การลงทุนหุ้น และเศรษฐกิจ อัพเดทรายสัปดาห์

27 ตุลาคม 2554

ลงทุนแบบWarren Buffett: Part II กฏ4ข้อในการลงทุน


ในปี1978 บัฟเฟตต์เคยกล่าวในจดหมายถึงผู้ถือหุ้นว่า เขาจะลงทุนในบริษัทใดบริษัทหนึ่งก็ต่อเมื่อ เขาเจอบริษัทที่มีสี่คุณลักษณะดังต่อไปนี้

1.) ธุรกิจที่เขาสามารถเข้าใจได้
บัฟเฟตต์เคยกล่าวไว้ในหลายๆที่ว่า นักลงทุนควรลงทุนในธุรกิจที่ตนมีความรู้ ความเข้าใจดีเท่านั้น หรือ ลงทุนเฉพาะในธุรกิจที่อยู่ใน circle of competence ของตน

circle of competence ถ้าแปลตรงตัว หมายความว่า "วงกลมแห่งความสามารถ" ทุกคนมีวงกลมประเภทนี้ที่มีลักษณะแตกต่างกันไป นักลงทุนที่ประกอบอาชีพเป็นวิศกรไฟฟ้าก็อาจจะพบว่า ในวงกลมของตนมีธุรกิจต่างๆที่เกี่ยวข้องอิเล็คโทรนิคส์ ส่วนผู้ที่ประกอบอาชีพแพทย์ก็อาจจะพบว่าในวงกลมแห่งความรู้การลงทุนนี้ มีทั้งธุรกิจโรงพยาบาล และธุรกิจอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับการผลิตยาเป็นต้น นอกจากนี้ พื้นที่ในวงกลมของแต่ละคนอาจมีขนาดเล็กใหญ่แตกต่างกัน บางคนอาจจะค้นคว้ามาเยอะจนวงกลมนั้นขยายกว้างใหญ่ จนคลอบคลุมพื้นที่ธุรกิจต่างๆเป็นวงกว้าง บางคนอาจจะมีวงกลมที่มีขนาดเล็กหน่อย รู้เฉพาะสิ่งที่ตนเองมีประสบการณ์ตรง

บัฟเฟตต์บอกว่า นักลงทุนไม่จำเป็นจะต้องมีพื้นที่ในวงกลมนี้ที่กว้างใหญ่ไพศาล แค่รู้ว่าว่าพื้นที่ความรู้ ความสามารถของเรานี้มันสิ้นสุดตรงไหน แล้วอย่าออกนอกพื้นที่ดังกล่าวก็เพียงพอแล้ว

โดยส่วนตัวแล้ว บัฟเฟตต์บอกว่าจะเน้นลงทุนในธุรกิจที่เข้าใจง่าย  เขาเคยกล่าวในจดหมายถึงผู้ถือหุ้นว่า หนทางสู่ความสำเร็จในการลงทุนนั้นมีหลายทาง บางคนอาจจะเลือกที่จะกระโดดข้ามรั้วที่สูงหลายๆฟุตเพื่อจะไปถึงจุดหมายปลายทาง แต่เขาเลือกเฉพาะรั้วเตี้ยๆ ที่ยกขาเดินข้ามนิดเดียวก็พ้นแล้ว ผลก็คือ หุ้นที่บัฟเฟตต์ที่อยู่จำนวนมากเป็น บริษัทของกินของใช้ที่มีชื่อเสียง มีกลุ่มลูกค้าที่ติดยี่ห้ออย่างเหนียวแน่นอยู่แล้ว เช่น บริษัทเครื่องดื่มCoca Cola บริษัทMcDonald's บริษัทรองเท้าและเสื้อผ้าNike บริษัทซุปกระป๋องCampbell Soup และบริษัทช็อกโกแล็ตHershey's

สรุปคือ ควรลงทุนในเฉพาะบริษัทที่เรามีความเข้าใจตัวธุรกิจอย่างถ่องแท้เท่านั้น รู้ว่าอะไรเป็นปัจจัยที่กระทบรายได้และต้นทุน ในอดีตผลประกอบการเป็นอย่างไรบ้าง ทำไมบางปีถึงดีมากกว่าปกติ หรือ แย่มากกว่าปกติ บริษัทมีศักยภาพในการเติบโตของยอดขายมากเพียงใด มีความเสี่ยงที่จะถูกแย่งตลาดอันเนื่องมาจากการแข่งขันที่เพิ่มขึ้นมากน้อยเพียงใด ฯลฯ (บัฟเฟตต์เป็นนักลงทุนที่เน้นการศึกษาข้อมูลในอดีตมาก โดยจะดูงบย้อนหลังเป็นสิบปี และศึกษาข้อมูลต่างๆของบริษัทผ่านทางการอ่านเป็นหลัก)

2.) มีอนาคตในระยะยาวที่น่าพอใจ
วอร์เรน บัฟเฟตต์ สนใจอนาคตในระยะยาว เพราะเขาเป็นคนถือหุ้นยาวมาก ถือยาวเป็นเวลา5-10ปีนั้นเป็นเรื่องปกติ บางตัวถือยาวกว่าสิบปีก็มี

แล้วเราจะรู้ถึงอนาคตของธุรกิจได้อย่างไร? บัฟเฟตต์บอกว่า เขาจะเลือกลงทุนเฉพาะในธุรกิจที่ได้พิสูจน์ตัวเองผ่านทางผลประกอบการในอดีตแล้วว่า ไม่ว่าสภาพเศรษฐกิจจะเป็นเช่นไร บริษัทก็ยังเติบโตต่อไปได้อย่างมั่นคง เพราะ1.)บริษัทมีการจัดการที่ดี2.)มีสินค้าที่มีกลุ่มลูกค้าติดยี่ห้ออย่างเหนียวแน่น ถ้าพูดให้สั้น คือ เขาจะเลือกลงทุนในบริษัทที่มี durable competitive advantage (ความได้เปรียบในการแข่งขันที่คงทน) เท่านั้น

เมื่อเห็นว่าในอดีตบริษัทมีผลงานดี ประกอบกับการวิเคราะห์ข้อมูลที่มีอยู๋ในปัจจุบันแล้วว่า ผลประกอบการที่ดีก็น่าจะเกิดขึ้นอีกในอนาคต บัฟเฟตต์ก็จะนั่งตั้งหน้าตั้งตารอซื้อหุ้นของบริษัทดังกล่าวตอนที่ราคามันลงมาจนถูกเกินไปจริงๆ

ต่อไปนี้ คือตัวอย่างลักษณะของบริษัทที่บัฟเฟตต์มองหา และเชื่อว่ามีdurable competitive advantage
1.) ไม่ขาดทุนเลยตลอดระยะเวลา10ปีที่ผ่านมา แต่ถ้าจะขาดทุนก็ควรจะเป็นปีล่าสุดที่ขาดทุน และเกิดจากปัจจัยชั่วคราว ซึ่งจะทำให้ราคาหุ้นดิ่งลงมาจนต่ำมากเป็นโอกาสให้เราซื้อของถูกๆเก็บไว้
2.) กำไรต่อหุ้นมีการเติบโตตลอดระยะเวลาสิบปีที่ผ่านมา ถ้ากำไรต่อหุ้นลดลง ก็ห้ามลดลงรวมกันเกิน45%ในช่วงเวลาดังกล่าว

3.) ถูกบริหารโดยบุคลากรที่มีความซื่อสัตย์และมีความสามารถ
บริษัทจะเติบโตอย่างมีประสิทธิภาพได้การจัดการต้องดีเยี่ยม บัฟเฟตต์ให้ความสำคัญกับผู้บริหารมาก เมื่อถึงเวลาประชุมผู้ถือหุ้น บัฟเฟตต์มักจะเอ่ยปากชื่นชมผู้บริหารบางคนในเครือBerkshire Hathawayว่าเก่งกาจเพียงใด เขาเคยถึงกับพูดว่าถ้าบริษัทที่เขากำลังกล่าวถึงอยู่นั้น ไม่ได้มีผู้บริหารคนนี้เป็นผู้นำอยู่ เขาคงไม่ซื้อบริษัทดังกล่าว

นอกจากมีความสามารถแล้ว ผู้นำในองกรค์จะต้องมีความซื่อสัตย์ด้วย ถ้าบริษัทนั้นผ่านเกณฑ์ทุกอย่างที่บัฟเฟตต์มองหา แต่ผู้บริหารขาดจริยธรรม บัฟเฟตต์จะไม่ลงทุนซื้อบริษัทนั้นเด็ดขาด

4.) ราคาน่าสนใจ
ถ้ารวมแนวการลงทุนของวอร์เรน บัฟเฟตต์มาเป็นประโยคสั้นๆหนึ่งประโยค เราจะพบว่าเขาเลือกที่จะ "ซื้อบริษัทดีๆ ในช่วงเวลาแย่ๆ" เพราะจะทำให้เขาได้ของดี ในราคาถูกๆนั้นเอง

หุ้นจำนวนมากที่บัฟเฟตต์ซื้อนั้นมีราคาถูกเมื่อเทียบกับพื้นฐานบริษัท เพราะเขามักจะซื้อหุ้น ตอนที่ราคาหุ้นของบริษัทนั้นลดลงมาเยอะมากๆ ซึ่งเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยลบที่ส่งผลต่อบริษัทนั้นบริษัทเดียว ปัจจัยที่ส่งผลถึงทั้งภาคอุตสาหกรรม หรือแม้กระทั้งวิกฤตที่ร้ายแรงจนทำให้ทั้งระบบเศรษฐกิจได้รับผลกระทบ สิ่งที่ค่อนข้างยากก็คือ เราต้องสืบเสาะจนรู้ว่า"ช่วงเวลาแย่ๆ"นี้ส่งผลกับบริษัทนี้ จะเกิดขึ้นชั่วคราวเท่านั้น และเป็นโอกาสให้เราเก็บของถูกที่จะทำเงินให้กับเราในระยะยาว ไม่ใช่ปัญหาที่รุนแรงจนทำให้บริษัทไม่อาจฟื้นตัวขึ้นได้ แม้เวลาจะผ่านไปเป็นปีๆแล้วก็ตาม

กฎทั้งสี่ข้อที่กล่าวมานั้นเรียบๆและเข้าใจได้ง่าย แต่ล้วนมีความสำคัญทั้งสิ้น ถ้าคุณคือคนหนึ่งที่อยากเดินตามรอยนักลงทุนผู้ยิ่งใหญ่ผู้นี้ ลงทุนเฉพาะในบริษัทที่ผ่านกฎเหล็กสี่ข้อนี้เท่านั้น



“We get excited enough to commit a big percentage of insurance company net worth to equities only when we find (1) businesses we can understand, (2) with favorable long-term prospects, (3) operated by honest and competent people, and (4) priced very attractively. We usually can identify a small number of potential investments meeting requirements (1), (2), and (3), but (4) often prevents action.” - Warren Buffett

(อ่านต่อที่ ลงทุนแบบWarren Buffett: Part III ธุรกิจที่มีอนาคตดี หรือกลับไปอ่าน ลงทุนแบบWarren Buffett: Part I บทนำ)

Posted in:
Twitter