การลงทุนหุ้น และเศรษฐกิจ อัพเดทรายสัปดาห์

09 ธันวาคม 2554

วิกฤตหนี้ในยุโรปเกิดขึ้นได้อย่างไร?


บทความนี้ที่ถูกโพสครั้งแรกเมื่อ 17/09/2011 

ในขณะที่ผู้นำยุโรปกำลังประชุมเพื่อหาทางออกวิกฤตครั้งนี้อยู่นั้น คุณเคยสงสัยมั้ยว่า ทำไมประเทศมหาอำนาจที่มีเศรษฐกิจ และอารยะธรรมที่รุ่งเรืองทีสุดเมื่อ3000ปีก่อน อย่างกรีซ ถึงได้ตกต่ำ และเป็นจุดศูนย์กลางของปัญหาหนี้รัฐบาลเรื้อรังได้ในวันนี้ ในบทความนี้ ผู้เขียนจะเสนอเรื่องย่อเกี่ยวกับที่มาที่ไป ของปัญหาหนี้อันมหาศาลของรัฐบาลยุโรปและกรีซกันครับ

ONE EUROPE

หลังจากสงครามโลกครั้งที่สองไม่นานนัก กลุ่มการค้าเหล็กและถ่านหินของยุโรปได้เริ่มก่อตัวขึ้น โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะรวมประเทศในทวีปยุโรปให้เป็นหนึ่งเดียวกัน ทั้งทางด้านเศรษฐกิจและด้านการเมือง เพราะกลุ่มคนเหล่านี้ไม่อยากเห็นสงครามโลกเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าอีก (สงครามโลกทั้งสองครั้งประทุขึ้นจากในทวีปยุโรป) ประเทศที่เป็นผู้ก่อตั้งประชาคมนี้ได้แก่ เบลเยี่ยม ฝรั่งเศส เยอรมันนี อิตาลี ลักเซมเบอร์ก และ เนเธอร์แลนด์

เมื่อเวลาผ่านไป กลุ่มประเทศสมาชิกเริ่มขยาย เป้าหมายเรื่องการป้องกันไม่ให้เกิดสงครามโลกค่อยๆหมดความสำคัญ ผู้นำในกลุ่มประเทศสมาชิกเริ่มเพ่งความสนใจไปที่การเจริญเติบโตของเศรษฐกิจ ด้วยความคิดที่ว่าการค้าขายจะง่ายขึ้น และเศรษฐกิจจะเติบโตได้มากขึ้นถ้า ถ้ากลุ่มประเทศในทวีปยุโรปรวมกันเป็นหนึ่งเดียว หรือ ONE EUROPE

ในปี1981 กรีซกลายเป็นสมาชิกอันดับที่10ของEU สิบสองปีต่อมา EUกลายเป็นกลุ่มประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจที่ผูกพันกันมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เพราะ ตอนนี้กลุ่มประเทศEUสามารถ 1.)ค้าขายสินค้า และบริการกันได้อย่างอิสระ 2.)เคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศกันได้อย่างอิสระ และ 3.)มีแรงงานที่สามารถไปทำงานในประเทศต่างๆทั่วEUได้อย่างอิสระ

ท้ายที่สุดในปี2002 กลุ่มประเทศสมาชิกส่วนใหญ่ก็ได้ให้มาใช้ค่าเงินยูโร

GREECE

เมื่อรวมกันเป็นระบบตลาดเดียว และใช้ค่าเงินเดียวกัน การค้าขายและการลงทุนระหว่างประเทศจึงเป็นเรื่องที่สะดวกมาก ในช่วงรวมตัวกันเสร็จใหม่ๆ ประเทศต่างๆทั่วEUมีอัตราการเติบโตของGDPที่ดีมาก ประเทศที่เคยถูกมองว่าจน รวมถึงกรีซ เริ่มมีมาตรฐานชีวิตที่ดีขึ้น ตัวเลขรายได้ต่อประชากรเริ่มปรับตัวเข้าหาประเทศที่ร่ำรวย ผู้นำยุโรปและชาวยุโรปเองต่างก็ปลาบปลื้ม และคิดว่านี้คือความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของทวีป ด้วยความสำเร็จครั้งนี้ ผู้นำกลุ่มสมาชิกจึงอยากขยายเขตแดนEUให้รวมประเทศใหม่ๆเข้ามามากขึ้นเรื่อยๆ

การมองลึกลงไปในรายละเอียดจะพอทำให้เราเห็นได้ว่า การเติบโตของประเทศอย่างกรีซ เนื่องจากการก่อตั้งEuropean Economic Community นั้นจะยั่งยืนหรือไม่

เมื่อยุโรปเริ่มรวมตัวกันได้เข้าที่เข้าทาง ประเทศที่ร่ำรวยกว่าโดยเฉพาะเยอรมัน และฝรั่งเศสเริ่มใช้ประโยชน์จากเขตแดนEU โดยหันมาลงทุนในประเทศอย่างกรีซ เพราะถูกดึงดูดด้วยค่าแรงและต้นทุนที่ค่อนข้างต่ำ เงินทุนจากต่างประเทศที่หลั่งไหลเข้ามาในกรีซในรูปของForeign Direct Investmentนั้น ทำให้เศรษฐกิจของกรีซมีอัตราการเติบโตที่ดีมากในช่วงเริ่มตั้น เมื่อเศรษฐกิจโตดี การกู้ยืมเงินก็ทำได้ง่ายขึ้น ทั้งภาครัฐและเอกชนต่างก็กู้ยืมกันอย่างมหาศาล ซึ่งได้เห็นจากการขาดดุลทางการค้า และการขาดดุลทางงบประมาณของภาครัฐที่เกิดขึ้นนานติดต่อกันนานหลายปี

นอกจากเศรษฐกิจที่ดูเหมือนจะแข็งแกร่งของกรีซ นานาประเทศก็ต่างให้กรีซกู้ยืมเพราะ 1.)ประเทศในกลุ่มยูโรโซนด้วยกันสามารถปล่อยกู้ และลงทุนในกรีซได้โดยปราศจากความเสี่ยงทางอัตราแลกเปลี่ยน 2.)ประเทศต่างๆทั่วโลกต่างก็รู้ว่าประเทศในกลุ่มสมาชิกEU "ไม่มีวันล้ม" เพราะถ้ามีใครจ่ายเงินคืนไม่ไหวขึ้นมา องกรค์ส่วนกลางของEUต้องเข้ามาอุ้มแน่นอน เพราะฉะนั้นการปล่อยกู้ครั้งนี้"ไม่มีความเสี่ยงเลยแม้แต่น้อย"

เราจึงสรุปวงจรของประเทศในยุโรปที่มีหนี้ท่วมหัวได้ดังนี้ครับ
1.) การเข้าร่วมเป็นสมาชิกของEU ทำให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่าย มีต่างชาติสนใจมาลงทุนเป็นจำนวนมาก เนื่องจากเป็นประเทศทีมีค่าแรงต่ำ ต้นทุนถูก
2.) การเข้ามาลงทุนของต่างชาติ(FDI) และการจ้างงานที่เพิ่มขึ้น ทำให้เศรษฐกิจโตวันโตคืน
3.) เศรษฐกิจที่โตดี ประกอบกับการรับประกันรออุ้มโดยปริยายขององกรค์ในEUทำให้นานาประเทศให้กู้ยืมเงินกับประเทศอย่างกรีซอย่างไม่เกรงกลัว
4.)เงินที่หลั่งไหลเข้ามาทั้งในรูปของFDIและการปล่อยกู้ มีผลข้างเคียงทำให้มูลค่าสินทรัพย์ในประเทศอย่างกรีซปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งรวมไปถึง ราคาหุ้น ราคาอสังหาริมทรัพย์
5.) การเพิ่มขึ้นของราคาสินทรัพย์ต่างๆ ยิ่งเป็นตัวดึงดูดเม็ดเงินให้เข้ามาลงทุนและปล่อยกู้ให้กรีซ
6.) กลับไปเริ่มต้นที่ข้อสอง

แล้ววงจรนี้จะจบลงได้อย่างไร?

จุดจบ

วิกฤตทางการเงินที่เกิดขึ้นในอเมริกาเมื่อปี2008 คือจุดเริ่มต้นของจุดจบของประเทศกลุ่มPIIGS

เมื่อวิกฤตทางการเงินได้กลายเป็นวิกฤตทางเศรษฐกิจที่ลุกลามไปทั่วโลก สิ่งที่เกิดขึ้นกับรัฐบาลในประเทศที่ได้รับผลกระทบก็คือ รายได้ภาษีน้อยลง(เพราะเศรษฐกิจซบเซา) และรายจ่ายเพิ่มขึ้น(เพราะรายจ่ายสำหรับการช่วยเหลือคนว่างงาน และรายจ่ายเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ) และรัฐบาลกรีซก็ไม่ได้รับข้อยกเว้น

สิ่งที่เกิดขึ้นคือ รัฐบาลกรีซที่ก่อหนี้เยอะอยู่แล้วในแต่ละปี ยิ่งต้องก่อหนี้เยอะขึ้นไปอีก เพราะรายได้ลด แต่รายจ่ายเพิ่ม ซึ่งหมายความว่าวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นล่าสุด เปลี่ยนดีกรีปัญหาหนี้ของกรีซ จากแย่มากให้กลายเป็น ย่ำแย่ที่สุด

หลังจากวิกฤตในอเมริกาเริ่มซาลง นักลงทุนต่างชาติเริ่มทบทวนและพิจารณาเกี่ยวกับเงินที่พวกเขาลงทุนไปในกรีซ และเห็นว่าเงินที่ถูกทุ่มลงไปในกรีซในเวลาหลายปีที่ผ่านมาในเป็นแรงดันให้ ราคาสินทรัพย์ และค่าแรงในกรีซนั้นปรับตัวขึ้นจนใกล้เคียงกับประเทศยุโรปที่ร่ำรวยมากกว่าแต่ก่อน และค่าแรงนั้นปรับตัวสูงขึ้นเร็วมาก ในขณะที่ทักษะหรือproductivityของแรงงานแทบไม่ดีขึ้นเลย การลงทุนเพิ่มในรูปของFDIในประเทศอย่างกรีซจึงไม่ค่อยคุ้มค่าเงินเท่าไรนัก ต่างชาติจึงทยอยกันหยุดลงทุนในรูปของFDI บางรายที่ไม่กำไรถึงกับถอนตัวออกจากประเทศไปเลยก็มี สิ่งนี้ทำให้อัตราการเจริญเติบโตของGDPนั้นเริ่มชลอตัวลง

ผลคือ ความจริงก็ถูกเปิดเผยว่า ถ้ากรีซขาดเงินลงทุนจากต่างชาติเมื่อไรเศรษฐกิจก็หยุดโตเมื่อนั้น (Greek Real GDP Growth 2010: -4.54%) เมื่อGDPหดตัว เจ้าหนี้กรีซก็เริ่มกังวลเกี่ยวกับความสามารถในการจ่ายหนี้ของกรีซ พากันเทขายหุ้นกู้รัฐบาลกรีซจนดอกเบี้ยพุ่งสูงเป็นประวัตการณ์ แล้วกรีซก็จ่ายหนี้ไม่ไหวจริงๆ จนEuropean Central Bankต้องเข้ามาอุ้มโดยการรับซื้อหุ้นกู้ของรัฐบาลกรีซเป็นจำนวนมหาศาล

สุดท้ายนี้ผู้เขียนอยากจะฝากไว้ว่า ด้วยหนี้ที่กำลังจะพุ่งทะลุ150%ของGDP และเศรษฐกิจที่กำลังจะหดตัวเกิน5%ในปีนี้ ปัญหาของกรีซนั้นหนักหนาสาหัสมาก เพราะฉะนั้น กรีซนั้นไม่มีทางรอด หนี้รัฐบาลจะไม่ถูกจ่ายคืนเต็มจำนวนอย่างแน่นอน และเมื่อไรที่กรีซล้ม ผลเสียที่ตามมาจะกระจายไปทั่วยุโรป ประเด็นสำคัญคือ กรีซล้มแน่นอน แต่จะล้มเมื่อไร รุนแรงแค่ไหน กระทบประเทศใดบ้างนั้น เราไม่สามารถบอกได้

บทความที่คล้ายกัน
ข้อดีและข้อเสียของ European Union: ผลกระทบต่อกรีซ
บทสัมภาษณ์กับอาจารย์ Steven Rosefielde
ปัญหาของกรีซ: ขาดสภาพคล่องชั่วคราว หรือ ขาดความสามารถในการจ่ายหนี้?

Posted in:
Twitter