การลงทุนหุ้น และเศรษฐกิจ อัพเดทรายสัปดาห์

16 มกราคม 2555

เลือกหุ้นสไตล์ Warren Buffett: Part II กลยุทธ


Part II กลยุทธในการลงทุนของ Warren Buffett และคุณลักษณของบริษัทที่เหมาะแก่การลงทุน

กลยุทธในการลงทุน

วิธีการลงทุนของ Warren Buffett เข้าใจได้ไม่ยาก แต่มักจะขัดกับสัญชาตญาณของคนส่วนใหญ่ กล่าวคือ

  • เมื่อคนส่วนใหญ่ ขายหุ้น Buffett จะเริ่มซื้อหุ้นที่มีข้อได้เปรียบทางการแข่งขันในระยะยาว ณ ราคาต่ำกว่ามูลค่าที่เหมาะสม (อีกนัยหนึ่ง ณ.ราคาที่คาดว่าจะได้ผลตอบแทนที่น่าสนใจในอนาคต ) ยิ่งหุ้นตกมาก ยิ่งซื้อมาก
  • เมื่อคนส่วนใหญ่เข้าซื้อหุ้น ด้วยความคาดหวังสวยหรู จนทำให้ราคาหุ้นขึ้นไปอย่างมาก (Bull Market) Buffett จะเริ่มขายหุ้นที่ราคาแพงเกินมูลค่าที่เหมาะสม และสะสมเงินสดไว้รอช่วงขาลงของตลาด (Bear Market)
Buffett ทำเช่นนี้ ครั้งแล้ว ครั้งเล่า จนเขากลายเป็นมหาเศรษฐีอันดับต้นๆของโลก และพอร์ทของเขาประกอบด้วยหุ้นชั้นดี ที่มีแนวโน้มการขยายตัวของธุรกิจ อย่างแข็งแรงในอนาคต

ในปี ค.ศ. 2007 Buffett รู้สึกว่าตลาดหลักทรัพย์ร้อนแรงเกินปัจจัยพื้นฐาน เขาทยอยขายหุ้น และสะสมเงินสดในBerkshire Hathaway (Buffett ถือหุ้นใหญ่ และเป็นประธานบริษัท) มากถึง 37,000 ล้านดอลล่าร์ นักลงทุนมืออาชีพใน Wall Street ค่อนแคะ Buffett ถึงการเก็บเงินสดไว้มากเกินไป เมื่อตลาดทรุดในปี ค.ศ. 2008 ด้วยเงินสดจำนวนมากในมือ Buffett สามารถซื้อหลักทรัพย์บริษัทชั้นนำภายใต้เงื่อนไขดีๆหลายรายการ เช่น

General Electric: หุ้นบุริมสิทธิ์ (preferred stock) มูลค่า 3,000 ล้านดอลล่าร์ เงินปันผล10%ต่อปี และสิทธิในการซื้อ(Warrants)หุ้นสามัญของGE ในราคา22.50ดอลล่าร์ ในช่วงเวลา 5 ปี

ขยันค้นคว้า เฟ้นหาของดีราคาถูก

ประเด็นสำคัญที่จำเป็นต้องเน้นในที่นี้ คือ Buffett ค้นคว้าข้อมูลอย่างต่อเนื่อง เพื่อหาหุ้นที่น่าลงทุน ณ ระดับราคาที่คาดว่าจะให้ผลตอบแทนที่น่าสนใจในระยะยาว

เมื่อทยอยซื้อจนได้จำนวนที่พอใจแล้ว Buffett จะถือหุ้นดังกล่าวเป็นเวลาหลายปี จะขายก็ต่อเมื่อมั่นใจว่า
ราคาหุ้นนั้นมีราคาสูงเกินปัจจัยพื้นฐานไปมาก หรือ ความได้เปรียบด้านการแข่งขัน กำลังจะหมดไป
หุ้นหลายๆบริษัท Buffett ซื้อในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ บางบริษัทซื้อในช่วงที่เกิดปัญหากับอุตสาหกรรมใด อุตสาหกรรมหนึ่ง (ทำให้ราคาหุ้นบริษัทที่เขาจ้องอยู่ มีราคาถูกลงมาก) บางบริษัทซื้อในช่วงที่เกิดเหตุการณ์เฉพาะกิจบางอย่าง (one-time events) ที่ทำให้คนส่วนใหญ่ขายหุ้นดังกล่าว มีไม่มากที่ซื้อในช่วงเหตุการณ์ปกติ ซึ่งเป็นกรณีที่เขาเชื่อว่าการลงทุน ณ.ระดับราคาดังกล่าว ยังจะให้ผลตอบแทนที่ดีในอนาคต (แสดงว่าราคาตลาดค่อนข้างต่ำ เมื่อเทียบกับผลประกอบการที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต)


คุณลักษณะของบริษัททีเหมาะแก่การลงทุน

Buffett ให้ความสำคัญมากกับ ความได้เปรียบด้านการแข่งขันที่ยั่งยืน (durable competitive advantage) ของบริษัทที่เขาจะลงทุน ซึ่งหมายถึงความได้ความได้เปรียบด้านการแข่งขัน ที่จะไม่เสื่อมถอยง่ายๆเมื่อเวลาผ่านไป หรือมีคุ่แข่งมากขึ้น

ตัวอย่างของความได้เปรียบด้านการแข่งขัน ได้แก่ แบรนด์ที่โดดเด่น คุณภาพสินค้าที่แตกต่าง ต้นทุนต่อหน่วยที่ต่ำกว่า และ อำนาจผูกขาดในธุรกิจนั้นๆ ซึ่งอาจเกิดจาก ลิขสิทธิ์ สิทธิบัตร สัมปทาน นโยบายรัฐบาล ฯลฯ (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับความได้เปรียบด้านการแข่งขัน จากบทความ "5จุดแข็งของบริษัทที่น่าลงทุน")

ตามมุมมองของBuffett บริษัทที่มีความได้เปรียบด้านการแข่งขันที่ยั่งยืน มักจะมีลักษณะดังนี้

1.) มีประวัติการดำเนินงานที่ยาวนาน ภายใต้เครื่องหมายการค้าเดิม

2.) มีผลกำไรเติบโตค่อนข้างสม่ำเสมอ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

3.) ไม่จำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงมากมายเกี่ยวกับกระบวนการผลิตของบริษัท และวิธีการบริโภคของลูกค้า ทั้งในอดีต และในอนาคต (ทำให้บริษัทไม่ต้องลงทุนด้านวิจัย และพัฒนา ด้วยงบประมาณจำนวนมาก และบ่อยๆ)

บริษัทที่ตั้งมานานแล้ว และมีผลกำไรเติบโตสม่ำเสมอ ย่อมต้องมีความได้เปรียบด้านการแข่งขันอย่างใด อย่างหนึ่ง หรือ หลายอย่าง

บริษัทที่มีผลกำไรขึ้นๆลงๆ น่าจะส่อถึงลักษณะของธุรกิจที่มีความผันผวนสูง (cyclical) หรือสินค้ามีลักษณะเป็นโภคภัณฑ์ (commodity) ซึ่งแข่งขันโดยใช้ราคาเป็นหลัก หรือ การจัดการมีปัญหา ฯลฯ

ตัวอย่างบริษัทที่มีคุณลักษณะบ่งบอกถึง ความได้เปรียบด้านการแข่งขันที่ยั่งยืน และเป็นที่ชื่นชอบของBuffett คือ

Procter & Gamble, Coca-Cola, Johnson & Johnson, Kraft Food, Wells Fargo, Costco Wholesale, Wal-Mart Stores , Moody’s Corporation, Sanofi S.A.

ในPart III จะกล่าวถึงการประเมินราคาหุ้นในอนาคตตามสไตล์ของBuffett ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่กำหนด อัตราผลตอบแทนของหุ้นว่า น่าสนใจลงทุนหรือไม่ [คลิกเพื่ออ่านPart III]

Posted in:
Twitter