การลงทุนหุ้น และเศรษฐกิจ อัพเดทรายสัปดาห์

22 ธันวาคม 2554

Price-Earning Ratio: Part II วิธีการใช้

ในบทความที่แล้ว ความหมายของP/Eพร้อมกับเหตุผลอีกสามข้อที่P/Eของแต่ละบริษัทแตกต่างกันก็ได้ถูกอธิบายไปแล้วนะครับ ใจความที่สำคัญของบทความนั้นก็คืออัตราส่วนนี้เป็นตัวบอกว่า นักลงทุนยอมจ่ายเงินกี่บาทเพื่อที่ให้ได้มาซึ่งกำไรของบริษัทมูลค่าหนึ่งบาท และเหตุผลหลักที่นักลงทุนยอมจ่ายแพงกว่าสำหรับหุ้นบางตัวก็เพราะพวกเขาเชื่อว่า บริษัทเหล่านั้นจะมีอัตราการเติบโตของกำไรที่ดีในอนาคต



อย่างไรก็ตาม มีนักลงทุนอยู่กลุ่มหนึ่งไม่ชอบซื้อของแพง(หุ้นP/Eสูง)เท่าไรนัก โดยเฉพาะของแพงๆที่ต้องรอผลตอบแทนจากอนาคตซึ่งเอาแน่เอานอนไม่ได้เลย พวกเขาเชื่อว่า หุ้นที่P/Eสูงมากๆมักจะเป็นหุ้นที่ตลาดให้ความหวังมากเกินไป เข้าไปร่วมขบวนด้วยก็มีแต่จะเจ็บตัว ส่วนหุ้นที่P/Eต่ำมากๆก็มักจะเป็นหุ้นที่ตลาดไม่แยแส จนบางครั้งทำให้ราคาถูกจนเกินไป ถ้าเลือกซื้อหุ้นดีๆจากกลุ่มหุ้นP/Eต่ำได้ก็น่าจะได้กำไรดีกว่า

แล้วP/Eเท่าไรละที่เรียกว่าสูง/ต่ำเกินไป?

โดยทั่วไปแล้ว เราไม่สามารถบอกได้ว่าP/Eของบริษัทใดบริษัทหนึ่งนั้นต่ำหรือสูงเกินไปจากการดูอัตราส่วนP/Eล่าสุดของบริษัทนั้นเพียงเลขเดียวเท่านั้น แต่เราก็ยังพอมีวิธีวิเคราะห์อัตราส่วนนี้ว่าสูงหรือต่ำเกินไปได้อยู่บ้างครับ วิธีที่ว่านี้มีทั้งวิธีที่เป็นทางการ และวิธีที่ไม่เป็นทางการซึ่งเป็นวิธีที่พวกเหล่าเซียนทั้งหลายเขาคิดมาใช้เองครับ

ในส่วนของบทความนี้ผมขอนำเสนอวิธีที่เป็นทางการก่อนละกันนะครับ ซึ่งมีอยู่สองวิธีด้วยกัน คือ

1. เปรียบเทียบกับP/Eของบริษัทที่อยู่ในธุรกิจเดียวกัน

ถ้าคุณคิดว่าธุรกิจธนาคารเป็นธุรกิจที่ดี มีศักยภาพในการเติบโตมาก แต่คุณไม่อยากจ่ายแพงเกินไปสำหรับหุ้นที่กำลังจะซื้อ วิธีง่ายๆและเป็นที่นิยมกันมากวิธีหนึ่งก็คือ การนำP/Eของทุกธนาคารมาเฉลี่ยกันเพื่อให้ได้P/Eของธุรกิจภาคธนาคาร แล้วนำผลค่าเฉลี่ยที่ได้นั้นมาเป็นเกณฑ์หลักในการเลือกซื้อหุ้นในธุรกิจดังกล่าว

สมมุติว่าในตลาดหุ้นมีอยู่6ธนาคารด้วยกัน คือ A B C D E  และ F ซึ่งแต่ละบริษัทมีค่าP/Eดังต่อไปนี้


คุณหาค่าเฉลี่ยของP/Eจาก6ธนาคารออกมาแล้วปรากฏว่า P/Eของธุรกิจธนาคารโดยรวมอยู่ที่10.5เท่า

จากการคำนวนครั้งนี้คุณอาจจะได้ข้อสรุปว่า ถ้าคุณจะซื้อหุ้นในกลุ่มแบงค์คุณจะเลือกซื้อเฉพาะA B และCเท่านั้น เพราะราคาหุ้นสามตัวนี้ถือว่าถูกเมื่อเปรียบเทียบกับอุตสาหกรรมแบงค์โดยรวม

บางคนอาจจะต้องการการเปรียบเทียบที่แม่นยำและเจาะลึกกว่านั้น ซึ่งก็สามารถทำได้โดยการเปรียบเทียบP/Eของบริษัทที่เราสนใจกับP/Eของบริษัททีมีธุรกิจใกล้เคียงกันจริงๆเท่านั้น 

ตัวอย่างเช่น ถ้าคุณอยากซื้อหุ้นของธนาคารไทยพาณิชย์แต่ไม่แน่ใจว่าราคาหุ้นแพงเกินไปหรือยัง จากข้อมูลในSETTRADEคุณทราบว่าในตลาดหุ้นไทยมีธนาคารอยู่11ธนาคารด้วยกัน คือ SCB, BBL, KBANK, KTB, BAY, TMB, CIMBT, TCAP, TISCO, KK และ LHBANK

คุณทราบว่าLHBANKได้รายได้ส่วนใหญ่จากการปล่อยสินเชื่อบ้าน TISCOและKKได้รายได้ส่วนใหญ่จากการปล่อยสินเชื่อรถยนต์ ซึ่งต่างจากSCBที่มีรายได้ส่วนใหญ่จากการปล่อยสินเชื่อให้บริษัทใหญ่ๆ เพราะฉะนั้นคุณจึงตัด LHBANK, TISCO และ KK ออกจากรายการที่จะนำP/Eมาเปรียบเทียบได้เลย

จุดประสงค์ของคุณคือ การหาธนาคารที่มีลักษณะธุรกิจและขนาดใกล้เคียงกับSCBเท่านั้น ซึ่งสุดท้ายแล้วน่าจะเหลือแค่ KBANK, BBL และ KTB 

เมื่อได้รายการของบริษัทต่างๆที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันแล้ว คุณอาจจะนำP/EของKBANK, BBL และ KTBมาเฉลี่ยกัน แล้วลองดูว่าค่าP/EของSCBมีค่าสูงหรือต่ำกว่าค่าเฉลี่ยP/Eที่หามาได้ ถ้าต่ำกว่าคุณอาจจะสรุปได้ว่าSCBมีราคาถูกกว่า

แต่ถ้าให้ละเอียดขึ้นไปอีก คุณอาจเลือกที่จะเปรียบเทียบSCBกับธนาคารที่มีธุรกิจและขนาดใกล้เคียงกันจริงๆเท่านั้น ซึ่งในกรณีอาจจะเหลือแค่KBANKเพียงแค่บริษัทเดียว

*หมายเหตุ: นักลงทุนแต่ละคนอาจมีข้อสรุปไม่เหมือนกันว่า บริษัทใดมีธุรกิจที่คล้ายคลึงกับบริษัทที่ตนต้องการเปรียบเทียบมากที่สุด

ข้อจำกัด
  • บริษัทที่คุณสนใจอาจไม่มีบริษัทใดเลยในตลาดหุ้นที่มีลักษณะธุรกิจคล้ายคลึงกัน
  • P/Eของบริษัทใดบริษัทหนึ่งที่ทางSETTRADEและwww.set.or.thโชว์ให้เห็นอาจจะดูเหมือนว่ามีค่าสูง/ต่ำผิดปกติ เนื่องจากมีรายได้/รายจ่ายพิเศษในช่วง12เดือนที่ผ่านมา (one-time items) เพราะฉะนั้นนักลงทุนควรคำนวณหาP/Eเองและใช้วิจารณญาณตัดสินดูเองว่ารายได้หรือรายจ่ายอันใดเกิดขึ้นจากธุรกิจปกติของบริษัท และอันไหนเป็นรายได้หรือรายจ่ายพิเศษ


2. เปรียบเทียบกับP/Eของหุ้นนั้นเองในอดีต

วิธีนี้ก็เป็นที่นิยมและใช้สะดวกมากวิธีหนึ่งครับ นักลงทุนสามารถใช้วิธีนี้ได้ด้วยการหาราคาหุ้น และกำไรต่อหุ้นในอดีตมา เพื่อนำมาคำนวณหาอัตราส่วนP/Eของบริษัทนั้นๆย้อนหลังไปสัก5-7ปี แล้วดูว่าค่าP/Eปัจจุบัน (ซึ่งตัว"E"หรือEarnings คือกำไรต่อหุ้นจากข้อมูล12เดือนล่าสุด) มีค่าสูงหรือต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับค่าP/Eในอดีต ถ้าP/Eปัจจุบันมีค่าต่ำสุดในรอบ5ปี คุณอาจจะสรุปได้ว่าหุ้นตัวนี้มีราคาถูก

ข้อจำกัด
  • หุ้นที่มีP/Eต่ำในตอนนี้ จริงๆแล้วอาจจะไม่ได้มีราคาถูกเหมือนที่นักลงทุนคิด เพราะP/Eอาจจะต่ำกว่าในอดีตเนื่องจากปัจจุบันบริษัทมีปัจจัยลบรออยู่มากมาย อนาคตของบริษัทจึงไม่ได้ดีเหมือนกับช่วง5-7ปีที่ผ่านมา
  • P/Eของบริษัทใดบริษัทหนึ่งที่ทางSETTRADEและwww.set.or.thโชว์ให้เห็นอาจจะดูเหมือนว่ามีค่าสูง/ต่ำผิดปกติ เนื่องจากมีรายได้/รายจ่ายพิเศษในช่วง12เดือนที่ผ่านมา (one-time items) เพราะฉะนั้นนักลงทุนควรคำนวณหาP/Eเองและใช้วิจารณญาณตัดสินดูเองว่ารายได้หรือรายจ่ายอันใดเกิดขึ้นจากธุรกิจปกติของบริษัท และอันไหนเป็นรายได้หรือรายจ่ายพิเศษ
ผู้อ่านจะสังเกตได้ว่าผมเขียนถึงข้อจำกัดอันสุดท้ายถึงสองครั้ง ผมตั้งใจครับ เพราะผมคิดว่าข้อจำกัดนี้เป็นสิ่งที่สำคัญมากถ้าคุณต้องการจะใช้อัตราส่วนP/Eในการตัดสินใจลงทุนอย่างจริงจัง


จบไปแล้วครับสำหรับสองวิธีการใช้P/Eที่สถาบันการเงินมักจะใช้กัน ในบทความต่อไปผมจะพูดถึงวิธีอื่นๆที่เซียนเขาชอบใช้กันนะครับ

Posted in:
Twitter