การลงทุนหุ้น และเศรษฐกิจ อัพเดทรายสัปดาห์

28 กุมภาพันธ์ 2555

WHEN TO SELL: 3 เหตุผลที่นักลงทุนระยะยาวควรขายหุ้น

Philip A. Fisher, Pioneer of Growth Stock School of Investing 
ผู้เขียนเดาว่า ผู้อ่านหลายท่านที่เคยอ่านหนังสือที่สนับสนุนการลงทุนระยะยาว คงจะสงสัยว่า "ให้ถือหุ้นยาวหลายๆปี แล้วเมื่อไรเราควรจะขายละ?"

Benjamin Graham ไม่เคยพูดถึงวิธีการขายหุ้นในหนังสือขึ้นหิ้งอย่างIntelligent Investor Peter Lynch ก็ไม่ได้กล่าวไว้ชัดเจน ส่วนWarren Buffett ก็มีกล่าวไว้บ้าง แต่ก็ไม่ได้ลงลึกในรายละเอียดเท่าไรนัก

เท่าที่ผู้เขียนอ่านหนังสือลงทุนมา คนที่อธิบายไว้ละเอียดที่สุดว่าควรจะขายเมื่อไร เพราะอะไร คือ Philip Fisher ในบทที่ 6 When to Sell: And When Not To ของหนังสือ Common Stocks and Uncommon Profits

[อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ ท่าน Philip A. Fisher ได้ที่นี่ http://www.investopedia.com/university/greatest/philipfisher.asp#axzz1nbusC0CV]

WHEN TO SELL

เราอาจมีเหตุผลส่วนตัวมากมายที่จะขายหุ้น เช่น ขายหุ้นมาซื้อรถ ซื้อบ้าน ไปเที่ยวเมืองนอก

ในบทความนี้ ผู้เขียนจะพูดถึงเหตุผลทางการเงินเท่านั้น ซึ่งก็คือ ขายอย่างไรให้ได้ผลตอบแทนจากการลงทุนมากที่สุด

Philip Fisher ได้กล่าวไว้ว่า

"I believe there are three reasons, and three reasons only, for the sale of any common stock which has been originally selected according to the investment principles already discussed."

"ผมเชื่อว่า มีสามเหตุผล และสามเหตุผลเท่านั้น สำหรับการขายหุ้นที่ถูกเลือกตามหลักเกณฑ์การลงทุนที่ได้มีการกล่าวถึงไปแล้ว"

"หลักเกณฑ์การลงทุน" ในที่นี้ก็คือ หลักการลงทุน 15 ประการของ Philip Fisher อย่างไรก็ตาม นี้ไม่ใช่ใจความสำคัญของบทความนี้ นักลงทุนสามารถใช้หลักการเลือกหุ้นที่ตนถนัดได้ตามใจชอบ ตราบใดที่หลักการนั้นเป็นไปเพื่อการลงทุนระยะยาว

เรามาดูเหตุผลข้อแรกที่นักลงทุนควรขายหุ้นกันเลยดีกว่าครับ

"The first of these reasons should be obvious to anyone. This is when a mistake has been made in the original purchase and it becomes increasingly clear that the factual background of the particular company is, by a significant margin, less favorable than originally believed."

"เหตุผลแรกควรชัดเจนกับทุกคน ซึ่งก็คือ การเกิดข้อผิดพลาดในการซื้อ และ เกิดความชัดเจนขึ้นเรื่อยๆว่าข้อมูลความจริงเกี่ยวกับบริษัทนั้น แย่กว่าที่เราเชื่อไว้ตอนแรกอยู่มาก"

ความจริงก็คือ ไม่มีใครรู้จักบริษัทที่ตนเองกำลังจะซื้อ หรือถืออยู่ แบบทะลุปรุโปร่ง 100%

เรื่องหนึ่งที่รู้ได้ยาก คือ ความซื่อสัตย์ สุจริต ของผู้บริหาร ซึ่ง ทั้งWarren Buffett และ Philip Fisher ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก คือ ผู้บริหารควรเป็นผู้ที่มีทั้งความสามารถ และคุณธรรม

เรื่องความสามารถในการจัดการ อาจจะเห็นได้บ้างจากพวกอัตราส่วนต่างๆ เช่น ROA ROE และ ROIC

ในด้านของคุณธรรมเราคงต้องดูนอกงบ เช่น
1.) พฤติกรรมการซื้อ-ขายหุ้น - ผู้บริหารที่ดีควรทุ่มเทเวลาไปกับหน้าที่การบริหารบริษัท ไม่ใช่เก็งกำไรจากหุ้นบริษัทตัวเอง เพราะฉะนั้นโปรดระวังผู้บริหารที่ซื้อ-ขายหุ้นแบบรายวัน หรือ รายอาทิตย์
2.) พฤติกรรมการซื้อ-ขายหุ้นในช่วงที่มีการประกาศข้อมูลใหม่ๆ - โปรดระวังพวกที่ชอบซื้อหุ้นก่อนจะออกมาประกาศข่าวดี และขายหุ้นก่อนออกมาประกาศข่าวร้าย แบบนี้ถือว่าใช้ข้อมูลภายในเพื่อหาผลประโยชน์ส่วนตัว ใครจะรู้ว่าผู้บริหารท่านนี้จะไม่หาประโยชน์ส่วนตัวด้านอื่นๆจากทรัพสินย์ของบริษัทที่อยู่ในความควบคุม ดูแลของเขา
3.) การคาดการณ์ผลประกอบการ - เราเข้าใจว่าไม่มีใครคาดการณ์ยอดขาย และกำไรของบริษัทของตนได้ถูกต้องทุกครั้งไป แต่นักลงทุนก็ควรระวังพวกที่คาดการณ์ผิดบ่อยๆ และมักจะผิดไปในทางที่คาดไว้สูงเกินตัวเลขที่เกิดขึ้นจริง เจตนาของผู้บริหารแนวนี้มักจะเป็น การปั่นราคาหุ้น

นี้แค่ ตัวอย่างของวิธีการสืบสวนคุณธรรมของผู้บริหารนะครับ ในบางครั้ง เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอาจจะชัดเจนกว่านี้ เช่น ผู้บริหารถูกจับในข้อหาคดีฉ้อโกง ไม่จ่ายหนี้ อันนี้ก็คงต้องขายหุ้นทิ้งแบบไม่ต้องลังเล

สรุปคือ ถึงแม้คุณจะไม่รู้จักหุ้นที่คุณเพิ่งซื้อแบบทะลุปรุโปร่ง 100% แต่เมื่อซื้อมาแล้ว ความจริงด้านลบบางอย่างที่ส่งผลกระทบต่ออนาคตระยะยาวของบริษัทปรากฏเด่นชัดขึ้น เช่น พฤติกรรมไร้จรรยาบรรณของผู้บริหาร หรือ ความสามารถในการแข่งขันของบริษัทไม่ได้ดีอย่างที่คุณเชื่อตอนแรก คุณก็ไม่ควรลังเลที่จะขายทิ้งนะครับ

แต่ถ้าข่าวด้านลบนั้นเป็นเพียงแค่เรื่องชั่วคราว เช่น น้ำท่วม หรือราคาวัตถุดิบปรับตัวสูงขึ้น นั้นน่าจะเป็นโอกาสดีที่จะซื้อเพิ่ม แทนที่จะขาย

เหตุผลข้อสองที่นักลงทุนควรขายหุ้น คือ

"Sales should always be made of the stock of a company which, because of changes resulting from the passage of time, no longer qualifies in regard to [investment principles] to about the same degree it qualified at the time of purchase."

"การขายควรจะเกิดขึ้น เมื่อบริษัทนั้น มีการเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา จนทำให้บริษัทไม่สามารถผ่านเกณฑ์การลงทุนได้ใกล้เคียงกับตอนที่เพิ่งซื้อตอนแรก"

บริษัทส่วนใหญ่มักจะมีขาลง หรืออย่างน้อยก็มีการถึงจุดอิ่มตัว ซึ่งเป็นจุดที่กำไรของบริษัทโตได้เท่ากับอัตราการเติบโตของGDP หรือต่ำกว่า เมื่อบริษัทที่คุณถืออยู่ถึงจุดอิ่มตัว และไม่มีแนวโน้มว่าจะออกสินค้าใหม่ หรือบุกไปตลาดใหม่ภายใน2-3ปีข้างหน้า คุณอาจจะต้องพิจารณาขายหุ้นทิ้งไป

ทั้งนี้ การขายหุ้นนั้นขึ้นอยู่กับเกณฑ์การเลือกซื้อหุ้นของแต่ละคนด้วย ประเด็นของเหตุผลข้อนี้ก็คือ ถ้าบริษัทไม่ผ่านเกณฑ์หรือมาตรฐานที่นักลงทุนตั้งไว้แล้ว อาจจะถึงเวลาที่จะต้องขายทิ้ง

เหตุผลข้อสุดท้ายที่นักลงทุนควรขายหุ้น คือ

"If the evidence is clear-cut and the investor feels quite sure of his ground, it will probably pay him handsomely to switch into the situation with seemingly better prospects."

"ถ้ามีหลักฐานชัดเจน และนักลงทุนรู้สึกมั่นใจในเหตุผลของเขา การขายหุ้นเพื่อไปซื้อหุ้นอีกตัวที่ดูมีอนาคตที่ดีกว่า ก็น่าจะให้ผลตอบแทนได้ดี"

การถือหุ้นของบริษัทที่ทำให้กำไรโตได้ 12% ต่อปีนั้นฟังดูดี แต่คงจะดีกว่าถ้าเราย้ายเงินก้อนนี้ ไปซื้อหุ้นของบริษัทที่เราคาดว่าจะมีกำไรเติบโตได้ 20% ต่อปี

เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นได้ เช่น เราอาจจะถือหุ้นหนึ่งตัวซึ่งเป็นผู้นำตลาดอยู่ ต่อมามีคู่แข่งรายใหม่เข้ามา ทยอยแย่งส่วนแบ่งตลาดจากบริษัทของเราไปทีละนิดๆ เราอาจจะต้องลองมาดูใหม่แล้วว่า ใน3-5ปีข้างหน้า หุ้นตัวไหนน่าจะให้ผลตอบแทนได้ดีกว่ากัน

อย่างไรก็ตาม การขายหุ้นเพื่อไปซื้อหุ้นอีกตัวที่ดูเหมือนว่าจะมีอนาคตที่ดีกว่านั้นมีความเสี่ยงอยู่พอสมควร เพราะ เรามักจะรู้จักหุ้นที่เราถือมานานดีกว่าหุ้นที่เรากำลังจะซื้อใหม่ เพราะฉะนั้น เราอาจจะตัดสินใจพลาด เนื่องจากยังไม่รู้จักหุ้นตัวใหม่ดีพอ สุดท้ายพอซื้อมาแล้ว ถึงจะรู้ว่ามันไม่ได้ดีเท่าตัวเก่าเลย รู้ตัวอีกที ราคาหุ้นที่เราขายทิ้งไปอาจจะขึ้นไป 20%-30% แล้วก็เป็นได้ Philip Fisher จึงเตือนไว้ว่า

"[B]efore selling a rather satisfactory holding in order to get a still better one, there is need of the greatest care in trying to appraise accurately all elements of the situation."

"ก่อนที่จะขายหุ้นที่ดี เพื่อไปซื้อหุ้นที่ดีกว่า เราต้องมีความระมัดระวังอย่างสูงสุดในการประเมินทุกๆองค์ประกอบที่เกี่ยวข้อง ให้ได้อย่างแม่นยำ"

-------------------------------------------

จบไปแล้วครับ สำหรับสามเหตุผลที่นักลงทุนระยะยาวควรพิจารณาขายหุ้น ผู้เขียนสรุปจากหนึ่งChapterของหนังสือให้สั้นลงเหลือแค่หนึ่งบทความ

แต่ถ้าท่านผู้อ่านยังคิดว่าหนึ่งบทความก็ยังยาวไป จำยากอยู่ดี คุณALBERTOจากsettradeเขาสรุปมาให้กระชับขึ้นอีกครับ เขากล่าวไว้ว่า "สรุปคือขายเมื่อ " ไม่ดีจริง ไม่ดีแล้ว มีดีกว่า" "

1. ไม่ดีจริง -  ตอนซื้อนึกว่าดี (ผ่านเกณฑ์ที่ตั้งไว้) แต่พอค้นคว้าเพิ่มเติม หรือ ข่าวเพิ่งออกมาใหม่ ทำให้เรารู้ว่า มันไม่ได้ดีจริง เราก็ควรจะขาย

2. ไม่ดีแล้ว - ตอนซื้อก็ดีจริง แต่พอเวลาผ่านไปสักระยะ สภาพตลาดเปลี่ยน เช่น คู่แข่งเพิ่มขึ้น หรือ ผู้บริโภคเปลี่ยนความชอบ ทำให้ธุรกิจที่เคยดี ไม่ได้ดีอีกต่อไป เราก็ควรจะขาย

3. มีดีกว่า - เมื่อไรที่มีธุรกิจที่เรามั่นใจว่าจะให้ผลตอบแทนดีกว่า เราก็ควรจะขายหุ้นที่ถืออยู่ ไปซื้อหุ้นที่ดีกว่าแทน

"ไม่ดีจริง ไม่ดีแล้ว มีดีกว่า"..... สั้นๆ ได้ใจความ 


1. Fisher, Philip A. 2003. Common Stocks and Uncommon Profits. New Jersey: John Wiley & Sons, Inc: p.105 - 113.
2. ความไม่สบายใจกับคำว่า " หุ้น VI " [http://www.facebook.com/note.php?note_id=222714694492458]

Posted in: ,
Twitter