ความคิดเห็นที่ 2: จะมีหนี้เสียจากรัฐบาลกลุ่มPIIGS
ผู้ที่อ่านติดตามSETTALKอยู่เป็นประจำ จะทราบว่าทางเราย้ำไปหลายครั้งแล้วว่ากรีซจะไม่สามารถจ่ายหนี้คืนได้หมด
จากในแผนที่ผู้นำยุโรปออกมาประกาศล่าสุดเมื่อปลายเดือนตุลาที่ผ่านมา ภาคเอกชนจะต้องยอมรับhaircutเพิ่มขึ้นจาก20%เป็น50% เพื่อเป็นการช่วยพลักดันให้สัดส่วนหนี้รัฐต่อGDPของกรีซลดลงจากประมาณ160%มาอยู่ที่ระดับ120%ภายในปี2020
การที่ธนาคารต้องยอมรับhaircutมากขึ้น นั้นหมายความว่าจะต้องยอมขาดทุนเพิ่มนั้นเอง เพราะหนี้ของกรีซที่องกรค์เหล่านี้ถืออยู่นั้นเคยมีค่า100ยูโร แต่บัดนี้เหลือมูลค่าแค่50ยูโร นี้ถือเป็นความช่วยเหลือจากภาคเอกชนที่มอบให้กับกรีซ ด้วยการยอมให้รัฐไม่ต้องจ่ายเงินคืนอีก50ยูโร "ด้วยความสมัครใจ"
เราก็ได้เตือนผู้อ่านไปแล้วเช่นกันว่า ถึงแม้เราลองสมมุติให้รัฐบาลกรีซลดสัดส่วนหนี้เหลือ120%ได้ภายในวันนี้ เดี๋ยวนี้เลยทันที กรีซก็ยังคงไม่มีทางจ่ายหนี้คืนได้หมดอยู่ดี
พูดให้สั้นคือ ผมคิดว่าhaircut "แค่50%" นั้นยังไม่พอ ภาคเอกชนจะต้องยอมขาดทุนเพิ่มอีกถ้าพวกเขาเลือกที่จะถือพันธบัตรของกรีซไว้ (ถึงแม้ทางออกที่ดีที่สุดคือการขายพันธบัตรทิ้งไปเลยอย่างที่ผมเคยกล่าวไปในบทความก่อน การที่นักลงทุนในตลาดเกิดการตกใจอย่างฉับพลันจนแย่งกันขายจะส่งผลให้ ธนาคารหลายๆรายต้องขายพันธบัตรที่ราคาต่ำมากๆอยู่ดี ส่งผลให้ขาดทุนเยอะใกล้เคียงกับการถือพันธบัตรไว้แล้วโดนhaircutเพิ่ม)
ถ้าเป็นอย่างที่เราคาดไว้ ผลประกอบการของธนาคารหลายแห่งทั่วยุโรปจะแย่ลงมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันเสียอีก ธนาคารใหญ่ๆอาจจะแค่มีกำไรน้อยลง หรือไม่ก็ขาดทุนมากกว่าที่เป็นอยู่ แต่ธนาคารเล็กๆบางแห่งจะล้มละลายไปเลยเพราะรับภาระการสูญเสียของมูลค่าพันธบัตรไม่ไหว
ผู้อ่านบางท่านอาจจะคิดว่า "โห ถึงขนาดล้มละลายเลยเหรอ?"
มีโอกาสสูงครับ เพราะก่อนวิกฤตครั้งนี้ ก้อนหนี้ของรัฐบาลส่วนใหญ่ในยุโรปนั้นถูกมองเป็นสินทรัพย์ปลอดความเสี่ยง ธนาคารน้อยใหญ่จึงซื้อก้อนหนี้หรือพันธบัตรเหล่านี้เก็บไว้เป็นจำนวนมาก ธนาคารที่ถือพันธบัตรรัฐบาลกรีซอยู่มาก มีฐานลูกค้าเล็กคือจำกัดอยู่ในเฉพาะไม่กี่พื้นที่ ก็มีโอกาสเจ๊งมากกว่า ธนาคารที่กระจายความเสี่ยงไปหลายๆทวีป ไม่ได้ซื้อของเสียจากกรีซเก็บไว้มากจนเกิดไป และมีฐานลูกค้าอยู่มากมายทั่วโลกครับ นอกจากนี้ เมื่อมีหนี้เสียเกิดขึ้นจริง ธนาคารจะให้ยืมแก่กันด้วยความระมัดมากขึ้นคือ ใครถือหนี้กรีซอยู่เยอะมักจะหาทางกู้ได้ยาก เพราะทุกคนต่างกลัวว่าตนจะได้รับผลกระทบ สิ่งนี้จะทำให้ธนาคารประสบกับปัญหาขาดสภาพคล่อง
เพราะฉะนั้น ถ้ารัฐบาลกรีซล้ม ธนาคารเล็กๆบางแห่ง(โดยเฉพาะพวกธนาคารในประเทศกรีซเอง)จะต้องล้มตามไปด้วย พวกธนาคารใหญ่บางแห่งก็คงจะขาดสภาพคล่อง และเศรษฐกิจของกรีซก็จะดิ่งลงเหวอย่างแน่นอน เพราะธนาคารคือสื่อกลางที่เชื่อมระหว่างผู้ออมกับผู้กู้ ถ้าประเทศใดขาดสื่อกลางตัวนี้ไปหรือผู้ทำหน้าที่เป็นสื่อกลางนั้นทำหน้าที่ได้ไม่เต็มที่ ผู้ออมก็จะขาดรายได้จากการออม(ในรูปดอกเบี้ย) ผู้กู้ก็จะหาทางกู้เงินไปลงทุนได้ยากลำบากขึ้น จุดจบก็คือGDPลดลงนั้นเอง
แล้วเศรษฐกิจประเทศอื่นละ เยอรมันจะโดนมั้ย? ยุโรปจะรอดมั้ย? รอดครับ ถ้ากรีซล้มแค่ประเทศเดียว เพราะหนี้เสียจากกรีซประเทศเดียวนั้นมีมูลค่าไม่มากพอที่จะส่งผลให้ธนาคารในประเทศใหญ่ๆล้มลงเป็นจำนวนมากพอจนส่งผลกระทบร้ายแรงต่อเศรษฐกิจได้
แต่กรีซคงไม่ล้มแค่ประเทศเดียวหรอกครับ เพราะถ้าเราดูจากประวัติศาสตร์แล้ว เราจะพบว่าที่ผ่านมา
เมื่อใดที่หลายๆประเทศทั่วโลกได้รับผลกระทบจากวิกฤตทางการเงิน เมื่อนั้นจะมีรัฐบาลประเทศต่างๆมีปัญหาหนี้เสียมากขึ้นตามไปด้วย เนื่องจากสองสาเหตุด้วยกันคือ
1.) วิกฤตทางการเงินในประเทศใหญ่ๆ(อย่างตอนปี2008) มักจะส่งผลต่อเศรษฐกิจของหลายๆประเทศทั่วโลกอย่างรุนแรง เศรษฐกิจที่หดตัวอย่างรวดเร็วจะทำให้รัฐบาลในประเทศต่างๆมีรายได้ลดลงและรายจ่ายเพิ่มขึ้น ภาระที่เพิ่มขึ้นทำให้รัฐบาลที่อ่อนแออยู่เดิมเริ่มรับภาระทางการเงินไม่ไหว จนสุดท้ายหนี้ของรัฐก็กลายเป็นหนี้เสีย
2.) เวลาที่วิกฤตหนี้เสียเกิดที่ประเทศใดประเทศหนึ่ง การสูญเสียความมั่นใจของนักลงทุนจะกระจายออกเป็นวงกว้าง เพราะได้ข้อสรุปว่าสิ่งที่ตนเจอกับประเทศหนึ่ง คงจะเกิดกับประเทศอื่นๆที่มีปัญหาคล้ายคลึงกันด้วย
เพราะฉะนั้น ผมคงไม่แปลกเลยถ้าเราจะได้เห็นธนาคารหลายๆแห่ง ตื่นตระหนก ตกใจ และถามตัวเองหลังจากที่หนี้กรีซกลายเป็นหนี้เสียว่า "จะมีใครล้มตามอีกมั้ยเนี้ย?" อาจจะเก็บไปนอนคิดด้วยซ้ำว่า
"แล้วหนี้ของโปรตุเกสละ ปลอดภัยมั้ย? อืมม ตอบยากแหะ"
"สเปนละ? เออ... ไม่ค่อยแน่ใจนะ"
"อิตาลีก็น่ากลัวพอกันนะ เห็นคนแย่งกันขายยังไม่หยุดเลย ดอกเบี้ยก็เกิน7% แล้วด้วย"
สุดท้าย นายธนาคารผู้นี้จึงได้คำตอบกับตัวเองว่า
"เอาให้ชัวร์ๆเลย ขายทิ้งไปให้หมดทุกอันก่อนดีกว่า เพื่อความปลอดภัย ดีกว่ามาเสียใจที่หลังถ้ามีเรื่องอะไรขึ้นมาอีก"
พอทุกคนในตลาดคิดกันแบบนี้ ราคาพันธบัตรรัฐบาลทั่วยุโรปจะทิ้งดิ่งทันที จะเกิดการขาดสภาพคล่องในหลายๆประเทศจนรัฐบาลไม่สามารถกู้ยืมหนี้ก้อนใหม่ หรือกู้ยืมหนี้ก้อนเดิมต่อ(roll over)ได้อีก ดอกเบี้ยที่นักลงทุนต้องการจากรัฐนั้นจะสูงมากจนรัฐจ่ายไม่ไหว และเกิดหนี้เสียครั้งใหม่ตามมา
พอเกิดหนี้เสียครั้งใหม่ เพิ่มเติมจากหนี้ของกรีซ เราก็จะมาเข้าสู่วงจรเดิมครับ แต่ในครั้งนี้ความรุนแรงต่อระบบเศรษฐกิจจะทวีคูณ โดยเฉพาะถ้ามีประเทศใหญ่ๆอย่างโปรตุเกสหรือสเปนล้มตามไปด้วย
สิ่งที่จะเกิดขึ้น คือ เมื่อมีหนี้เสียจาก2ประเทศขึ้นไป ธนาคารหลายๆแห่งทั่วยุโรปจะกำไรลดลง บางแห่งจะเจ๊งไปเลย ธนาคารจะแทบไม่ให้ยืมแก่กันละกันเลย ใครถือหนี้ของรัฐบาลกลุ่มPIIGSอยู่เยอะมักจะหาทางกู้ไม่ได้ เพราะทุกคนต่างกลัวว่าตนจะได้รับผลกระทบ สิ่งนี้จะทำให้ธนาคารประสบกับปัญหาขาดสภาพคล่องอย่างรุนแรง เศรษฐกิจของยุโรปก็จะดิ่งลงเหวอย่างแน่นอน (มาตรการรัดเข็มขัด + หนี้เสียจากรัฐบาลในยูโรโซนมากกว่าหนึ่งประเทศ = วิกฤตเศรษฐกิจที่จะลุกลามไปทั่วโลก)
นอกจากกรีซแล้ว จะมีประเทศไหนที่เกิดหนี้เสียอีก ผมคงตอบไม่ถูกครับ แต่ผมเชื่อว่าสิ่งที่ผมเพิ่งเล่าให้ฟังมีโอกาสเกิดขึ้นสูงมาก
ผู้เชี่ยวชาญจากสาขาที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก กล่าวว่ายุโรปจะหยุดไม่ให้สถานการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นได้ ถ้าหากEuropean Central Bank (ECB)ประกาศออกมาเลยว่าจะรับซื้อพันธบัตรรัฐบาลของประเทศที่มีปัญหา(แต่มีแนวโน้มแก้ไขได้ อย่างเช่น อิตาลี)อย่างไม่จำกัดจำนวน หรือรับซื้อไม่อั้นนั้นเอง ถ้าทำแบบนี้ นักลงทุนก็จะไม่กลัวที่จะถือพันธบัตรรัฐบาลในยุโรป สิ่งนี้จะช่วยแก้ปัญหาขาดสภาพคล่อง และปัญหาดอกเบี้ยสูงที่เกิดขึ้นในตลาดนั้นเอง
แต่ECBไม่ยอมรับซื้อแบบจำนวนไม่อั้น เพราะผู้นำเยอรมันไม่ยอม และผู้นำECBเองก็ไม่เห็นด้วยเช่นกัน อนาคตของยูโรโซนจะเป็นอย่างไร และจะยังคงมีสมาชิกครบเหมือนเดิมหรือไม่ ติดตามต่อในบทความหน้าครับ สำหรับบทความนี้ ผมขอสรุปสั้นๆครับว่า "รอดยาก"