การลงทุนหุ้น และเศรษฐกิจ อัพเดทรายสัปดาห์

25 กุมภาพันธ์ 2555

"Value" Investing = Investing [แถมแนะนำหนังสือVIแนวต่างๆให้ด้านในครับ]


เนื่องจากมีการเข้าใจคำว่า Value Investing แบบผิดๆอยู่มาก บางท่านคิดว่ามันเป็นปรัชญาขั้นสูง มีหลักการตายตัวไม่เปลี่ยนแปลง บางท่านคิดว่ามันเป็นหลักการที่ซับซ้อน เกินกว่าคนธรรมดาที่ไม่ใช่เซียนจะเข้าใจและนำไปใช้จริงได้ ผมจึงต้องขอเขียนบทความนี้เพื่อชี้แจงครับผม


Warren Buffett เคยกล่าวไว้ว่าคำว่า "Value" Investing นั้นซ้ำซ้อน ใช้คำเกินความจำเป็น ควรจะตัดให้เหลือแค่คำว่า investing ก็เพียงพอแล้ว เพราะอะไร? ลองไปดูคำพูดของเขาเองเลยดีกว่าครับ

"[W]e think the very term "value investing" is redundant. What is "investing" if it is not the act of seeking value at least sufficient to justify the amoung paid? Consciously paying more for a stock than its calculated value - in the hope that it can soon be sold for a still-higher price- should be labeled speculation (which is neitheir illegal, immoral nor - in our view - financially fattening)."

"เราคิดว่า คำศัพท์คำว่า "การลงทุนแบบเน้นมูลค่า" นั้นเป็นคำที่ซ้ำซ้อน เกินความจำเป็น "การลงทุน" จะเป็นอะไรได้ ถ้าไม่ใช้การมองหาสิ่งที่อย่างน้อย มีมูลค่ามากเพียงพอที่จะพิสูจน์ได้ว่าราคาที่ต้องจ่ายนั้นสมเหตุสมผล? การซื้อหุ้น ณ ระดับราคาที่สูงกว่ามูลค่าที่คำนวณได้- โดยหวังว่ามันจะถูกขายในราคาที่สูงกว่านี้อีก - ควรจะถูกเรียกว่า การเก็งกำไร (ซึ่งไม่ผิดกฏหมาย ไม่ผิดศีลธรรม และ - ในความคิดเห็นของเรา - ไม่ช่วยให้คุณมีความมั่งคั่งมากขึ้น)" 

ในส่วนของ"มูลค่าที่คำนวณได้"นั้น ก็สุดแล้วแต่คนจะตีความน่ะครับ ซึ่งเป็นที่มาของการแตกออกไปหลายสาย 

อันที่จริงแล้ว มันมีอยู่สองสายหลักครับ

1.) สายที่เน้นข้อมูลในอดีต 

ในสายนี้ บางท่านก็เน้นไปที่ สินทรัพย์ที่จับต้องได้ (tangible book value) ถ้าราคาหุ้นยิ่งต่ำกว่าสินทรัพย์ที่จับต้องได้มากๆ ก็ยิ่งดี เช่น P/BV ต่ำๆ หลายๆท่านก็เน้น ไปที่พื้นฐานอันมั่นคงของบริษัท เช่น บริษัทต้องใหญ่ เป็นที่รู้จักพอควร มีกำไรมั่นคงมานานหลายปี เงินปันผลไม่ขาด เป็นต้น 

สายที่เน้นข้อมูลในอดีตเหล่านีมักจะเป็นพวกที่มีแนวความคิดที่ว่า เรื่องอนาคตเป็นเรื่องที่ทายได้ยาก ส่วนมากเป็นการเดามั่วเสียมากกว่าการคาดการณ์ พวกนี้ก็เลยหันไปพึ่งข้อมูลในอดีตเป็นหลัก 

จริงๆแล้วสายนี้คือสายดั้งเดิมเลยแหละครับ ผู้ที่เข้าข่ายว่าอยู่ในสายนี้คือ Benjamin Graham, Walter Schloss และ Warren Buffett ตอนหนุ่มๆ

2.) สายที่เน้นข้อมูลที่จับต้องได้ยาก

สายนี้เชื่อว่ามูลค่าที่แท้จริงของบริษัทควรจะขึ้นอยู่กับความสามารถในการทำกำไรของบริษัทนับตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ไม่ใช่กำไรในอดีต และมูลค่าของบริษัทก็ไม่ได้ขึ้นอยู่กับสินทรัพย์ที่บริษัทเป็นเจ้าของ 

ความสามารถในการทำกำไรนั้น ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น ความสามารถของผู้บริหาร สภาพของอุตสาหกรรม และความสามารถในการแข่งขันของบริษัทนั้นๆ 

สายนี้จะใช้ปัจจัยที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นข้อมูลตัวเลข หรือข้อมูลเชิงคุณภาพ เพื่อนำมาคาดการณ์กำไร หรือ cash flow เพื่อให้ได้มาซึ่งมูลค่าที่แท้จริงของบริษัท 

สายนี้ประกอบไปด้วย Warren Buffett ตั้งแต่ประมาณปลายยุค80's เป็นต้นมา, Charlie Munger, Seth Klarman, Sir John Templeton และเซียนท่านอื่นๆอีกหลายท่าน 



พูดสั้นๆ คือ ความเห็นเรื่อง "มูลค่าที่แท้จริง" ต่างกัน วิธีการลงทุนจึงต่างกันอย่างเห็นได้ชัด 

ในความคิดเห็นส่วนตัวของผม ผมคิดว่า Value Investing นั้นก็คือ "การลงทุน" ที่ดูปัจจัยพื้นฐานบริษัทเป็นหลัก ไม่ว่าจะใช้เป็นข้อมูลในอดีต หรือ คาดการณ์กำไรในอนาคตก็ตาม จริงๆแล้ว นักลงทุนที่กล่าวไปทั้งหมดนี้เขาก็ดูทั้งข้อมูลอดีตและอนาคต แต่ที่แบ่งออกเป็นสองสายได้ก็เพราะว่า แต่ละท่านจะให้น้ำหนักกับแต่ละปัจจัยไม่เท่ากัน

ถ้าพูดถึงความยากง่าย สายที่เน้นข้อมูลในอดีตนั้นจะนำมาประยุกต์ใช้ได้ง่ายกว่าเยอะ เพราะข้อมูลในอดีตไม่ว่าจะเป็นข่าวสาร หรือ งบการเงินเดี๋ยวนี้ก็มีพร้อมหมดแล้ว ที่เหลือก็แค่นำตัวเลขมาคำนวณหาอัตราส่วนต่างๆ เช่น P/BV P/E  Dividend-to-Price Ratio (D/P) และNet Current Asset Value Per Share (NCAVPS)

สายแรกนี้มักจะมองหาหุ้นที่มี P/BV P/E และ P/NCAVPS ต่ำๆ และมองหาหุ้นที่มี D/P สูงในระดับหนึ่ง  แน่นอนว่านี้เป็นเพียงแค่เกณฑ์ส่วนหนึ่งเท่านั้น และแต่ละท่านก็คงใช้ไม่เหมือนกัน ถ้าท่านต้องการเดินทางสายที่เน้นข้อมูลในอดีต หรือสนใจศึกษาเพิ่มเติม ท่านสามารถอ่านได้จาก (เรียงจากเล่มที่อ่านง่ายสุด ไปหา เล่มที่อ่านยากสุด)
ในส่วนของสายที่สองที่มักจะมี การคาดการณ์กำไร หรือ cash flow ที่บริษัทจะสามารถหาได้ในอนาคต เพื่อนำมาคำนวณหามูลค่าที่แท้จริงนั้น ก็มีหนังสือน่าอ่านอยู่หลายเล่มครับ (ไม่ได้เรียงตามเล่มที่อ่านยากง่ายแต่อย่างใด)
ถ้ามีเวลาว่าง ผมอาจจะลองเขียนเกี่ยวกับหนังสือ 8 เล่มที่เพิ่งกล่าวไปแบบคร่าวๆนะครับ เพื่อที่ท่านผู้อ่านจะได้ใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจซื้อต่อไป

ที่กล่าวไปทั้งหมดนี้ ก็เพราะผมไม่อยากให้ท่านทั้งหลายเห็นว่า Value Investing เป็นเรื่องที่ซับซ้อน ไกลตัว หรือ เป็นปรัชญาขึ้นหิ้งที่ตายตัวแต่อย่างใด มันเป็นหลักการลงทุนที่ใช้สามัญสำนึก และพลิกแพลงได้ตามสไตล์แต่ละคน 

Graham เคยกล่าวไว้ว่า เวลาซื้อหุ้น ให้เลือกซื้อเหมือนตอนเลือกซื้อของชำ(ของอุปโภคบริโภค) ไม่ใช่เหมือนตอนเลือกซื้อน้ำหอม ["If you are shopping for common stocks, choose them the way you would buy groceries, not the way you would buy perfume."]  

เพราะเวลาคุณซื้อของชำ อย่างเช่น ซื้อผักมาทานที่บ้าน คุณจะใช้เหตุผลไตร่ตรอง เลือกของที่มีคุณภาพ และคุ้มค่าเงิน แต่เวลาซื้อน้ำหอม พวกเราทั้งหลายมักจะใช้อารมณ์มากกว่าเหตุผล เช่น เลือกกลิ่นที่ถูกใจ โดยไม่สนใจราคาเท่าไรนัก 

ตราบใดที่คุณซื้อของกินของใช้ทั่วไปได้อย่างมีเหตุมีผล รู้จักเปรียบเทียบคุณภาพ และราคา นั้นแหละครับ คือ พื้นฐานที่ดีของนักลงทุน สิ่งที่ต้องทำที่เหลือ ก็คือ อ่านงบให้เป็น ศึกษาข้อมูล ข่าวสารกันต่อไป 

พูดให้สั้นก็คือ ราคาคือสิ่งที่คุณต้องจ่าย มูลค่าคือสิ่งที่คุณจะได้กลับคืนมา(ไม่ว่าจะอยู่ในรูปกำไรจากส่วนต่างของราคาหุ้น หรือเงินปันผลก็ตาม) เพราะฉะนั้น การลงทุนก็คือ การหาสิ่งที่มีมูลค่ามากกว่า ราคาที่ต้องจ่ายไปนั้นเอง

ส่วนจะเรียกว่า Value Investing หรือไม่ ก็แล้วแต่นะครับ  


ข้อกังขาสุดท้ายก็คือ "Value Investing เป็นการลงทุนที่ถูกพัฒนามาจากต่างประเทศ แล้วมันจะใช้ได้ผลในเมืองไทยหรือ?" ต่อไปนี้คือคำตอบจากผมครับ

  1. ท่านต้องใช้วิจารณญานของท่านไตร่ตรองดูว่า วิธีการลงทุนแบบนี้ มีตรรกะ และการใช้เหตุใช้ผลที่ถูกต้องหรือไม่ มีสมมติฐานอะไรอยู่เบื้องหลังบ้าง ถ้ามันฟังดูสมเหตุสมผล และสมมติฐานมันก็ไม่ได้แตกต่างจากสิ่งที่เกิดขึ้นในตลาดบ้านเรามากนัก วิธีนี้ก็น่าจะได้ผล
  2. ท่านต้องสังเกตดูว่า มีผู้ใดเคยใช้วิธีนี้ในบ้านเรา แล้วประสบความสำเร็จมาแล้วบ้าง ยิ่งมีหลายคน ก็ยิ่งเป็นหลักฐานที่แน่นหนายิ่งขึ้นว่า วิธีนี้ใช้ได้ผล 
ในส่วนของข้อแรก ผมแนะนำให้ศึกษาข้อมูล แล้วนำมาไตร่ตรองดูเองจะดีที่สุดครับ ส่วนข้อที่สองนั้น ผมคิดว่า ผู้ที่เดินทางสายVIมาก่อนแล้วประสบความสำเร็จก็มีพอสมควรนะครับ ไม่ว่าจะเป็น ดร.นิเวศน์ หรือ อาจารย์อยุทธ์ ที่ผมเคยสัมภาษณ์ก็ตามที [อ่านบทสัมภาษณ์อาจารย์อยุทธ์ได้ที่ บทสัมภาษณ์พิเศษ: เซียนหุ้นเมืองไทยที่คุณต้องรู้จัก]

คำตอบนี้ ไม่ได้ใช้ได้แค่กับValue Investing อย่างเดียวนะครับ ท่านสามารถนำเกณฑ์ง่ายๆสองข้อนี้ไปพิจารณาความเหมาะของวิธีการลงทุนได้ทุกแนว


สุดท้ายนี้ ขอฝากคำพูดของVIชั้นเซียนไว้นิดนึงครับ 

"Never adopt permanently any type of asset or any selection method. Try to stay flexible, open-minded, and skeptical." - Sir John Templeton

"อย่านำเอาวิธีการเลือกสินทรัพย์แบบใดแบบหนึ่งมาใช้อย่างถาวร เราควรพยายามทำตัวให้หยืดหยุ่น เปิดใจกว้าง และขี้สงสัย"

Warren Buffett เองยังเปิดใจกว้าง เปลี่ยนตนเองจากสายที่หนึ่งมาสายที่สองได้ เพราะเขาคิดว่านั้นคือสิ่งที่ดีกว่า นักลงทุนทั้งหลายอย่าลืมมองหาสิ่งที่ดีกว่าสำหรับตนเองนะครับ จะได้กอบโกยกำไรกันได้มากขึ้น และเข้าถึงเป้าหมายในการลงทุนได้เร็วขึ้น


บทความที่คล้ายกัน

Posted in: ,
Twitter