เรื่องราวดีๆในวันนี้ที่เก็บมาฝากคุณผู้อ่าน เป็นเรื่องจริงจากประสบการณ์ของผู้ลงทุนคุณภาพสองท่าน ที่ประสบความสำเร็จอย่างงดงาม จากการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ ชนิดชนะตลาดกันปีละ100-200% เคล็ดลับการลงทุนทั้งสองท่านบอกตรงกันว่าอยู่ที่ "อ่าน อ่านและก็อ่าน ข้อมูลการลงทุน" ค่ะ ฟังๆแล้วก็เหมือนไม่มีอะไรใหม่ เพราะทุกคนทราบดีว่าการอ่าน และติดตามข้อมูลการลงทุนเป็นสิ่งที่ควรทำ แต่สำหรับคนส่วนใหญ่แล้ว สิ่งที่รู้กับสิ่งที่ทำมักสวนทางกัน การลงทุนเลยไม่เป็นตามเป้าที่วางไว้
สิ่งที่น่าสนใจและสมควรเป็นกรณีศึกษาจากประสบการณ์ของผู้ลงทุนคุณภาพสองท่านนั้น คือ ในอดีตพวกเขาเป็นผู้ลงทุนธรรมดาเหมือนคุณๆค่ะ ไม่ใช่ยอดมนุษย์เก่งฉกาจอัจฉริยะมาจากไหน ด้านการศึกษาก็ไม่ได้จบการเงินการลงทุนมาโดยตรง ตัดสินใจซื้อหุ้นทีก็อาศัย"verb to เดา" บวกความส่วนตัวเป็นหลัก แล้ววันหนึ่ง ผลลัพธ์จากวิการแบบนี้ก็ทำให้พวกเขาผิดหวังกันไปมิใช่น้อย
ผิดที่ตัดสินใจบน"ความเชื่อ&ความชอบ"
ผู้ลงทุนท่านแรกเริ่มจากการลงทุนในหุ้นกลุ่มอาหารตัวหนึ่งเพราะความชอบเนื่องจากเห็นว่า อาหารเป็นปัจจัย4 ซึ่งอย่างไรคนก็ต้องกินอยู่เรื่อยๆ เพราะฉะนั้นธุรกิจนี้น่าจะไปได้ดี ต่อมาไข้หวัดนกเริ่มระบาด แนวโน้มธุรกิจของหุ้นตัวที่เขาลงทุนอยู่เริ่มแย่ลงจากรายได้ที่ลดลงต่อเนื่องทุกไตรมาส ราคาหุ้นก็ลดลงเรื่อยๆเช่นกัน แต่เขายังเชื่อมั่นอยู่ว่าขาดทุนไม่เป็นไร เพราะยังหวังเงินปันผลซึ่งจะจ่ายถึง50๔ของกำไรสุทธิ ในที่สุด กว่าความจริงจะออกมาว่าบริษัทขาดทุนไม่มีเงินจ่ายปันผลผู้ถือหุ้นในปีนั้น ราคาหุ้นก็รูดลงไปมากจนเขาต้องตัดสินใจขายขาดทุนไปกว่า30%
บทเรียนครั้งนั้น เขาพบว่าหากเขา อ่านงบการเงิน เป็น เขาคงรู้ก่อนแล้วว่าบริษัทมีหนี้สินเยอะ แถมรายได้ลดลงเรื่อยๆไม่น่าจะมีเงินสดพอที่จะมาจ่ายปันผลผู้ถือหุ้นได้ รวมทั้งยังมีเงินไม่พอในการดำเนินธุรกิจจนต้องเพิ่มทุนด้วย หลังจากนั้นเขาจึงเริ่มฝึกฝนตัวเองจนสามารถอ่านงบการเงินได้อย่างคล่องแคล่ว ทำให้สามารถเลืกซื้อหุ้นที่มีคุณภาพดีขึ้น แหล่งข้อมูลสำหรับดาวน์โหลดงบการเงินย้อนหลัง3ปีที่เขาชอบดูเป็นพิเศษ อยู่ในแบบ 56-1 (แบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี) ดูได้จากเว็บไซต์ ก.ล.ต. http://www.sec.or.th/ (ตรงเมนูshortcutค่ะ)
พลาดตรงไม่ดูความเห็นผู้สอบบัญชี
ส่วนผู้ลงทุนคุณภาพอีกท่านหนึ่งที่ไม่เชิงว่าไม่อ่านข้อมูลการลงทุนค่ะแต่เหมือนว่าอ่านไม่ครบถ้วนมากกว่า เขาเล่าว่าตัดสินใจลงทุนในหุ้นกลุ่มธุรกิจอินเทอร์เน็ต เพราะเห็นว่าในงบกำไรขาดทุนมีตัวเลขกำไรน่าใจมาก ปรากฏว่าไม่ได้ดูความเห็นของผู้สอบบัญชีที่แสดงต่อความถูกต้องของงบการเงินบริษัทในหน้ารายงานสอบทานงบการเงินค่ะ โดยกรณีนี้ ผู้สอบบัญชีบอกไว้ว่างบการเงินไม่ถูกต้อง ซึ่งเท่ากับเป็นการส่งสัญญานเตือนผู้ลงทุนให้ระมัดระวังในการใช้ข้อมูลงบการเงินดังกล่าว แต่เผอิญเขาไม่ได้ "ไม่ได้เปิดรับสัญญาน" กว่าจะได้ทราบว่าเรื่องราวเป็นมาอย่างไร ก็ตอนที่ทีข่าว ก.ล.ด. สั่งแก้ไขงบ และราคาหุ้นลดลงมา จนในที่สุด ต้องตัดสินใจขายขาดทุน หลังจากนั้น เขาตั้งใจไว้เลยค่ะว่าถ้าจะลงทุนหุ้นตัวไหนจะต้องดูข้อมูลรายละเอียดของบริษัททุกหน้า เพราะเป็นสิ่งที่สำคัญมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากเป็นงบการเงิน เขาจะพลิกไปหน้าความเห็นผู้สอบบัญชีก่อนเข้าไปดูรายละเอียดข้างในค่ะ
เคล็ดลับความสำเร็จ"พึ่งพิงจากข้อมูลการอ่านและการวิเคราะห์"
จากความผิดพลาดในอดีตที่ผ่านมานั้นเองกลายเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้ผู้ลงทุนทั้งสองท่านกลับมาทบทวนกลับหาสาเหตุและทางแก้ไขดดยให้ความสำคัญกับการอ่านข้อมูลการลงทุนเพิ่มมากขึ้นมาก เพราะบทเรียนจากการไม่อ่านข้อมูลการลงทุน หรืออ่านไม่ครบถ้วนนั้น พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าทำให้การลงทุนของเขาพลาดเป้า ล้มเหลวอย่างไรบ้าง ก่อนจากวันนี้ มี เคล็ดลับการลงทุนที่ทำให้ประสบความสำเร็จ จากทั้งสองท่านมาฝากกันค่ะว่า อย่าเชื่อข่าวลือ อย่าดูเพียงข้อมูลตัวเลขในอดีต อย่าหวังเก็งกำไร แต่ให้พึ่งพิงการอ่านข้อมูลการลงทุนให้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็น ข้อมูลจากแบบ 56-1 งบการเงิน รายงานประจำปี ข่าวบริษัทในหนังสือพิมพ์กฏหมายที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งติดตามข่าวสารสถานการณ์ต่างๆ
สิ่งที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ การนำข้อมูลที่อ่านและศึกษามาวิเคราะห์แนวโน้มะรกิจ อย่างหุ้นกลุ่มวัฏจักรที่ผลประกอบการและราคาขึ้นลงเป็นรอบๆเช่นกลุ่ม ปิโตรเคมี กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ ๆลๆ นั้น ควรจะเข้าลงทุนเมื่อใด หรือการวิเคราะห์เชื่อมโยงความสัมพันธ์ของธุรกิจกับสถานการณ์รอบตัวได้ เช่นเมื่อเกิดภาวะโลกร้อนบริษัทที่ขายเครื่องดื่มอละบริษัทขายแอร์ก็น่าจะได้รับประโยชน์ เป็นต้น สิ่งเหล่านี้จะเป็นทักษะที่ช่วยให้คุณประสบความสำเร็จในการลงทุนและเป็นผู้ลงทุนที่ชนะตลาดได้เช่นกัน และถ้าคุณไม่พร้อม ที่จะศึกษาและติดตามข้อมูลต่างๆอย่างละเอียดและสม่ำเสมอ ขอแนะนำให้ลงทุนผ่านผู้จัดการกองทุนที่เป็นมืออาชีพ จะเหมาะกว่าค่ะ
จากหนังสือพิมพ์ "กรุงเทพธุรกิจ(วันพฤหัสบดีที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2553): เศรษฐกิจการเงิน (หน้า18): ก.ล.ต. คู่คิดนักลงทุน"
โดย จารุพรรณ อินทรรุ่ง
สำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต. email : info@sec.or.th