การลงทุนหุ้น และเศรษฐกิจ อัพเดทรายสัปดาห์

17 พฤศจิกายน 2554

Price-Earning Ratio: Part I ความหมาย และที่มาของP/Eของแต่ละบริษัทที่ต่างกัน


ราคาปิดต่อกำไรสุทธิ (P/E Ratio) อาจจะเป็นอัตราส่วนที่โด่งดังและรู้จักกันมากที่สุดก็ว่าได้ มีนักลงทุนที่มีชื่อเสียงมากมายที่ใช้อัตราส่วนนี้ในการเลือกหุ้น

ก่อนที่เราจะขยายความว่าอัตราส่วน P/Eของแต่ละบริษัททำไมจึงแตกต่างกัน เรามาทำความเข้าใจกับความหมายของมันกันก่อนดีกว่าครับ

P/E Ratio คือ ราคาต่อหุ้น(Price per share) หารด้วย กำไรสุทธิต่อหุ้น(Earning per share) โดยตัวกำไรได้มาจากกำไรของบริษัทในรอบ12เดือนล่าสุด

ตัวอย่าง

บริษัท เชอร์วู้ด เคมิคอล จำกัด (มหาชน): SWC

งบปีสิ้นสุด 31 ธันวาคม 2010 SWCมีกำไรทั้งสิ้น76,784,576.15บาท และจำนวนหุ้นสามัญที่อยู่ในตลาดหุ้นทั้งหมด150,000,000หุ้น เพราะฉะนั้น

กำไรต่อหุ้น (EPS) = 76,784,576.15บาท/150,000,000หุ้น = 0.51 บาทต่อหุ้น

ณ สิ้นปี 2010 ราคาของSWCอยู่ที่5.20ต่อหุ้น เพราะฉะนั้น

ราคาปิดต่อกำไรสุทธิ (P/E) ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2010 = 5.20บาท/0.51บาท = 10.19

P/E = 10.19 แปลว่าอะไร?

ถ้าแปลแบบสั้นๆ รวดเร็วทันใจ เราก็จะได้ความหมายว่า ถ้าเราจะซื้อSWCเมื่อปลายปี2010 เราต้องซื้อบริษัทดังกล่าวที่ราคาเป็นสิบเท่าของกำไร(ต่อหุ้น)สิบสองเดือนล่าสุด

ถ้าตีความให้ละเอียดขึ้นเราก็จะได้ความหมายว่า สมมุติว่ากำไรของบริษัทอยู่คงที่ไปเรื่อยๆ เราต้องรอเป็นเวลา10ปี กว่าบริษัทจะทำกำไรให้เราได้เท่ากับมูลค่าเงินที่เราจ่ายเพื่อซื้อบริษัทในตอนแรก

คำถามคือ ทำไมบางบริษัทมีP/Eที่สูงกว่าบริษัทอื่นๆ ทำไมนักลงทุนถึงยอมจ่ายราคาหุ้นที่มีมูลค่าเป็นหลายๆเท่า อย่างเช่น20-30เท่า ของกำไรต่อปี ในเมื่อหลายๆบริษัทก็ถูกขายอยู่ที่P/Eแค่10หรือต่ำกว่า อย่างSWCเป็นต้น แบบนี้ คนซื้อ TF : บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) ไม่ต้องรอกันเป็น20ปีเลยเหรอกว่าจะคุ้มค่าเงินที่ลงทุนไป (ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2011 P/E ของTF อยู่ที่20.96)


จริงๆแล้ว P/E จะสูงจะต่ำ ขึ้นอยู่กับสามปัจจัยดังต่อไปนี้ คือ

1. ความคาดหวังของอัตราการเติบโตของกำไรที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

ถ้าตลาดคาดหวังว่า บริษัทใดบริษัทหนึ่งจะมีการอัตราการเติบโตที่สูงมากๆ เช่นประมาณ30%ต่อปีในทุกๆปีของ5ปีข้างหน้า ตลาดก็จะให้P/Eกับหุ้นตัวนี้สูงมาก แต่ถ้าบริษัทไหนไม่น่าจะโตได้มากมาย P/Eก็จะต่ำ
สมมุติว่ามีหุ้นอยู่สองตัว หุ้นของบริษัทA และหุ้นของบริษัทB

บริษัทAเป็นบริษัทขายน้ำเปล่าทั่วไป อนาคตก็ดูธรรมดาไม่มีท่าทีว่าจะขยายตลาดไปต่างประเทศ หรือแย่งตลาดจากคู่แข่งมาได้ ตลาดจึงมีความคาดหวังกับอัตราการเติบโตของบริษัทที่ค่อนข้างต่ำ หรือ ประมาณอัตราการขยายตัวของGDPในแต่ละปี ซึ่งเท่ากับ3%-6%

บริษัทBเป็นบริษัทขนส่งมวลชน คือ รถไฟฟ้า ซึ่งนักลงทุนส่วนใหญ่คาดว่า จะมีอัตราการเติบโตที่ดี เพราะกรุงเทพฯนับวันก็จะยิ่งรถติด คนต้องหันมาใช้รถไฟฟ้าเยอะขึ้นแน่นอน ตลาดจึงมีความคาดหวังสูงว่าอย่างน้อยๆในอนาคต บริษัทนี้ต้องโตประมาณ30%ต่อปีไปอีกนาน

ถ้าสมมุติต่อว่า จากจุดเริ่มต้น หุ้นสองตัวนี้มีกำไรต่อหุ้นเท่ากัน และราคาต่อหุ้นเท่ากัน จนทำให้หุ้นทั้งสองตัวมีP/E = 15 พอเวลาผ่านไป นักลงทุนเริ่มคาดเดาว่า บริษัทAจะโตค่อนข้างช้า บริษัทBจะโตเร็วมากๆ จากความคาดหวังดังกล่าว นักลงทุนจึงเทขายหุ้นAจนราคาปรับตัวลง และแย่งกันซื้อหุ้นBจนราคาปรับตัวขึ้น จนสุดท้าย ความคาดหวังนี้ถูกสะท้อนในP/E คือ หุ้นA มีP/Eเหลือแค่6 แต่หุ้นBกับมีP/Eสูงถึง40

คนที่ยอมซื้อหุ้นBที่P/Eเท่ากับ40นั้นก็คงจะให้เหตุผลว่า "กำไรในอดีตไม่สำคัญ สำคัญที่กำไรในอนาคต วันนี้อาจจะดูเหมือว่าผมจ่ายแพงเกินไปเหมือนเปรียบเทียบกำไรในช่วง12เดือนที่ผ่านมา แต่จริงๆแล้วผม"ซื้อกำไรในอนาคต"ซึ่งจะสูงกว่ากำไรในอดีตมาก" คนที่เลือกที่จะมองมุมนี้ อาจจะพูดได้ว่าP/Eเท่ากับ40นั้นไม่ได้ถือว่าแพง เพราะฉะนั้น การที่นักลงทุนส่วนใหญ่หรือตลาดยอมจ่ายP/Eสูงๆก็เพราะความคาดหวังที่ว่าบริษัทจะมีอัตราการเติบโตที่สูงมากในอนาคตนั้นเอง

2. ความแน่นอนของอัตราการเติบโตที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

ความคาดหวังของอัตราการเติบโตเป็นเพียงปัจจัยหนึ่งเท่านั้น อีกปัจจัยหนึ่ง ซึ่งเกี่ยวข้องกับปัจจัยแรกโดยตรง คือความไม่แน่นอนหรือความเสี่ยงของอัตราการเติบโตที่จะเกิดขึ้น

ถ้าสมมุติว่า มีอยู่บริษัทหนึ่งมีอนาคตที่ดูดี น่าจะมีอัตราการเติบโตที่สูง เพราะบริษัทพึ่งได้ลูกค้าเพิ่ม และอยู่ในช่วงขยับขยายโรงงาน แต่ว่าบริษัทดังกล่าวอยู่ในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนรถยนต์ ซึ่งเป็นธุรกิจที่มีความเสี่ยงมากและมีอัตราการเติบโตที่ไม่แน่ไม่นอน แกว่งไปมาตามเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลก เพราะฉะนั้น ถึงแม้ว่าอนาคตอาจจะมีโอกาสไปได้สวย ความเสี่ยงที่มีค่อนข้างสูงนั้นจะเป็นตัวกดให้P/Eนั้นต่ำลงกว่าบริษัทที่มีอัตราการเติบโตที่แน่นอนกว่า

3. ความต้องการเงินทุนเพิ่ม

บริษัทที่เติบโตได้โดยไม่ต้องใช้เงินลงทุนเพิ่มมากนักก็จะมีเงินเหลือให้เจ้าของบริษัทเยอะ บริษัทไหนต้องอาศัยการลงทุนเพิ่มมากๆเพื่อบรรลุเป้าหมายในการทำให้กำไรโตขึ้น ก็จะเหลือเงินให้เจ้าของน้อย เพราะกำไรที่ได้มาก็จะถูกดูดกลับไปลงทุนเพิ่มหมด หรือ เรียกได้ว่า "โตไปก็ไร้ค่า" สำหรับผู้ที่หุ้น

เพราะฉะนั้น บริษัทที่โตได้โดยไม่ต้องอาศัยแหล่งเงินทุนเพิ่มมากนัก ก็จะมีP/Eที่สูงกว่า บริษัทที่จะเติบโตที่ไร ต้องใช้เงินขยายกิจการจำนวนมหาศาลทุกทีไป



มาถึงตรงนี้ ผู้อ่านก็คงเข้าใจความหมายของP/E และที่มาที่ไปแล้วว่า ทำไมP/Eบางบริษัทถึงสูงกว่าบริษัทอื่นๆ ในบทความต่อไป (Price-to-Earning Ratio: Part II) เราจะมาดูกันนะครับว่าเราจะนำP/Eไปใช้ประโยชน์ได้อย่างไรบ้าง


Posted in:
Twitter