การลงทุนหุ้น และเศรษฐกิจ อัพเดทรายสัปดาห์

08 มกราคม 2555

ลงทุนปี2012: ถือแต่เงินสดรอหุ้นตกดีมั้ย?

ผมไม่รู้ว่าตัดสินใจถูกรึเปล่าที่ลด port ไปเกือบจะหมดแล้ว เพราะกลัววิกฤติยูโร กลัวบาดเจ็บมากเหมือนตอน subprimeหรือว่าผมไม่ควรจะสนใจมันดีครับ แล้วกลับไปลงทุนตามปรกติ? - Chatchai M.

จริงอยู่ครับว่าปีนี้มีอะไรปัจจัยเสี่ยงรอนักลงทุนอยู่มากมาย แต่การเก็บเงินสดร้อยเปอร์เซ็นต์ก็ไม่ใช่ทางออกที่ดีนะครับ

[อ่าน ลงทุนปี2012: ปัจจัยลบและปัจจัยบวก]

เรื่องที่ทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกสั่นคลอนอยู่ทุกวันนี้คงไม่พ้นเรื่องยุโรป อย่างไรก็ตาม บ้านเราเองก็มีปัญหาเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นความเสียหายจากน้ำท่วม ซึ่งนอกจากทำให้สูญเสียรายได้จากการผลิตแล้ว ยังเป็นตัวชลอการตัดสินใจของต่างชาติที่จะมาลงทุนเพิ่มในไทยอีกด้วย เรื่องของการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำที่จะส่งผลให้ต้นทุนของผู้ประกอบการปรับตัวสูงขึ้น และเรื่องการโอนหนี้ออกจากงบดุลของรัฐบาลไปให้ธนาคารแห่งชาติรับผิดชอบ ซึ่งถ้ารัฐบาลทำเรื่องการโอนหนี้ไม่ดี ความเชื่อมั่นของต่างชาติต่อประเทศไทยจะถูกบั่นทอนอย่างรุนแรง และระบบเศรษฐกิจบ้านเราจะเสียหายหนัก

เมื่อสถานการณ์เป็นเช่นนี้ ไม่แปลกหรอกครับที่นักลงทุนหลายๆท่านจะคิดกับตัวเองว่า "เก็บเงินสดไว้เยอะๆดีกว่า ตลาดหุ้นลงแรงๆเราจะได้ไม่เจ็บตัว"

แต่ทว่า นักลงทุนที่ดีไม่ควรป้องกันความมั่งคั่งของตนด้วยการดึงเงินออกจากตลาดทุกครั้งที่กังวลว่าหุ้นจะตก และกลับไปซื้อหุ้นเมื่อรู้สึกสบายใจที่จะลงทุนมากขึ้น เพราะนั้นคือหนทางสู่การ"ขายถูก ซื้อแพง"

นักลงทุนที่ดีสามารถป้องกันความมั่งคั่งของตนเองจากความเสี่ยงของตลาดหุ้นได้ด้วยการจัดสรรปันส่วนสินทรัพย์ (asset allocation) ซึ่งก็คือ การแบ่งสัดส่วนเงินในพอร์ทการลงทุนของเราว่าจะลงในหุ้นกี่เปอร์เซ็นต์ ซื้อหุ้นกู้/ฝากธนาคารกี่เปอร์เซ็นต์ เป็นต้น โดยสัดส่วนที่จัดออกมานี้จะต้องเป็นสัดส่วนที่ให้ผลตอบแทนระยะยาวที่ดีพอกับเป้าหมายที่กำหนด และในขณะเดียวกันมีความเสี่ยงที่นักลงทุนเองรับได้


นักลงทุนควรจัดพอร์ทอย่างไร? Stocks vs Bonds

ตอนนี้นักลงทุนอาจถามตัวเองแล้วว่า "แล้วผม/ดิฉันจะรู้ได้อย่างไรว่าควรจะลงทุนในหุ้นและหุ้นกู้มากน้อยขนาดไหน?"

ในการจัดพอร์ทการลงทุนนั้น นักลงทุนควรคำนึงถึงปัจจัยดังต่อไปนี้


1.) จุดประสงค์ของการลงทุน [INVESTMENT GOAL]

ผมเข้าใจครับว่าทุกคนมีเป้าหมายในการทุนเหมือนกันในก็คือ ทำกำไร แต่นักลงทุนควรถามตัวเองด้วยว่าจุดประสงค์ที่แท้จริงในการลงทุนนั้นคืออะไร

การมีจุดประสงค์ที่ชัดเจนจะช่วยบอกนักลงทุนได้ว่า 1. นักลงทุนต้องการเงินมาจับจ่ายระหว่างการลงทุนหรือไม่ 2. จำเป็นหรือไม่ที่นักลงทุนจะต้องบรรลุเป้าหมายภายในเวลาที่กำหนดอย่างเคร่งครัด

หลายๆท่านอาจบอกว่าลงทุนเพื่อจะได้มีเงินมาใช้รายเดือน/รายปีเพิ่มเติม บางคนอาจออมเงินเพื่อส่งลูกเรียนมหาลัย บางท่านอาจจะต้องการสร้างความมั่งคั่งและเก็บเงินไว้เลี้ยงตัวเองตอนเกษียณ

คนที่ต้องการเงินในการจับจ่ายระหว่างการลงทุนมาก ก็ควรจะลงทุนในหุ้นน้อยกว่าคนที่ไม่ต้องการเงินมาใช้เพิ่มเติมเท่าไรนัก เพราะเราไม่สามารถพึ่งพิงรายได้จากหุ้นได้เท่ากับรายได้จากหุ้นกู้

ในขณะเดียวกัน ถ้านักลงทุนต้องไปถึงเป้าหมายการลงทุนภายในเวลาที่กำหนดอย่างเคร่งครัด เช่น ออมเงินเพื่อส่งลูกเข้ามหาลัย นักลงทุนก็ควรจะลงทุนในหุ้นให้น้อยกว่าคนที่ไม่ได้เคร่งครัดกับเป้าหมายมากนัก เพราะการลงทุนในหุ้นมากๆอาจจะทำให้คุณได้ก้อนเงินที่ต้องการช้ากว่าที่ตั้งใจไว้ไป1-2ปีก็เป็นได้


2.) ช่วงเวลาในการลงทุน [TIME HORIZON]

เมื่อรู้จุดประสงค์ในการลงทุนอย่างชัดเจนแล้ว นักลงทุนต้องถามตัวเองต่อว่า เราต้องการเงินนั้นเมื่อไร

แน่นอนครับว่าพนักงานบริษัทอายุยี่สิบเศษๆที่ต้องการออมเงินไว้เลี้ยงตัวเองตอนเกษียณย่อมมีช่วงเวลาในการลงทุนยาวกว่าคุณพ่อที่ต้องเก็บเงินซื้อบ้านใหม่ภายในห้าปี ในกรณีนี้พนักงานผู้นี้ควรจะถือหุ้นในพอร์ทเป็นสัดส่วนมากกว่าที่คุณพ่อควรจะถือครับ

สาเหตุก็เพราะว่า ตามสถิติแล้ว ตลาดหุ้นเป็นแหล่งการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนที่ดีมากในระยะยาว แต่ในระยะสั้น ตลาดหุ้นมักจะเอาแน่เอานอนไม่ได้เสียเลย เพราะฉะนั้น ใครที่มีช่วงเวลาในการลงทุนที่ยาวก็ควรจะถือหุ้นเยอะ และใครที่ช่วงเวลาการลงทุนสั้นก็ควรจะถือหุ้นน้อยครับ


3.) ความทนต่อความเสี่ยง [RISK TOLERANCE]

ในหมู่นักการเงินอาชีพ ความเสี่ยงมักจะหมายถึงความแกว่งตัวของราคาสินทรัพย์ เพราะฉะนั้น การถามว่า"คุณรับความเสี่ยงของหุ้นได้มากขนาดไหน?" จริงๆแล้วคือการถามว่า "คุณรับการแกว่งตัวของราคาหุ้นได้มากขนาดไหน?"

จริงอยู่ครับว่าในระยะยาว ตลาดหุ้นมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นเรื่อยๆ แต่ในช่วงระหว่างทาง ราคาหุ้นมักจะแกว่งไปมาและยากที่จะคาดเดา จนเป็นที่รู้กันว่าหุ้นนั้นมี"ความเสี่ยง"มากกว่าหุ้นกู้

ถ้านักลงทุนรับ""ความเสี่ยง"ได้มาก คือ ไม่สะทกสะท้านแม้ว่ามูลค่าของพอร์ทการลงทุนจะแกว่งเพียงใด คุณก็ควรจะถือหุ้นให้มากๆ แต่ถ้านักลงทุนรับไม่ได้ที่จะเห็นมูลของพอร์ทแกว่งขึ้นลง เช่น พอหุ้นขึ้นแรงๆต้องกระโดดเข้าไปซื้อ พอตลาดลงแรงๆคุณก็จะรีบขาย คุณก็ควรจะถือหุ้นให้น้อยหน่อยครับ

------------------------------------------

หลังจากการกำหนดจุดประสงค์ที่ชัดเจน และการทำความรู้จักตัวเองให้มากขึ้น นักลงทุนคงพอจะนึกออกว่าควรถือหุ้นมากขึ้นหรือน้อยลงจากที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน แต่ถ้ายังนึกไม่ออกทางSETTALKก็มีอุปกรณ์ช่วยมานำเสนอครับ

อุปกรณ์นี้ถูกจัดทำขึ้นโดย Money Magazine ครับ

การใช้ก็ง่ายนิดเดียวครับ เพียงแค่ตอบคำถาม4คำถาม คุณก็จะได้คำแนะนำที่ต้องการแล้วครับ ผมจะลองสาธิตวิธีการใช้ โดยใช้พนักงานบริษัทอายุประมาณ35ปีเป็นตัวอย่างประกอบนะครับ

คำถามแรกคือ When do you need the money? = คุณต้องการเงินเมื่อไร?
คำถามนี้ตรงกับข้อสองที่เพิ่งถูกกล่าวไปด้านบนครับ ซึ่งก็คือ"ช่วงเวลาในการลงทุน" ในกรณีตัวอย่าง พนักงานบริษัทของเรายังไม่ต้องการเงินก้อนมาใช้เร็วๆนี้ เพราะฉะนั้น เขาจึงตอบไปว่า "5-10 years" = 5-10 ปี

คำถามที่สองคือ How much risk can you handle? = คุณรับความเสี่ยงได้มากแค่ไหน?
คำถามนี้ตรงกับข้อสามครับ ใส่ระดับความทนความเสี่ยงของคุณเข้าไปได้เลยครับ สำหรับกรณีพนักงานตัวอย่างของเรา ผมจะสมมติว่าเขารับความเสี่ยงได้พอสมควรครับ คำตอบที่เหมาะสมจึงเป็น "A reasonable amount" = รับความเสี่ยงได้จำนวนหนี่ง

คำถามที่สามคือ How flexible you are? = คุณหยืดหยุ่นกับเป้าหมายได้ขนาดไหน?
คำถามข้อนี้ตรงกับข้อย่อยของข้อหนึ่งครับ ในเรื่องของ ความจำเป็นที่นักลงทุนจะต้องบรรลุเป้าหมายภายในเวลาที่กำหนดอย่างเคร่งครัด ในส่วนของพนักงานวัยสามสิบห้าของเรานั้น เขาไม่เคร่งครัดกับเป้าหมายมากเท่าไรครับ ถึงแม้จะไม่บรรลุเป้าหมาย เขาก็ยังมีรายได้จากการทำงานอยู่ เขาจึงตอบว่า "If I miss my goal a year or two I'll still be ok" = ถ้าฉันต้องพลาดเป้าไป1-2ปี ฉันรับได้

คำถามสุดท้ายคือ During market sell-offs, do you = เมื่อตลาดอยู่ในช่วงขาลงคุณจะ?
ข้อนี้ผมแนะนำให้ตอบว่า See an opportunity to buy more stocks = มองเห็นโอกาสที่ซื้อหุ้นเพิ่ม เพราะนั้นคือสิ่งที่ถูกต้องครับ เอาเป็นว่าพนักงานตัวอย่างคนนี้ทำตามที่ผมแนะนำละกันครับ
 
และนี้คือผลที่ได้ครับ
 

ผลคือโปรแกรมนี้แนะนำให้ถือหุ้น 55% (40% หุ้นในประเทศ + 15% หุ้นต่างประเทศ) และถือหุ้นกู้อีก 45%

มาถึงตรงนี้ ผู้อ่านหลายๆท่านอาจเกิดคำถามขึ้นในใจว่า
1.) จะหาโปรแกรมนี้ได้จากไหน?
2.) หลังจากใส่ข้อมูลเรียบร้อยแล้ว ฉันต้องซื้อหุ้นตามสัดส่วนที่โปรแกรมนี้แนะนำทันทีเลยหรือเปล่า?
3.) ถ้าฉันซื้อหุ้นตามนี้แล้ว ต่อมาหุ้นมันขึ้น/ลง ฉันควรทำอย่างไรต่อ?
4.) โปรแกรมนี้แนะนำให้ซื้อหุ้นต่างประเทศด้วย แล้วนักลงทุนรายย่อยในไทยจะซื้อหุ้นต่างประเทศได้อย่างไร

Posted in: ,
Twitter