต่ำกว่านี้อีกมาก เพราะฉะนั้น การที่กรีซล้มตอนนี้ จะไม่ส่งผลรุนแรงเท่ากับ การที่กรีซล้มในช่วงปี2008-2009


ผลที่ตามมา ถ้ากรีซล้ม

ผู้อ่านบางท่านอาจจะถามต่อว่า "แสดงว่า ถ้ากรีซล้มตอนนี้ ก็ไม่น่ากลัวเลยใช่มั้ย?"

คำตอบก็คือ ผลกระทบโดยตรงต่อภาคเอกชนคงจะรุนแรงน้อยลง แต่ผลกระทบโดยอ้อมยังน่ากลัวใกล้เคียงเดิม

"อ่าว แต่ว่าการเจรจาhaircut ที่จะปรับมูลค่าหนี้ที่ภาคเอกชนถือลงประมาณ70% ใกล้จะจบแล้วนะ แล้วถ้าจบไปได้ด้วยดี IMFก็จะส่งเงินมาช่วยเพิ่ม ทุกอยากก็น่าจะHappy Ending ไม่ใช่เหรอ?"

การเจรจา haircut เป็นเพียงแค่การซื้อเวลาครับ เพราะ

1.) ถึงแม้ตอนนี้กรีซจะรอดไปได้ เพราะได้เงินช่วยเหลือจากIMFมาจ่ายก้อนหนี้ที่จะครบกำหนดในวันที่ 20 มีนาคม ที่จะถึง หนี้ที่จะครบกำหนดจ่ายภายใน 3-4 ปีข้างหน้านั้นยังมีอีกมหาศาล แค่ปีนี้ปีเดียว ผู้เขียนคาดว่า รัฐบาลยังต้องจ่ายคืนเจ้าหนี้ไม่ต่ำกว่า 2 หมื่นล้านยูโร (ไม่รวมก้อนที่จะต้องจ่ายวันที่ 20 มีนาคมนี้ ซึ่งมีมูลค่าเท่ากับ1.44 หมื่นล้านยูโร) ซึ่งหมายความว่า นี่จะไม่ใช่ครั้งสุดท้ายที่รัฐบาลกรีซต้องพึ่งผู้อื่นเพื่อเอาตัวรอด

2.) ผู้เขียนมีความคิดเห็นตรงกับ คุณอยุทธ์ ว่า "สำหรับยุโรป ผมว่าจะมีปัญหาตามมาอีก แม้กระทั่งกรีซจะได้รับความช่วยเหลือจากการเจรจาครั้งนี้ก็ตาม เพราะถ้ากรีซได้haircut ประเทศอื่นๆในยุโรปที่มีปัญหาก็ต้องเข้ามาขอhaircutด้วย สุดท้ายสถาบันการเงินที่ถือพันธบัตรรัฐบาลของประเทศเหล่านั้นอยู่ก็ต้องเจ็บตัวอยู่ดี" ถ้าสถาบันการเงินเจ็บ ผลกระทบที่ตามมามักจะลุกลามไปถึง ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสถาบันการเงินนั้นๆ และส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจในที่สุด [อ่านบทสัมภาษณ์คุณอยุทธ์ได้ที่ บทสัมภาษณ์พิเศษ: เซียนหุ้นเมืองไทยที่คุณต้องรู้จัก]

ท่านผู้อ่านอาจจะส่งสัยต่อว่า "แบบนี้ แปลว่าปล่อยกรีซให้ล้มไปเลยดีกว่าเหรอ?"

ควรจะปล่อยให้ล้มครับ แต่ผู้นำยุโรปต้องมีการเตรียมความพร้อมพอสมควร เพราะการปล่อยให้ล้มไปดื้อๆอย่างไม่ใยดี จะทำให้วิกฤตครั้งนี้ลุกลามไปทั่วโลก ซึ่งผู้นำยุโรปคงไม่อยากให้เกิดขึ้น ผมขอยืมคำพูดของอาจารย์ Steven Rosefielde มาใช้นะครับ ท่านพูดไว้ว่า "A sound technical solution is not difficult, and an orderly Greek bankruptcy can be orchestrated.The issue is political will." [อ่าน บทสัมภาษณ์เกี่ยวกับยุโรป: อาจารย์ Steven Rosefielde]

นอกจากนี้ การปล่อยให้ล้ม และบีบให้กรีซออกจากยูโรโซน จะเป็นการเตือนสติให้ประเทศอื่นๆในกลุ่มPIIGSได้รู้ว่า ถ้าคุณไม่รีบปรับตัว คุณอาจจะต้องมีชตากรรมแบบกรีซ


ข้อสรุปสำหรับนักลงทุน

ความเสี่ยงที่จะเกิดปฏิกิริยาลูกโซ่ที่ถูกจุดชนวนโดยเหตุการณ์ในกรีซ นั้นยังคงอยู่ แต่อาจจะไม่รุนแรงเท่ากับนักที่นักลงทุนส่วนใหญ่คาดการณ์ไว้ เพราะสถาบันการเงินทั่วโลก ก็ได้พยายามปรับตัว ทยอยลดสัดส่วนการถือหนี้ของกลุ่มPIIGS และ ยังมีECBคอยหนุนในด้านของสภาพคล่อง ของธนาคารต่างๆในยูโรโซนอยู่

ผู้เขียนจึงขอสรุปว่า การปรับตัวลงของตลาดที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต จะเป็นโอกาสที่ดีมากสำหรับนักลงทุนระยะยาวที่จะได้ซื้อหุ้นเพิ่ม แต่ตอนนี้ ขอให้ระวัง อย่าใจร้อนรีบลงทุนในหุ้นของบริษัทที่มีสัดส่วนส่งออกไปยุโรปอยู่เยอะ เช่น บางบริษัทที่อยู่ใน อุตสาหกรรมรถยนต์ อิเล็กโทรนิคส์ และอาหาร เพราะทางSETTALKคาดว่าภาวะเศรษฐกิจยุโรปโดยรวมจะถดถอย ซึ่งจะส่งผลให้มีการนำเข้าน้อยลง และอาจมีการสร้างtrade barriersเพิ่มขึ้น เพื่อปกป้องแรงงานในประเทศของตน

โดยส่วนตัว ผู้เขียนคิดว่า หุ้นที่มีอยู่ ควรจะถือไว้ก่อน แล้วก็เตรียมเงินสดไว้ส่วนหนึ่งสำหรับซื้อเพิ่ม เผื่อเวลาของในตลาดมันราคาถูกลงครับ

อ่านบทวิเคราะห์อย่างละเอียดเกี่ยวกับวิกฤตหนี้ยุโรปได้ในซีรี่ส์ NO WAY OUT

1. Reinhart, Camen M. and Kenneth S. Rogoff. 2009. This Time is Different: Eight Centuries of Financial Folly. Woodstock: Princeton University Press.
3. Coy, Peter and Matthew Philips. "A Greek Default: You Can Mark It on Your Calendar". BloombergBusinessweek, January 23, 2012, Global Economics.

Posted in:
Twitter