การลงทุนหุ้น และเศรษฐกิจ อัพเดทรายสัปดาห์

06 ธันวาคม 2554

4ข้อผิดพลาดที่นักลงทุนควรหลีกเลี่ยง


สิ่งที่จะถูกนำเสนอต่อไปนี้ เป็นข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นกับนักลงทุนจำนวนมาก แต่ก็เป็นสิ่งที่เราหลีกเลี่ยงได้ไม่ยากครับ


ข้อผิดพลาดที่หนึ่ง: บริษัทดีๆซื้อที่ราคาเท่าไรก็ได้

ก่อนที่จะลงทุน นักลงทุนต้องสามารถแย่งแยะได้อย่างชัดเจนว่า "บริษัทที่ดี" กับ "หุ้นที่ดี" ต่างกันอย่างไร

บริษัทที่ดี คือ บริษัทที่มีอนาคตที่ดี มีความได้เปรียบในการแข่งขันที่ชัดเจนและคงทน และถูกบริหารโดยผู้บริหารที่มีทั้งคุณธรรมและความสามารถ

หุ้นทีดี คือ บริษัทที่ดีและมีราคาตลาดที่ค่อนข้างถูก

ในตลาดบ้านเรา มีบริษัทดีๆมากมาย แต่นักลงทุนควรถามตัวเองว่า ราคาตลาดของบริษัทเหล่านั้นได้สะท้อนปัจจัยบวกเหล่านั้นไปหมดหรือยัง ถ้าราคาอยู่ในระดับที่สะท้อนปัจจัยบวกไปหมดแล้ว (หรืออยู่ในระดับที่สูงเกินกว่าปัจจัยพื้นฐานของบริษัทจะรองรับได้) โอกาสทำกำไรของเราก็มีไม่มากนัก ถึงแม้บริษัทนั้นจะดีแค่ไหนก็ตาม


ข้อผิดพลาดที่สอง: คำนึงถึงแต่ขาขึ้น

นักลงทุนหลายคนที่ทำการบ้านมาดีมาก มีความเชื่อมั่นในสิ่งที่ตนค้นคว้ามาสูง อาจจะพูดกับตัวเองว่า ถ้าเราซื้อหุ้นตัวนี้เก็บไว้นะ มันจะต้องขึ้นไป30%-50%แน่เลย เพราะเหตุผลต่างๆนาๆ ยังไงก็กำไรเห็นๆ เพราะฉะนั้น ต้องรีบซื้อเก็บไว้

ความจริงก็คือไม่ว่าคุณค้นคว้ามาดีแค่ไหนก็ตาม โอกาสที่จะเกิดเรื่องแย่ๆจนส่งผลลบต่อผลประกอบการและราคาหุ้นของบริษัทที่คนสนใจก็ยังคงมีอยู่ และของถูกก็มีโอกาสถูกลงได้อีก ผมขอยกตัวอย่างเลยละกันครับ

สมมุติว่า คุณค้นคว้าหุ้นCPFมาอย่างดี และมั่นใจว่าบริษัทดังกล่าวจะต้องมีอนาคตดี เพราะบริษัทนี้
1.) ควบคุมต้นทุนการผลิตได้ดีเยี่ยม
2.) มีฐานการผลิตที่ใหญ่ที่สุดในโลก
3.) แนวโน้มลูกค้าจากยุโรปจะซื้อไก่จากภูมิภาคเอเชียมากขึ้น เพราะชาวนาชาวสวนในยุโรปมีโอกาสสูงมากที่จะได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลน้อยลง

คุณจึงได้ข้อสรุปว่า CPFจะเป็นการลงทุนที่ดีอันหนึ่งในระยะยาว และซื้อเก็บไว้อย่างมีความสุข

ถึงแม้ปัจจัยบวกและเหตุผลที่กล่าวมาอาจจะเป็นความจริงทั้งหมด ผลประกอบการของบริษัทก็ยังมีโอกาสแย่ลงจนส่งผลกระทบต่อราคาหุ้นได้อยู่ดี ลองนึกดูสิครับว่า ถ้าเกิดไข้หวัดนกในไทยอีกจะเกิดอะไรขึ้นกับราคาหุ้นของCPF? ผมเดาว่าราคาคงตกลงไป25%-30%ได้ไม่ยาก

คำถามก็คือ คุณเตรียมใจกับราคาหุ้นที่ตกมาแรงๆหรือยัง? คุณได้ถามตัวเองหรือยังว่าถ้าหุ้นที่เราถืออยู่ ราคาตกลงมา50% คุณจะทำอย่างไร? ถ้าไม่ได้เตรียมพร้อมและเตรียมใจไว้ตั้งแต่แรก สิ่งที่เกิดขึ้นกับนักลงทุนส่วนใหญ่คือ เกิดความตื่นตระหนก ตกใจ ทำตัวไม่ถูก กลัวราคามันจะยิ่งลงลึกขึ้นไปอีกจนเราหมดเนื้อหมดตัว  และสุดท้ายก็จบด้วยการขายทิ้ง

การกระทำนี้เป็นข้อผิดพลาดที่จะเป็นตัวบั่นทอนกำไรจากการลงทุนได้อย่างมหาศาล เพราะนักลงทุนจะต้องขายหุ้นที่ราคาต่ำกว่าที่ตนเองซื้อบ่อยครั้งจนเกินไป เพราะฉะนั้น สิ่งที่นักลงทุนควรทำเพื่อหลีกเลี่ยงข้อผิดพลาดนี้คือ

1.) ศึกษาข้อมูลให้ดีก่อนตัดสินใจซื้อ มองหาทั้งปัจจัยบวกและปัจจัยลบที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต และเตรียมใจไว้ว่า สิ่งที่แย่ที่สุดมีโอกาสเกิดขึ้นได้เสมอ ถามตัวเองไว้ล่วงหน้าเลยว่า ถ้าปัจจัยลบอันใดอันหนึ่งเกิดขึ้นจริง เราจะปฎิบัติตนอย่างไร
2.) หลังจากทำการซื้อ เมื่อปัจจัยลบอันใดอันหนึ่งเกิดขึ้นจริง วิเคราะห์ดูว่าสิ่งนี้จะเป็นปัญหาต่อบริษัทในระยะสั้น หรือระยะยาว
3.) ถ้าปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นเพียงปัญหาระยะสั้น นักลงทุนควรพร้อมที่จะซื้อเพิ่ม เหมือนสาวๆพร้อมที่จะซื้อเสื้อผ้าและสินค้าคุณภาพช่วงลดกระหน่ำซัมเมอร์ เซลส์ นักลงทุนที่ดีต้องซื้อของดีตอนราคาถูกๆ

ผมต้องขอขยายความเรื่องความนานของปัจจัยลบนิดนึงครับ เพราะบางครั้ง มันก็ยากเหลือเกินที่จะบอกว่าอันไหนเป็นปัญหาระยะสั้น ระยะยาว

ตัวอย่างของปัญหาระยะยาว คือ การจัดการภายในบริษัทไม่ดี ผู้บริหารหรือเจ้าของไม่มีความซื่อสัตย์ สภาพการแข่งขันในธุรกิจที่รุนแรงจนแข่งกันตัดราคากันเพื่อแย่งลูกค้า  (ถ้าบริษัทมีปัจจัยลบเหล่านี้ คุณควรทราบ และไม่เข้าไปซื้อตั้งแต่แรกแล้วนะครับ)

ตัวอย่างของปัญหาระยะสั้น คือ ภาวะเศรษฐกิจหดตัว และอื่นๆอีกมากมาย แล้วแต่ภาคธุรกิจ

พูดสั้นๆคือ ปัญหาระยะยาวส่วนใหญ่จะเป็นปัญหาภายในที่ขาดเดาไม่ได้ว่าจะจบเมื่อไร แต่ปัญหาระยะสั้น คือปัญหาที่ใครๆก็รู้ว่ามันจะต้องคลี่คลายในที่สุด เช่นวิกฤตเศรษฐกิจ และภัยธรรมชาติ เป็นต้น

สรุปว่า นักลงทุนควรเตรียมใจกับสถานการณ์แย่ๆที่อาจเกิดขึ้น และเตรียมพร้อมที่จะซื้อเพิ่มเสมอ ถ้าราคาหุ้นตก เพราะปัญหาที่ไม่ใช่ปัจจัยระยะยาว แต่คุณกลับไม่กล้าซื้อเพิ่ม คุณก็ไม่ควรซื้อหุ้นตัวนั้นตั้งแต่แรก


ข้อผิดพลาดที่สาม: ขายเร็วไป

สิ่งที่บั่นทอนผลตอบแทนของนักลงทุนได้มากที่สุดตัวหนึ่งก็คือ การขายหุ้นดีๆเร็วจนเกินไป อย่าลืมว่าคุณสามารถขาดทุนจากหุ้นได้มากที่สุดเท่ากับ100% แต่ถ้าหุ้นที่คุณเลือกมานั้นมีคุณภาพ การที่จะได้ผลตอบแทนคืนมาเกิน100%นั้นไม่ใช่เรื่องยากเลย ถ้าเป้าหมายของคุณคือการทำกำไรให้ได้มากที่สุดจากการลงทุน คุณต้องใจแข็งพอที่จะถือหุ้นที่ดีได้นานหลายๆปี

สาเหตุที่คนส่วนใหญ่ไม่สามารถถือยาวได้นั้นก็คือ พวกเขาไม่ตระหนักว่าผลตอบแทนที่เราสามารถหาได้จากการลงทุนนั้นจะดีกว่าการเก็งกำไรไปวันๆมากขนาดไหน พวกเขามีสมมุติฐานที่ผิดๆว่า ถ้าราคาหุ้นปรับตัวขึ้นไป50%-100% หุ้นไม่น่าจะขึ้นต่อได้แล้ว อย่างไรก็ตาม คนที่ศึกษาประวัติของตลาดหุ้นดูสักนิดก็จะรู้ว่านั้นไม่ใช่ความจริง หุ้นดีๆหลายๆตัวก็ขึ้นได้5-10เท่า ไม่ว่าจะเป็นCPF BANPU PB SPALI และอื่นๆอีกมากมาย แต่ว่ากว่าจะขึ้นได้ขนาดนั้นก็ต้องใช้เวลาหลายปี คนที่ขายไปก่อนก็ต้องเสียโอกาสที่จะทำกำไรมหาศาลนั้นไป เหตุการณ์เช่นนี้ ผู้เขียนเจอกับตัวมาแล้วครับ เมื่อประมาณกลางปี2009 ผมซื้อSPALIไปที่ประมาณสองบาทกว่าๆ หลังจากซื้อได้ไม่ถึงปี ผมได้ขายไปที่ราคา6บาทกว่าๆ ปัจจุบัน SPALIราคา13.20แล้วครับ (ราคาปิดเมื่อวันศุกร์ 2 ธันวาคม)

สิ่งที่ผมแนะนำให้ทำคือ หากราฟของราคาหุ้นของบริษัทดีๆมานั่งดูครับ ดูเทียบกับกำไรก็ได้ของบริษัทนั้นๆก็ได้ (เหมือนที่Peter Lynchทำ ในOne Up on Wall Street) ลองศึกษาดูครับแล้วคุณจะพบว่าการรีบขายอาจทำให้คุณพลาดอะไรไปบ้าง



ข้อผิดพลาดที่สี่: ซื้อเยอะไป สำหรับการตั้งซื้อเพียงแค่ครั้งเดียว

การซื้อของดีตอนราคาถูกเป็นความคิดที่ถูกต้อง และสมเหตุสมผล แต่ของถูกย่อมมีราคาถูกลงได้อีกเสมอ ถ้าคนส่วนใหญ่ในตลาดยังแย่งกันขายหุ้นตัวนั้นอยู่ เพราะฉะนั้นการซื้อ หุ้นเยอะเกินไปภายในการตั้งซื้อครั้งเดียว มีผลเสียอยู่สองอย่างคือ

1.) นักลงทุนมีความเสี่ยงที่จะมีอารมณ์ที่เชื่อมโยงกับราคาหุ้นมาเกินไป เช่นถ้าซื้อทีเดียวเยอะๆ แล้วราคาหุ้นมันวิ่งขึ้นทันที นักลงทุนก็เห็นกำไรที่เป็นตัวเงินที่อยู่ในพอร์ทเพิ่มขึ้นเป็นกอบเป็นกำ ทำให้อดใจที่จะถือต่อไม่ไหวจนต้องขายเอากำไรไว้ก่อน รู้ตัวอีกทีหุ้นมันขึ้นไปอีกตั้งเยอะแล้ว
2.) นักลงทุนจะเสียโอกาส ซื้อหุ้นเพิ่มตอนที่ราคาหุ้นมันถูกลง

ทางแก้ก็ง่ายนิดเดียวครับ ทยอยซื้อ


สิ่งเหล่านี้คือ ข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นกับนักลงทุนจำนวนมาก ถ้าท่านผู้อ่านทั้งหลายปิดจุดอ่อนเหล่านี้ได้ คุณได้นำหน้านักลงทุนส่วนใหญ่ไปอย่างน้อยหนึ่งก้าวแล้วครับ

Posted in:
Twitter