การลงทุนหุ้น และเศรษฐกิจ อัพเดทรายสัปดาห์

11 มกราคม 2555

Asset Allocation Wizard: จัดสรรปันส่วนสินทรัพย์ง่ายๆด้วยตนเอง

ความเดิมจากตอนที่แล้ว...

ในการจัดพอร์ทการลงทุนนั้น นักลงทุนควรคำนึงถึงปัจจัยดังต่อไปนี้


1.) จุดประสงค์ของการลงทุน [INVESTMENT GOAL]
2.) ช่วงเวลาในการลงทุน [TIME HORIZON]
3.) ความทนต่อความเสี่ยง [RISK TOLERANCE]



หลังจากนั้นผมได้เสนอสาธิตวิธีการจัดพอร์ทโดยใช้โปรแกรมซึ่งจัดทำโดยบรรณาธิการของ Money Magazine และได้นำเสนอคำถามต่างๆที่ท่านผู้อาจเกิดความสงสัยขึ้นในใจ ในบทความนี้ผมจะมาตอบคำถามเหล่านั้นครับ

1.) จะหาโปรแกรมนี้ได้จากไหน?

โปรแกรมนี้ชื่อ Asset Allocation Wizard ซึ่งสามารถเข้าถึงได้ผ่านลิงค์นี้ครับ http://cgi.money.cnn.com/tools/assetallocwizard/assetallocwizard.html

ภาพตัวอย่างของ Asset Allocation Wizard
2.) หลังจากใส่ข้อมูลเรียบร้อยแล้ว ฉันต้องซื้อหุ้นตามสัดส่วนที่โปรแกรมนี้แนะนำทันทีเลยหรือเปล่า?

ไม่จำเป็นครับ ผมแนะนำให้อ่านบทความ วิธีรับมือตลาดอันแปรปรวน ก่อน แล้วค่อยๆปรับพอร์ทของเราตามขั้นตอนที่แนะนำไปในบทความดังกล่าวครับ

(ผมขอข้ามข้อสามไปก่อนนะครับ)

4.) โปรแกรมนี้แนะนำให้ซื้อหุ้นต่างประเทศด้วย แล้วนักลงทุนรายย่อยในไทยจะซื้อหุ้นต่างประเทศได้อย่างไร

การซื้อหุ้นต่างประเทศโดยตรงอาจจะทำได้ยาก เพราะต้นทุนจะสูงมากสำหรับนักลงทุนที่ยังมีเงินลงทุนไม่มากนัก

กองทุนรวมต่างๆจึงเป็นทางออกที่ดีทางหนึ่งครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กองทุนที่ลงทุนในยุโรปและจีน เพราะราคาหุ้นในยุโรปตอนนี้ถูกพอสมควร เนื่องจากมีวิกฤตหนี้เป็นปัจจัยลบกดตลาดอยู่  (ตอนที่ตลาดยุโรปลงแรงๆในเดือนพฤศจิกายน Warren Buffettยังเข้าไปช้อนหุ้นเก็บไว้เลยครับ อ่านได้ที่ We're Buying an Attractive European Stock Today ส่วนตลาดจีนนั้น ราคาหุ้นก็ไม่แพง แถมยังเป็นประเทศที่มีอนาคตไกลอีกด้วย

นี้เป็นเวลาที่เหมาะมากครับ ที่นักลงทุนทั้งหลายจะเริ่มศึกษาเกี่ยวกับกองทุนรวมต่างๆที่ลงทุนในยุโรป และจีน


แล้วข้อสามละ?

ข้อสามผมเขียนคำถามทิ้งเอาไว้ว่า "ถ้าฉันซื้อหุ้นตามนี้แล้ว ต่อมาหุ้นมันขึ้น/ลง ฉันควรทำอย่างไรต่อ?"

ที่เก็บเอาไว้ตอบข้อสุดท้าย เพราะคำตอบของข้อนี้สำคัญกว่าข้ออื่นๆครับ

คำตอบก็คือ คุณควรจะ Rebalance (อ่านว่า รีบาลานซ์) พอร์ทของคุณอยู่เป็นระยะๆนั้นเองครับ ซึ่งหมายถึงการปรับสัดส่วนสินทรัพย์ที่อยู่ในพอร์ทให้ตรงกับสัดส่วนที่เรากำหนดไว้ตอนแรก

ตัวอย่างเช่น ถ้าราคาของหุ้น/กองทุนหุ้นในพอร์ทคุณหลายๆตัวปรับตัวลงมากจนทำให้สัดส่วนของหุ้นที่อยู่ในพอร์ทตกจาก50%มาอยู่ที่20%ของสินทรัพย์ทั้งหมดในพอร์ท คุณก็ควรทยอยขายหุ้นกู้(หรือถอนเงินจากธนาคาร)มาทยอยซื้อหุ้น/กองทุนหุ้นเพิ่มเพื่อปรับให้สัดส่วนของการถือหุ้นใกล้เคียง50%ดังเดิม ในทางตรงกันข้าม ถ้าราคาหุ้นมันปรับตัวสูงขึ้นจนสัดส่วนของหุ้นในพอร์ทเพิ่มขึ้นเป็น80% คุณก็ควรทยอยขายหุ้น และนำเงินที่ได้ไปฝากธนาคาร เพื่อปรับสัดส่วนของหุ้นลงจนใกล้เคียง50%เหมือนเดิม

การRebalanceเช่นนี้ มีข้อดีอยู่สามอย่างคือ
1.) เป็นกฎที่เราเข้าใจและนำไปใช้ได้ไม่ยาก
2.) เป็นการปรับให้พอร์ทเหมาะกับเป้าหมายและตัวเราเองอยู่เสมอ
3.) ทำให้เราทยอยซื้อเวลาหุ้นตก และทยอยขายเวลาหุ้นขึ้นโดยอัตโนมัติ


ควรจะRebalanceบ่อยแค่ไหน?
เราควรปรับพอร์ทเดือนละครั้ง? ปีละครั้ง? หรือบ่อยแค่ไหนกันแน่?

แทนที่จะกำหนดว่าจะปรับพอร์ทบ่อยแค่ไหน เราควรจะกำหนดว่าจะปรับพอร์ทตอนไหนมากกว่าครับ เช่น จากสัดส่วนของหุ้นที่กำหนดไว้ว่าเท่ากับ50%ของพอร์ทในตอนแรก เราจะทยอยขายหุ้นเมื่อสัดส่วนของหุ้นในพอร์ทมากกว่า75% และจะทยอยซื้อเพิ่มเมื่อสัดส่วนดังกล่าวน้อยกว่า25%เป็นต้น (Graham 1973)

สิ่งนี้จะช่วยให้นักลงทุนได้ซื้อของถูกขายแพง โดยไม่จำกัดจำนวนครั้งในการซื้อขาย ซึ่งจะช่วยให้เราไม่พลาดโอกาสดีๆนั้นเอง

-------------------------------------------

จบไปแล้วครับสำหรับการลงทุนแบบจัดสรรปันส่วนสินทรัพย์ ผมหวังว่าวิธีนี้จะเป็นประโยชนกับผู้อ่านได้บ้างนะครับ

อย่างไรก็ตาม นี้ไม่ใช่แบบการลงทุนที่ทุกคนจะต้องปฏิบัติตามแต่อย่างใด เพียงแต่เป็นหนึ่งในหลายๆวิธีที่จะช่วยทำให้นักลงทุนรอดพ้นจากการซื้อแพง-ขายถูกไปได้ สำหรับผู้ที่ติดตามข่าวสาร และมีเวลาศึกษาเกี่ยวกับการลงทุนมากพอ การตัดสินใจซื้อ-ขายควรขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ระหว่าง"มูลค่าบริษัท"กับ"ราคาหุ้น"ของบริษัท และตัวบ่งชี้สำคัญๆ เช่น P/Eของตลาดหุ้น มากกว่าสัดส่วนของหุ้นที่ถืออยู่ในพอร์ทครับ 

แต่สำหรับท่านที่ยังไม่มีเวลาศึกษามากนัก การRebalanceก็จะช่วยคุณได้มาก และเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีทีเดียวครับ

Posted in:
Twitter