การลงทุนหุ้น และเศรษฐกิจ อัพเดทรายสัปดาห์

02 เมษายน 2553

ความรู้การลงทุนหุ้น [Price per Book Value: Part 2 Application]

กรุณาอ่าน Price per Book Value: Part 1เพื่อทำความเข้าใจกับ ความหมายและที่มา ของP/BVก่อนที่จะอ่านบทความนี้ครับ

ลงทุนเอง หรือ ซื้อหุ้นในตลาดดีกว่า
ถ้าคุณอยากเป็นเจ้าของบริษัท และกำลังตัดสินใจระหว่างตั้งบริษัทใหม่ กับ ซื้อหุ้นบริษัทหนึ่งในตลาดหลักทรัพย์ เกณฑ์ในการตัดสินใจที่สำคัญอย่างหนึ่งคือP/BV

สมมติว่าคุณอยากเป็นเจ้าของบริษัทน้ำมันที่มีขนาดและลักษณะคล้ายๆกับPTTEP ซึ่งเป็นบริษัทจำพวกขุดเจาะน้ำมัน ถ้าคุณลงทุนเองก็พอประมาณการได้ว่าต้องจ่ายไม่ต่ำกว่าbook valueของPTTEPเพราะเป็นสิ่งที่ใช้ประมาณค่าสินทรัพย์ของบริษัทในธุรกิจเดียวกันได้  ถ้าคุณไม่อยากลงทุนเอง อยากเป็นเจ้าของอย่างรวดเร็วก็ซื้อหุ้นPTTEPได้เลย

แต่P/BVของPTTEPนั้นเท่ากับ3.44 ซึ่งหมายความว่า ราคาหุ้นในตลาดเท่ากับ3.44เท่าของราคาต่อหุ้นที่ปรากฏในงบดุล(Book Value Per Share) ที่ตัวเลขออกมาเป็นเช่นนี้ก็เพราะว่า
1) ราคาสินทรัพย์ในงบดุล เป็นราคา ณ.เวลาที่ซื้อสินทรัพย์ ซึ่งมักจะผ่านมานานแล้ว
     นอกจากนั้น สินทรัพย์ส่วนใหญ่มีการหักค่าเสื่อมตามหลักบัญชีมาเรื่อยๆ ดังนั้นราคา  
     สินทรัพย์ในงบดุล จึงมักจะมีค่าต่ำกว่าราคาตลาดมาก แม้จะยังอยู่ในสภาพใช้งานได้ดี
     ทำให้ Book Value Per Share ต่ำกว่าราคาหุ้นในตลาด


2) นักลงทุนเชื่อมั่นในผลประกอบการในอนาคตของบริษัทฯ พูดได้ว่าเป็นเรื่องปกติที่บริษัทที่พื้นฐานมั่นคง ผลประกอบการดี จะมีราคาสูงกว่า Book Value per shareอยู่2-3เท่าซึ่งบางคนอาจจะเถียงซะด้วยซ้ำว่าต่ำไป เพราะราคาน้ำมันมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ


อย่างไรก็ตามถ้าคุณคิดว่าระดับราคา ณ P/BVดังกล่าวสูงเกินไป คุณก็อาจจะหาบริษัทอื่นๆที่มีP/BVต่ำกว่า แต่มีศักยภาพในการทำกำไรในอนาคตได้(ซึ่งจะส่งผลให้ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นนั่นเอง)ด้วยเหตุผลด้านประสบการณ์ที่สั่งสมมา ทักษะการบริหาร และความได้เปรียบด้านการแข่งขันของบริษัท ราคาที่เหมาะสมของหุ้นส่วนใหญ่มักจะมีP/BVไม่ต่ำกว่า1 พูดอีกอย่างหนึ่งคือ มูลค่าตลาดของบริษัทควรจะมีค่าสูงกว่ามูลค่าทางบัญชี เพราะอย่าลืมว่ามูลค่าทางบัญชีเป็นเพียงแค่มูลค่าของสินทรัพย์ ณ วันที่บริษัทจัดหามา(ซึ่งมักมีราคาต่ำกว่าปัจจุบัน)และเป็นเพียงมูลค่าสิ่งของเท่านั้น ไม่ได้รวมศักยภาพต่างๆของบริษัทที่กล่าวไว้ข้างต้นเลย

แต่เมื่อคนแตกตื่น วิตก หรือหวาดกลัว P/BV ก็อาจลดลงต่ำกว่าหนึ่งได้ ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจปีที่แล้วค่าP/BVหุ้นหลายๆตัวในตลาดไทยก็ลงไปต่ำกว่า1เช่นกัน ซึ่งโดยส่วนตัวผมคิดว่าการที่P/BVอยู่ต่ำกว่า0.5นั้นเป็นเรื่องที่ไม่มีเหตุผลเอาซะเลย ยกเว้นว่าบริษัทนั้นมีปัญหารุมเร้าจนใกล้จะล้มละลาย

เพื่อยกตัวอย่างความไม่มีเหตุผลของตลาดให้เห็นภาพได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ผมจะกล่าวถึงตลาดหุ้นสมัยสงครามโลกครั้งที่สองให้ฟังสั้นๆ

ความหวาดกลัวและสิ้นหวังอย่างสิ้นเชิงในตลาดหุ้น
เดือนมิถุนายน ปี1940 เป็นช่วงเวลาที่เยอรมันยึดยุโรปภาคพื้นทวีป ได้แล้วและกำลังขยายแนวรบไปที่ต่างๆ อารมณ์ของคนทั่วโลกอยู่ในช่วงหมองหม่น และคิดว่าเยอรมันคงจะเป็นผู้ครองโลกในอีกไม่ช้า อเมริกา ณ ตอนนั้นก็ยืนยันว่าจะไม่เข้าร่วมสงครามหรือให้ความช่วยเหลือ อังกฤษที่จะโดนบุกวันไหนไม่รู้ก็ดูห่างชั้นกับเยอรมันยิ่งนัก ความแข็งแกร่ง ดุเดือด และโหดร้ายของนาซี ทำให้ทั่วโลกมีแต่ความหวาดกลัวและสิ้นหวัง

บนความสิ้นหวังของนักลงทุนทั่วโลก คงไม่ต้องบอกก็รู้ว่าตลาดหุ้นเยอรมันบูมขนาดไหน จากจุดต่ำสุดในปี1932 ซึ่งเป็นช่วงที่ The Great Depression เกิดขึ้นในอเมริกาจนมาถึงปี1940 German CDAX Index ขึ้นจาก40จุดมาที่118จุด หรือการปรับตัวสูงขึ้นประมาณ66% (แล้วยังขึ้นต่อมาสูงสุดที่130จุดในสองปีต่อมา)

ในเวลาเดียวกัน ความสิ้นหวังสามารถพบเห็นอย่างชัดเจนในตลาดหุ้นลอนดอน U.K Financial Times, 30 Industrials (indexของ30บริษัทใหญ่ๆในอังกฤษ เป็นดัชนีที่มีลักษณะคล้ายกับDow Jonesของอเมริกา)ได้ตกจากจุดสูงสุดที่ประมาณ125จุดในปี1936 มาอยู่ที่จุดต่ำสุดในปี1940 ซึ่งดัชนีเหลืออยู่แค่50จุด หรือการปรับตัวลดลงประมาณ60% ซึ่ง ณ ตอนนั้น หุ้นส่วนใหญ่ในตลาดลอนดอนมีP/BV อยู่ที่ประมาณ 0.6 ถึง0.8

ซึ่งเป็นP/BVที่สะท้อนความสิ้นหวังของมนุษยชาติในยามที่ประเทศของตนเป็นรองฝ่ายศัตรูในสงครามได้อย่างดี และผมก็เดาว่าตัวเลขนี้ของตลาดหุ้นทั่วโลกก็ไม่ได้แตกต่างไปจากนี้มากนัก หรืออาจจะแย่กว่าซะด้วยซ้ำ

สรุปแล้วก็คือ โดยทั่วไปราคาของหุ้นแต่ละบริษัทควรจะมีP/BVไม่ต่ำกว่า1 แต่ในยามที่เกิดวิกฤติหนักๆ ก็ไม่แปลกอะไรที่P/BVจะน้อยกว่าหนึ่งนั้นเอง

ประยุกต์ใช้กับสถานการณปัจุบัน
แล้วตอนนี้เราอยู่ในวิกฤตหรือเปล่า? ถ้าวิกฤตทางการเมืองละไม่แน่ แต่วิกฤตทางเศรษฐกิจนี้เลิกคิดไปได้เลย เพราะสัญญาน และตัวเลขต่างๆบอกตรงกันว่าเศรษฐกิจทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยกำลังฟื้นตัว เพราะฉะนั้น นักลงทุนส่วนใหญ่ควรมองเห็นว่าถ้าดูกันระยะยาว ยังไงๆตลาดก็ต้องดีขึ้น ถึงแม้จะมีเรื่องความไม่มั่นคงทางการเมือง แต่เมื่อเปรียบเทียบความรุนแรงระหว่างการเมืองกับสงครามโลกครั้งที่สอง จะเห็นได้ว่า การเมืองบ้านเรายังเบากว่าและสั้นกว่ามากนัก เมื่อคำนวนปัจจัยบวกลบกันแล้ว สถานการณ์ตลาดหุ้นถือว่าค่อนข้างปกติ และไม่ได้อยู่ในช่วงวิกฤตอะไร

แต่สิ่งทีน่าแปลกใจคือ หุ้นหลายๆตัวมีค่าP/BVน้อยกว่า1 (บางตัวถึงขนาดน้อยกว่า0.5) ซึ่งน่าแปลกใจว่าทำไมมันถึงunder-valuedได้มากขนาดนี้ ย้ำนะครับว่าP/BVน้อยกว่า1แปลว่า การซื้อหุ้นของบริษัทนั้นๆในตลาดหลักทรัพย์นั้นถูกกว่าการที่คุณไปลงทุนซื้อสินทรัพย์มาตั้งบริษัทใหม่เองเสียอีก ซึ่งอาจจะแปลความหมายได้ว่า ตลาดตีมูลค่าประสบการณ์ที่สั่งสมมา ทักษะการบริหาร และโอกาสในการทำกำไรของบริษัท เป็นติดลบ! ทำให้มูลค่าทางตลาดที่ถูกสะท้อนอยู่ในราคาหุ้นนั้น ต่ำกว่ามูลค่าสินทรัพย์ซึ่งเป็นแค่สิ่งของที่บริษัทเป็นเจ้าของเสียอีก ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วสิ่งนี้จะเกิดขึ้นกับบริษัทที่นักลงทุนส่วนใหญ่ไม่เชื่อมั่นในผลประกอบการในอนาคต หรือ ภาพลักษณ์ในอดีตไม่ดีนัก

อย่างไรก็ตาม ถ้าเราเชื่อและมีเหตุผลชัดเจนว่าอนาคตของบริษัทนั้นๆจะดีขึ้นและมีกำไรแน่นอน แต่P/BVดันต่ำกว่า 1 เราก็รู้แล้วว่าหุ้นตัวนี้ราคาถูกไป ควรซื้อเก็บไว้ เพราะในฐานะบริษัทที่ทำกำไร หรือกำลังจะกำไร มูลค่าตลาดที่สะท้อนอยู่ในราคาหุ้นนั้นไม่ควรจะต่ำกว่ามูลค่าตามบัญชี และถ้าต่ำกว่า ก็จะต่ำกว่าไม่ได้นานหนัก ยังไงๆก็ต้องปรับตัวขึ้นมาไม่ช้าก็เร็ว ไม่คุ้มเหรอครับที่ เราสามารถซื้อสินทรัพย์จากตลาดในราคาที่ถูกกว่าที่เจ้าของเขาซื้อมา แถมยังได้บุคคลากรที่มีประสบการณ์ และสิ่งที่บริษัทสั่งสมมาต่างๆนาๆ


พูดสั้นๆคือหุ้นมัน under-valuedนั้นเอง
จากประสบการณ์ส่วนตัว ผู้เขียนพบว่าหุ้นที่มีP/BVต่ำกว่า 1 จะอยู่ได้ไม่นาน สุดท้ายราคาหุ้นจะต้องปรับตัวสูงขึ้นจนP/BVเข้าใกล้หนึ่งมากขึ้นเรื่อยๆ พูดง่ายๆก็คือถ้าซื้อหุ้นของบริษัทที่คาดว่าจะมีผลประกอบการที่ดีขึ้นในอนาคตแต่มีP/BVต่ำกว่า 1 โอกาสที่จะได้กำไรจากหุ้นตัวนี้แทบจะเป็น100%เลยทีเดียว
ตัวอย่างหุ้นที่คาดว่าจะกำไรในปีนี้แต่ P/BV ต่ำกว่า 1
TPIPL, NOBLE, KTC, BAT-3K และ MK

ถ้าสนใจหุ้นตัวไหนจาก5ตัวนี้เป็นพิเศษก็สามารถทิ้งคอมเม้นไว้ได้เลยนะครับ

ข้อมูลตลาดหุ้นในช่วงสงครามโลกจาก  Wealth, War and Wisdom

Posted in:
Twitter