ปี2011เป็นปีทีลงทุนค่อนข้างยากปีหนึ่งเลยทีเดียวครับ เพราะตลาดหุ้นไทย และตลาดหุ้นทั่วโลกมีความแกว่งตัวมากเป็นประวัติการณ์ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะมีข่าวแย่ๆเกี่ยวกับเศรษฐกิจประเทศตะวันตกคอยรังควานอยู่ตลอด โดยเฉพาะความกลัวเรื่องดับเบิ้ลดิปในอเมริกา และวิกฤตหนี้ในยุโรป อีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้การลงทุนในปี2011นั้นทำได้ยากก็คือ การที่เรารู้ค่อนข้างแน่นอนว่าจะมีเรื่องร้ายๆเกิดขึ้ันอย่างหนี้เสียของกรีซ เป็นต้น ในขณะเดียวกันหุ้นก็ไม่ได้มีราคาแพงเท่าไรนัก (ช่วงที่คนตกใจเทขายกันในเดือนกันยายน P/Eตลาดลดลงไปที่ประมาณ10เท่าเองครับ) สิ่งนี้ทำให้เราตัดสินใจได้ยากขึ้นว่าตกลงเราควรลงทุนหุ้นหรือเก็บเงินสดไว้ก่อนดี
อย่างไรก็ตาม ผมต้องขอแสดงความเสียใจกับผู้อ่านและนักลงทุนทั้งหลายด้วยครับว่า ปี2012คงไม่ได้ง่ายกว่าปี2011เท่าไรนัก เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลา เราไปดูกันเลยดีกว่าครับว่าอะไรน่าจะเกิดขึ้นบ้างในปีหน้าโดยเริ่มจาก ปัจจัยลบก่อนครับ
ปัจจัยลบ 1 วิกฤตหนี้ในยุโรป
ถึงแม้ผู้นำจากยูโรโซนจะประกาศแผนล่าสุดออกมาแล้วก็ตาม รายละเอียดส่วนใหญ่ของแผนกลับให้ความสำคัญไปที่การป้องกันไม่ให้ปัญหาหนี้รัฐบาลเกิดขึ้นซ้ำอีกในอนาคต แต่แทบไม่ได้พูดถึงเลยว่าจะทำให้ประเทศกลุ่มPIIGSนั้นมีความสามารถในการจ่ายหนี้เพิ่มขึ้นได้อย่างไร และจะป้องกันไม่ให้ปัญหาลุกลามไปประเทศอื่นๆได้อย่างไร เพราะฉะนั้น ถ้าคุณคิดว่าปัญหายุโรปจะจบเร็วๆนี้ คุณคิดผิดมหันต์ วิกฤตครั้งนี้จะแย่ลงไปอีก และผู้นำยุโรปยังต้องประชุมเพื่อหาทางออกกันอีกแน่นอน
สิ่งที่จะแตกต่างจากปี2011ก็คือ ในปี2012จุดสนใจจะถูกเบี่ยงเบนจากกรีซและอิตาลีไปที่ประเทศที่มีความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจกว่า เช่น เยอรมัน กับฝรั่งเศส เพราะมีความเสี่ยงสูงว่าประเทศเหล่านี้จะโดนลดอันดับความน่าเชื่อถือของหนี้รัฐบาล อันเนื่องมาจากภาวะเศรษฐกิจหดตัวทั่วยุโรป และหนี้เสียของรัฐที่อาจเกิดในประเทศเพื่อนบ้าน (ถ้าผู้อ่านสนใจรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับวิกฤตหนี้ในยุโรป กรุณาอ่านซีรี่ส์NO WAY OUTครับ)
ปัจจัยลบ 2 ปัญหาหนี้รัฐบาลในอเมริกา
อเมริกาเป็นอีกประเทศหนึ่งที่มีปัญหาหนี้เยอะไม่แพ้ยุโรป แต่นักลงทุนยังไม่กลัวเท่าไรเพราะอเมริกาเป็นประเทศมหาอำนาจที่มีขนาดของเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลกมานานหลายทศวรรษ คนจึงมีความเชื่อมั่นมากกว่า นอกจากนั้น วิกฤตในยุโรปทำให้นักลงทุนมีทางเลือกในการลงทุนน้อยลง คนจึงต้องหนียูโรไปพึ่งดอลล่าร์เสียก่อน
ผู้ที่ติดตามข่าวก็จะรู้ดีว่า รัฐบาลของสหรัฐอเมริกาได้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อหาทางลดจำนวนหนี้ของรัฐบาลโดยเฉพาะ แต่ก็ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆทั้งสิ้น ในปี2012ก็ไม่น่าจะมีความคืบหน้าเช่นเดียวกัน เพราะ1.)โอบามาจะเริ่มใช้เวลากับการหาเสียงเยอะขึ้น และใช้เวลากับการทำงานน้อยลง 2.) รัฐบาลของโอบามาคงไม่กล้าเปลี่ยนนโยบายที่มีอยู่แบบฉับพลันก่อนการเลือกตั้ง เพราะฉะนั้น อย่าคาดหวังว่าก้อนหนี้ของอเมริกาจะมีขนาดเล็กลงเร็วๆนี้
ปัจจัยลบ 3 ความขัดแย้งระหว่างตะวันตกกับอิหร่าน
ข่าวนี้สื่อไทยไม่ค่อยนำมาออกเท่าไร แต่ก็เป็นปัญหาที่น่าจับตามองทีเดียวครับ
เรื่องมันมีอยู่ว่า อิหร่านอ้างว่าต้องการสร้างโรงงานที่ใช้พลังงานปรมาณูเพื่อผลิตไฟฟ้า ฝั่งตะวันตกและอิสราเอลไม่เชื่อ และคิดว่าอิหร่านอาจทำการซ่องสุมอาวุธและระเบิดนิวเคลียร์ จึงได้ขอเข้าไปตรวจสอบ รัฐบาลอิหร่านบอกว่าชาติตะวันตกไม่มีสิทธิ์เข้ามาตรวจสอบ เพราะอิหร่านเป็นประเทศอธิปไตย
เมื่ออิหร่านดื้อดึง UNจึงต้องลงโทษด้วยการไม่ซื้อ-ขายสินค้าบางชนิดกับอิหร่าน (sanctions) การลงโทษเช่นนี้อาจทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ถึงขนาดที่ว่าประเทศทางตะวันตกอาจประกาศไม่อนุญาตให้ประเทศของตนนำเข้าน้ำมันจากอิหร่านอีกต่อไป ในทีสุด คนในอิหร่านอาจต้องเผชิญกับความยากลำบากอย่างสาหัส
ทำไมจึงต้องทำกับอิหร่านขนาดนี้? คำตอบก็คือ อิสราเอลยอมไม่ได้ที่ประเทศศัตรูที่มีความขัดแย้งกันมานานแสนนานจะมีระเบิดนิวเคลียร์ไว้ในครอบครอง
สิ่งเหล่านี้อาจเป็นแรงกดดันให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งก่อสงครามขึ้น
ผลเสียของความขัดแย้งนี้ก็คือ 1.)ราคาน้ำมันอาจปรับตัวสูงขึ้นได้ เพราะอิหร่านคือประเทศผู้ผลิตน้ำมันที่มีผลผลิตต่อปีมากเป็นอันดับสองของOPECรองจากซาอุดิอาราเบีย 2.) ตลาดหุ้นทั่วโลกอาจปรับตัวลง เพราะนักลงทุนไม่ชอบความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นจากสงคราม
จบไปแล้วครับสำหรับปัจจัยลบ เราลองไปดูปัจจัยบวกกันบ้างดีกว่าครับ
ปัจจัยบวก จีนยังพอโตได้
ในบทความ อนาคตอันไม่ไกลนัก: Recession in Europe ผมได้กล่าวไว้ว่าถ้ายุโรปแย่ จีนต้องแย่ด้วย เพราะทวีปยุโรปเป็นคู่ค้าที่ใหญ่ที่สุดของจีน
อย่างไรก็ตาม ผมเชื่อว่าปีหน้าจีนจะโตต่อได้ และไม่น่าจะเกิดhard landingเหมือนที่นักเศรษฐศาสตร์และนักธุรกิจต่างประเทศบางท่านทำนายกันเอาไว้ เพียงแต่ว่าอัตราการเติบโตอาจจะลดลงจากปัจจุบันเล็กน้อย
สาเหตุก็เพราะผมเชื่อว่า ทางการของจีนจะออกนโยบายต่างๆมากมายออกมาเพื่อรองรับและกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งบางมาตรการก็ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว เช่น การลดอัตราเงินสำรองตามกฎหมายของธนาคารพาณิชย์ การกระตุ้นให้ธนาคารในพื้นที่ให้เงินกู้กับธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กมากขึ้น นอกจากนี้ประชากรส่วนใหญ่ของจีนนั้นมีหนี้น้อย วิกฤตที่มีความรุนแรงนั้นจะเกิดขึ้นยากมากถ้าประชาชนหรือผู้บริโภคไม่ค่อยมีหนี้
แต่การที่จีนไม่แย่ก็ไม่ได้หมายความว่าไทยจะรอดนะครับ ในปี2009 GDPของประเทศจีนโต8.7% ในขณะที่ของประเทศไทยลดลง2.3%
----------------------------------
สรุปคือ ปี2012จะมีอย่างน้อย3ปัจจัยลบ แต่กลับมีเพียงแค่หนึ่งปัจจัยบวก (ที่อาจจะไม่ได้ช่วยอะไรมากนัก) นักลงทุนบางท่านอาจบอกกับตัวเองไว้เรียบร้อยแล้วว่า ถ้าเป็นแบบนี้ เก็บเงินสดไว้อย่างเดียวดีกว่า
ในบทความหน้า ผมจะลองนำวิธีการลงทุนดีๆมาฝาก และอธิบายเพิ่มเติมด้วยว่าทำไมการเก็บเงินสด100%อาจไม่ใช่ทางออกที่ดีที่สุด