การลงทุนหุ้น และเศรษฐกิจ อัพเดทรายสัปดาห์

23 กุมภาพันธ์ 2555

ราคาน้ำมันขึ้น ดีหรือแย่กับ ตลาดหุ้น?


บางท่านบอกว่าราคาน้ำมันขึ้นสิดี เพราะบริษัทน้ำมันยักใหญ่ทั้งหลายจะกำไรดีขึ้น เพราะฉะนั้นราคาหุ้นควรจะขึ้นตาม บางท่านบอกว่าราคาน้ำมันขึ้นไม่ดีเพราะทำให้การทำธุรกิจมีต้นทุนที่สูงขึ้น เศรษฐกิจอาจรับไม่ไหว เพราะฉะนั้นราคาหุ้นควรจะลง


ถูกทั้งคู่แหละครับ เพราะ...

ความจริงก็คือ ราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นนั้นดีกับบริษัทที่ขายน้ำมัน เช่น PTT และ PTTEP

อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมัน คือ ต้นทุนสำหรับหลายๆธุรกิจ ตราบใดที่ธุรกิจยังต้องพึ่งพาการขนส่ง และการใช้เครื่องจักร ธุรกิจนั้นก็ยังต้องพึ่งพาน้ำมัน เพราะฉะนั้น ราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น คือ ปัจจัยลบสำหรับธุรกิจส่วนใหญ่ โดยเฉพาะที่ต้องใช้น้ำมันมากๆอย่าง THAI เป็นต้น

โดยสรุปคือ เวลาราคาน้ำมันปรับตัวขึ้น ราคาหุ้นของบริษัทที่ได้ประโยชน์โดยตรงอย่าง PTT และ PTTEP ควรจะปรับตัวสูงขึ้น ในขณะที่ราคาหุ้นของบริษัทอื่นๆเกือบทุกตัวในตลาดควรจะปรับตัวลง ยิ่งใช้น้ำมันเป็นสัดส่วนของต้นทุนมากเท่าไร ราคาหุ้นก็ควรจะลดลงมากเท่านั้น

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกลับไม่เป็นเช่นนั้น

ก่อนที่จะพูดถึงว่าสิ่งที่เกิดขึ้นจริงคืออะไร เราลองมาดูโครงสร้างของ SET Index กันแบบคร่าวๆกันก่อนดีกว่าครับ

SET INDEX

SET Index คือ Market-Cap-Weighted Index ซึ่งถ่วงน้ำหนักตาม มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Capitalization) ของหุ้นแต่ละตัว หุ้นที่มีมูลค่าตลาดสูงย่อมส่งผลต่อ Index ได้มากกว่าหุ้นที่มีมูลค่าตลาดต่ำ


ปรากฏว่า ณ ราคาปิดของวันนี้ (23/2/2012) หุ้น PTT และ PTTEP มีน้ำหนักถ่วงอยู่ใน SET Index ถึง 10.93% และ 6.46% ตามลำดับ เนื่องจากหุ้นสองตัวนี้มี Market Cap ที่สูงมาก

23/2/2012 Market Capitalization                 %
SET Index  ฿ 9,351,387,670,000.00 100%
PTT  ฿ 1,022,555,270,000.00 10.93%
PTTEP  ฿    604,237,340,000.00 6.46%


ผลก็คือ ถ้าราคาต่อหุ้นของPTTเพิ่มขึ้นเพียงแค่สามบาทหรือ0.8% จากราคาปัจจุบันที่359บาท ไปที่362บาท  ดัชนีSET Index จะเพิ่มขึ้นถึง1.04จุด (1140.07 => 1141.11) ภายใต้สมมติฐานที่ว่าราคาหุ้นตัวอื่นไม่เปลี่ยนแปลง

นอกจากนั้น ถ้าราคาของหุ้นทั้งสองตัวเพิ่มขึ้นสามบาทพร้อมกัน คือ PTT ขึ้นจาก 359 บาท ไปที่ 362 บาท  และPTTEP ขึ้นจาก 180.5 บาท ไปที่ 183.5 บาท สิ่งนี้จะส่งผลให้ดัชนีปรับตัวขึนจาก 1140.07 จุด ไปเป็น 1142.34 จุด หรือเพิ่มขึ้นถึง 2.27 จุด

ท่านผู้อ่านคงเห็นแล้วว่า ราคาของหุ้นเพียงแค่สองตัวจากกลุ่มพลังงานสามารถกระทบดัชนีตลาดได้มากขนาดไหน


สิ่งที่เกิดขึ้นจริงในตลาดหุ้น

ผู้เขียนได้กล่าวไว้ตั้งแต่ตอนต้นแล้วว่า ตามหลักเหตุผล ราคาน้ำมันขึ้น ดีกับหุ้นน้ำมัน แต่แย่กับหุ้นตัวอื่นเกือบหมด เพราะฉะนั้น ราคาหุ้นบริษัทน้ำมันควรจะขึ้น และราคาหุ้นตัวอื่นๆส่วนใหญ่ควรจะลง

แต่ความเป็นจริงกลับไม่ใช่แบบนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นคือ เวลาราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น ราคาหุ้นของบริษัทน้ำมันจะปรับตัวสูงขึ้นตาม ส่งผลบวกอย่างเห็นได้ชัดต่อดัชนีตลาด SET Index (เหมือนที่เราทดสอบให้ดูด้านบน) เมื่อคนเห็นดัชนีตลาดเปลี่ยนแปลงเป็นบวก นักลงทุนส่วนใหญ่มองว่าเป็นสัญญาณที่ดี เพราะเหมาเอาเองว่าตลาดภาพรวมกำลังดีขึ้น ก็เลยกล้าเข้าไปซื้อหุ้นมากขึ้น ผลสุดท้ายก็คือ ราคาหุ้นจำนวนมากในตลาดปรับตัวขึ้นตามไปด้วย ทั้งๆที่ราคาน้ำมันที่สูงขึ้นควรจะเป็นปัจจัยลบ

ปรากฏการนี้ ทำให้ในระยะสั้น ราคาหุ้นส่วนใหญ่ในตลาดมักจะปรับตัวขึ้นตามราคาน้ำมัน ส่วนในระยะยาว ราคาน้ำมันที่สูงขึ้นก็จะเริ่มส่งผลกระทบกับกำไร เมื่อตลาดรับรู้เรื่องนี้ ราคาหุ้นจะมีการปรับตัวเข้าหาระดับที่เหมาะสมเอง


ราคาน้ำมันสูงเกินไปจนเศรษฐกิจรับไม่ไหว

ประโยคนี้มักจะเป็นประโยคที่ผู้เชี่ยวชาญใช้อธิบายว่าทำไมราคาน้ำมันไม่น่าจะขึ้นได้อีกเยอะ โดยเฉพาะในช่วง2-3ปีที่ผ่านมา เราจะได้ยินกันบ่อยว่า "ราคาน้ำมันจะไม่ขึ้นเกิน$X เพราะถ้าเกินระดับราคานี้ เศรษฐกิจโลกจะรับไม่ไหว" ในระหว่างที่ผู้เชี่ยวชาญคาดการณ์กันว่าราคาไม่น่าขึ้นได้เยอะ ราคาก็ทยอยขึ้นมาทีละเล็กละน้อย

นี้คือหลักฐานที่ชัดเจนว่า การทายว่าจุดสิ้นสุดของราคาน้ำมันอยู่ตรงไหนนั้น ทายได้ยากเหลือเกิน แต่นักลงทุนก็ไม่ได้สิ้นหวังซะทีเดียวครับ

Stephen Leeb ผู้แต่งหนังสือ Oil Factor ได้กล่าวไว้ว่า จากการศึกษาข้อมูลตั้งแต่ปี 1974 จนถึงปี 2000 เขาพบว่า ราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้น 80% ในช่วง 12 เดือนล่าสุด ณ ช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง ถือว่าเป็นระดับที่อันตราย และมักจะถูกตามมาด้วยราคาหุ้นที่ปรับตัวลง เพราะฉะนั้น เราควรออกจากตลาดหุ้น เมื่อราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นรุนแรงถึง 80% หรือมากกว่า และกลับเข้าไปในตลาดหุ้นใหม่ เมื่อราคาน้ำมันเพิ่มขึ้น 20% หรือต่ำกว่า

"There is nothing magic about these numbers; these are simply the level that based on historical standards suggest that in one instance - 20 percent - a rise in prices will be gradual enough that the economy can tolerate it, while in the other - 80 percent - the rise will be so rapid that it will create uncertainty and discombobulation."

"ตัวเลขเหล่านี้ไม่ได้มีมนต์ขลังอะไร มันเป็นเพียงแค่ระดับราคาที่เราพบจากข้อมูลในอดีตว่า ในช่วงเวลาที่ราคาน้ำมันเพิ่มขึ้น 20% (หรือต่ำกว่า) การปรับตัวขึ้นของราคานั้นจะค่อยเป็นค่อยไป อยู่ในระดับที่เศรษฐกิจพอปรับตัวได้ทัน แต่เมื่อไรก็ตามที่ราคาน้ำมันเพิ่มขึ้น 80% (หรือสูงกว่า) การปรับตัวนี้จะรวดเร็วเกินไปจนทำให้เกิดความไม่แน่นอน และความสับสน"

ผู้เขียนตั้งชื่อตัวบ่งชี้การเข้าออกตลาดตัวนี้ว่า Oil Indicator คือ ให้เข้าซื้อหุ้นเมื่อราคาน้ำมันเพิ่มขึ้น20%หรือต่ำกว่า และออกจากตลาดเมื่อราคาน้ำมันเพิ่มขึ้น80% หรือมากกว่า และมีหลักฐานรองรับวิธีการนี้ ดังต่อไปนี้

ถ้าคุณซื้อดัชนี S&P 500 ตอนปลายปี 1973 ด้วยเงิน $1,000 แล้วเก็บไว้จนกระทั้งปี 2000 คุณจะมีเงินเก็บเท่ากับ $35,000

ในอีกกรณีหนึ่งคือ คุณซื้อดัชนี S&P 500 ด้วยเงิน $1,000 เหมือนกัน แต่ใช้ Oil Indicator เป็นตัวกำหนดจังหวะซื้อขายด้วย ในช่วงเวลาเดียวกันนี้ คุณจะมีเงินเก็บประมาณ $70,000 มากกว่ากรณีแรกถึงเท่าตัว

ท่านผู้อ่านไม่จำเป้นต้องเชื่อ Oil Indicator หรือ นำไปใช้แบบต้นฉบับแต่อย่างใด ผู้เขียนเองก็ไม่ได้เชื่อที่หนังสือบอกไว้ทั้งหมด แต่อย่างน้อย เราก็จะพอได้ทราบว่า ในอดีต ราคาน้ำมันต้องปรับตัวสูงขึันขนาดไหนจึงจะถือว่าเป็นอันตรายต่อระบบเศรษฐกิจและตลาดหุ้น เราจะได้ไม่หลวมตัวไปทุ่มเงินซื้อหุ้นตอนนั้น

(1) ข้อมูล Market Capitalization ของ SET Index PTT และ PTTEP จาก settrade.com
(2) Leeb, Stephen, and Donna Leeb. 2004. The Oil Factor: Protect Yourself - and Profit - from the Coming Energy Crisis. New York: Warner Business Books.

Posted in: ,
Twitter