การลงทุนหุ้น และเศรษฐกิจ อัพเดทรายสัปดาห์

19 พฤศจิกายน 2554

อนาคตอันไม่ไกลนัก: Recession in Europe



"วิกฤตครั้งนี้จะลุกลามหรือไม่?" คือ คำถามที่ผมทิ้งท้ายไปในบทความที่แล้ว

ส่วนคำตอบนั้นผมขอทยอยแบ่งคำเฉลยเป็นสามบทความนะครับ

ต่อไปนี้คือความคิดเห็นของผู้เขียน เกี่ยวกับอนาคตอันไม่ไกลนักของยูโรโซนครับ


ความคิดเห็นที่ 1: ภาวะเศรษฐกิจถดถอยในยูโรโซนจะต้องเกิดขึ้น
ความหมายอย่างเป็นทางการของภาวะเศรษฐกิจถดถอย(recession)นั้น คือการที่มีผลิตภัณฑ์มวลรวม(GDP)หดตัวสองไตรมาสติดต่อกัน
ผู้เขียนไม่สามารถทายได้แม่นยำถึงขนาดที่ว่าวิกฤตที่ว่านั้นจะเริ่มที่ไตรมาสไหน แต่ก็พอเดาอย่างมีเหตุมีผลได้ว่า ในปีหน้า เศรษฐกิจของยูโรโซนจะต้องแย่กว่าปีนี้

เพราะอะไร?

ในช่วง4-5ปีที่ผ่านมา ยุโรปเป็นภาคพื้นทวีปที่มีอัตราการเติบโตต่ำอยู่แต่เดิมอยู่แล้ว ตัวอย่างเช่นในปี2010 ปีที่ทั่วโลกฟื้นตัวจากวิกฤตจากอเมริกาได้เต็มที่ อัตราการเติบโตของGDP(เมื่อถูกปรับด้วยอัตราเงินเฟ้อ)ของยูโรโซนนั้นมีค่าเพียง1.8% ถึงแม้ว่ารัฐบาลในหลายๆประเทศในขณะนั้นได้พากันระดมเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของตน เศรษฐกิจของยุโรปนั้นอ่อนแออันเนื่องมาจากสองสาเหตุด้วยกัน คือ
1.)หลายๆประเทศในยูโรโซนนั้น ไม่มีความสามารถทางการแข่งขันในการผลิตและขายสินค้าในตลาดโลก ลองถามตัวเองดูสิว่า ทุกวันนี้คุณซื้ออะไรที่ Made in Greece, Ireland, Portugal หรือSpainบ้าง
2.)ประเทศในยูโรโซนส่วนใหญ่นั้นมีปัญหาทางโครงสร้างมานานแล้ว ตัวอย่างเช่น อัตราภาษีเงินได้ที่สูงมากเมื่อเปรียบเทียบกับทวีปอื่น และนโยบายต่างๆของรัฐที่ไม่เอื้อต่อการทำธุรกิจ

ตอนนี้ยุโรปก็อ่อนแอเหมือนเดิม แต่สถานการณ์มันน่ากลัวขึ้นเพราะ แทนที่จะรัฐบาลจะเข้ามาช่วยอุ้มเศรษฐกิจ รัฐกลับเป็นตัวกระทืบซ้ำให้มีความเสี่ยงที่จะเกิดวิกฤตมากขึ้น เพราะมาตรการรัดเข็มขัดทั้งหลายที่ประเทศกลุ่มPIIGSงัดออกมา(หรือกำลังจะงัดออกมา)ใช้นั้นเอง (PIIGS = Portugal, Ireland, Italy, Greece และ Spain)

มาตรการรัดเข็มขัด คือ ความพยายามของรัฐในการเพิ่มรายได้ และลดรายจ่าย เพื่อจะได้มีเงินเหลือเยอะๆไปจ่ายหนี้คืนได้

ในกรณีส่วนใหญ่แล้ว การหาทางเพิ่มรายได้ = เพิ่มภาษี แต่การลดรายจ่ายนั้นทำได้หลากหลายวิธี เช่น ลดเงินเดือนข้าราชการ ลดเงินช่วยเหลือคนว่างงาน/คนป่วย/คนแก่/คนจน ลดเงินสนับสนุนแก่ภาคเอกชน

สิ่งเหล่านี้มันส่งผลลบกับเศรษฐกิจ เพราะการเพิ่มภาษีไปพร้อมๆกับการลดรายจ่าย ก็เหมือนกับการที่รัฐบาลดึงเงินออกจากระบบเศรษฐกิจนั้นเอง (ดึงเงินจากประชาชนเพื่อไปจ่ายเจ้าหนี้)

เมื่อเม็ดเงินที่รัฐบาลเคยใช้จ่ายและรายได้ส่วนหนึ่งของประชาชนในระบบเศรษฐกิจนั้นหายไป การจับจ่ายใช้สอยของคนในประเทศก็น้อยลง GDPก็ต้องลดลงตาม

ผู้อ่านอาจสงสัยว่า "แล้วมันจะส่งผลกับเราคนไทยยังไง? ในเมื่อรัฐบาลที่รัดเข็มขัดจริงจังก็มีแค่พวกกลุ่มประเทศPIIGSไม่ใช่เหรอ?"

จริงอยู่ว่ารัดเข็มขัดกันอยู่ไม่กี่ประเทศ แล้วก็จริงด้วยครับที่ว่าการส่งออกของไทยไปโปรตุเกส ไอร์แลนด์ กรีซ และสเปน นั้นคิดเป็น2%ของมูลค่าส่งออกของประเทศไทย แต่ความจริงก็คือถ้าPIIGSเจ็บ ยุโรปก็เจ็บ และสุดท้ายเราก็จะเจ็บเหมือนกัน เพราะว่าเศรษฐกิจของประเทศในEUนั้นเชื่อมโยงกันอย่างเหนียวแน่น เหนียวแน่นขนาดไหน ไปดู

1.) 50% ของมูลค่าการส่งออกของโปรตุเกสคือ สินค้าที่ส่งไปยังสเปน เยอรมัน และฝรั่งเศส
2.) 50% ของมูลค่าการส่งออกของสเปนคือ สินค้าที่ส่งไปยังฝรั่งเศส เยอรมัน โปรตุเกส และอิตาลี
3.) 1ใน3 ของมูลค่าการส่งออกของอิตาลีคือ สินค้าที่ขายให้กับเยอรมัน ฝรั่งเศส และสเปน
4.) 1ใน3 ของมูลค่าการส่งออกของฝรั่งเศสคือ สินค้าที่ขายให้กับเยอรมัน อิตาลี และสเปน
5.) 1ใน3 ของมูลค่าการส่งออกของเยอรมันคือ สินค้าที่ขายให้กับยูโรโซน

จากข้อมูลนี้ ผู้อ่านคงเห็นแล้วว่าถ้าประเทศในยุโรปเริ่มมีอาการแย่เพียงไม่กี่ประเทศ มันจะส่งผลต่อยุโรปได้ทั้งทวีปได้อย่างไร

สรุปคือ เนื่องจากรัฐบาลหลายๆประเทศในยุโรปรวมถึงประเทศใหญ่ๆอย่างอิตาลีและสเปน เริ่มมีมาตรการรัดเข็มขัด SETTALKเชื่อว่า มีโอกาสมากกว่า90%ที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในยุโรปในปีหน้า และถ้าวิกฤตนั้นรุนแรงพอ มันจะส่งผลไปถึงอเมริกาและจีนด้วย เพราะEuropean Unionคือคู่ค้าที่ใหญ่ที่สุดของทั้งสองประเทศ เพราะฉะนั้นเมื่อไรที่ยุโรปจาม จีนและอเมริกาจะต้องติดหวัด แล้วถ้าสามมหาอำนาจนี้ไม่สบายพร้อมกันเมื่อไร ต้องเป็นไข้กันทั่วโลกแน่นอน และประเทศไทยก็ไม่ได้รับข้อยกเว้น

ถ้าให้พูดสั้นๆก็คือ การรัดเข็มขัดของรัฐบาลนั้น จะส่งผลให้เกิด วิกฤตเศรษฐกิจ (ตามที่กล่าวไปทั้งหมดในบทความนี้)

อย่างไรก็ตาม  วิกฤตเศรษฐกิจจะยิ่งมีความรุนแรงมากขึ้น ถ้าการรัดเข็มขัดของรัฐบาล นั้นเกิดขึ้นพร้อมกับหนี้เสียของรัฐบาลประเทศต่างๆในยุโรป

เพราะฉะนั้น ในบทความต่อไป ผมจะมาอธิบายให้ฟังโดยละเอียดว่า ทำไมความเสี่ยงที่วิฤตหนี้ครั้งนี้จะแย่ลงเรื่อยๆนั้นยังคงอยู่ และลองวิเคราะห์ดูว่าการเกิดหนี้เสียของรัฐบาลในยุโรปจะส่งผลลบต่อเศรษฐกิจได้มากน้อยเพียงใด

Posted in:
Twitter