การลงทุนหุ้น และเศรษฐกิจ อัพเดทรายสัปดาห์

27 ตุลาคม 2554

ปัญหาของกรีซ: ขาดสภาพคล่องชั่วคราว หรือ ขาดความสามารถในการจ่ายหนี้?



ในแวดวงธุรกิจ เวลาที่บริษัทขาดเงินมาจ่ายหนี้คืนนั้น เกิดขึ้นได้จากสองกรณี
1.) Illiquidity
2.) Insolvency

Illiquidity คือ การขาดสภาพคล่องชั่วคราว มักใช้เรียกบริษัทที่ไม่สามารถจ่ายหนี้ได้ เพราะเกิดเหตุสุดวิสัยที่เกิดขึ้นในเวลาสั้นๆ เช่น ภัยธรรมชาติ วิกฤตทางการเมือง และวิกฤตเศรษฐกิจ เป็นต้น พอเหตุการณ์เหล่านี้จบลง ผลประกอบการ และสภาพคล่องของบริษัทก็จะกลับมาเป็นปกติ

Insolvency คือ การขาดความสามาถในการจ่ายหนี้ ซึ่งเกิดขึ้นจากปัญหาหรือจุดอ่อนในบริษัทนั้นเองๆ และเป็นปัญหาระยะยาว

ความเข้าใจในปัญหาสองประเภทนี้ สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับประเทศที่เป็นผู้ยืมได้เช่นเดียวกัน

แล้วเราจะแยกปัญหาแบบนี้ออกเป็นสองประเภทเพื่ออะไร? แค่บอกว่าประเทศนั้นมีตังค์ไม่พอจ่ายหนี้ก็น่าจะพอไม่ใช่เหรอ?

การที่เรารู้ว่า ปัญหาแบบไหนคือ Illiquidity (ระยะสั้น) หรือ Insolvency (ระยะยาว) นั้นจะช่วยบอกได้ว่า ประเทศควรได้รับการช่วยเหลือ และประเทศไหนช่วยไปก็ไม่รอดอยู่ดี

ประเทศที่มีปัญหาขาดสภาพคล่องระยะสั้น นั้นมักจะเป็นประเทศที่มีพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่ดีพอสมควรในช่วงเวลาปกติ และมีศักยภาพเพียงพอในการจ่ายหนี้คืนได้เมื่อปัญหาคลี่คลายลง ประเทศจำพวกนี้ควรได้รับการช่วยเหลือโดยองค์กรต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นIMF, World Bank หรือ กลุ่มประเทศมหาอำนาจอื่นๆ เพราะการช่วยเหลือนั้นค่อนข้างปลอดภัย มีความเสี่ยงที่จะไม่ได้เงินคืนต่ำ แต่ถ้าไม่ช่วย ผลกระทบของวิกฤตต่อประเทศดังกล่าวอาจจะรุนแรงกว่าที่ควรจะเป็น ถ้าเป็นวิกฤตทางการเงินหรือเศรษฐกิจ ผลที่ตามมาอาจลุกลามไปประเทศอื่นๆได้

อย่างไรก็ตาม ถ้าปัญหาดังกล่าวไม่ใช่ปัญหาระยะสั้น แต่เป็นความอ่อนแอทางโครงสร้างของประเทศนั้นเองที่ทำให้รัฐบาลไม่มีความสามารถในการจ่ายหนี้คืนได้ ถึงแม้วิกฤตต่างๆจะผ่านไป ศักยภาพในการจ่ายหนี้ของรัฐบาลก็ไม่ได้ดีขึ้น หนำซ้ำ กลับเป็นตัวที่ก่อให้เกิดวิกฤตครั้งใหม่เสียเอง ประเทศจำพวกนี้ไม่ควรได้รับการช่วยเหลือ เพราะการให้เงินช่วยเหลือก็เหมือนเป็นการเพิ่มภาระหนี้ให้กับประเทศที่ไม่มีปัญญาจ่ายหนี้ก้อนเดิมคืนอยู่แล้ว

ช่วยผิดประเทศ

บางครั้งIMF หรือองกรค์ต่างๆก็หลอกตัวเองว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นปัญหาเกี่ยวกับสภาพคล่องที่เกิดขึ้นในระยะสั้น เพื่อที่จะเข้าไปช่วยเหลือประเทศนั้นๆ ทั้งที่จริงๆแล้วช่วยไปก็เสียเงินเปล่าๆ แต่ก็เป็นที่เข้าใจได้ครับ เพราะในช่วงเวลาของวิกฤต และความวุ่นวาย ไม่มีใครอยากปล่อยให้ประเทศนู้นประเทศนี้ล้มลงง่ายๆ เพราะกลัวผลกระทบที่ตามมานั้นจะเกินกว่าที่เศรษฐกิจโลกจะรับมือไหว

นี้แหละครับคือสิ่งที่ผู้นำในยุโรปทำกับกรีซมาโดยตลอด ทำการช่วยเหลือ อัดฉีดเงินให้ โดยคิดไปเองว่า กรีซจะแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ และมีเงินมาจ่ายหนี้คืนในอนาคต พูดสั้นๆคือ กรีซกำลังเจอปัญหาInsolvency แต่EUกลับทำเหมือนกับว่ากรีซเจอปัญหาIlliquidity

เหตุการณ์ที่เกิดขึันก็เหมือน หมอที่วินิฉัยว่าคนไข้เป็นหวัดธรรมดา ก็ให้แค่ยาแก้หวัดแล้วบอกว่ากลับบ้านไปพักผ่อนเยอะๆ ดื่มน้ำเยอะๆ แต่ที่จริงแล้วคนไข้นั้นป่วยหนัก ได้รับเชื้อไข้หวัดสายพันธุ์ใหม่ การให้ยาแก้หวัดธรรมดาก็อาจจะบรรเทาอาการ และยืดอายุผู้ป่วยไปได้ชั่วคราว แต่ในไม่ช้าผู้ป่วยนั้นก็ต้องตายอยู่ดี

สถานะของกรีซตอนนี้ก็ไม่ต่างกัน หลังจากวิกฤตทางการเงินจบลงประมาณกลางปี2009 GDP ของกรีซนั้นมีแต่ลดลงๆ เมื่อเศรษฐกิจไม่โต รัฐบาลก็มีรายได้จากภาษีน้อย เมื่อรายได้จากภาษีมีแต่จะน้อยลงในแต่ละปี รัฐจะเอาเงินที่ไหนมาจ่ายหนี้? "ปัญหาของกรีซไม่ใช่ขาดเงิน(เพราะเงินช่วยเหลือที่ผ่านมาก็เยอะแยะมากมาย) แต่ปัญหาคือเศรษฐกิจที่ขาดการเติบโต" ตอนนี้ผู้นำจากประเทศต่างๆในยุโรปก็เริ่มตระหนักแล้วว่า ในที่สุดแล้ว กรีซจะไม่สามารถจ่ายหนี้คืนได้ครบ

ในขณะที่ผมกำลังเขียนอยู่นี้ ผู้นำประเทศของประเทศต่างๆในยุโรปกำลังหารือเรื่องแผนการในการแก้ไขปัญหาหนี้ของกลุ่มPIIGSอยู่ ไม่ว่าแผนจะออกมาในรูปใด (สิ่งคาดว่าแผนการดังกล่าวจะถูกประกาศอย่างเป็นทางการในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน) กรีซจะไม่สามารถจ่ายหนี้คืนครบทั้งก้อนได้อย่างแน่นอน

รายการดังต่อไปนี้คือบทความที่ทางSETTALK ได้เขียนเกี่ยวกับปัญหานี้ในยุโรปตลอดระยะเวลาประมาณ 18 เดือนที่ผ่านมาครับ

ปี 2010

กรีซเป็นเพียงจุดเริ่มต้น

ข้อดีและข้อเสียของEU: ผลกระทบต่อกรีซ

ภาระหนี้อันมหาศาลของรัฐส่งผลต่อประชาชนอย่างไร?

ปี 2011

โปรดระวัง ปัญหาPIIGSยังไม่จบ

One Europe & Greece

เรื่องที่ทำให้ตลาดผันผวน

บทสัมภาษณ์เกี่ยวกับยุโรป


ส่วนนักลงทุนที่รู้สึกสับสนกับการเคลื่อนไหวของตลาดจนไม่รู้จะทำยังไงแนะนำให้อ่านบทความนี้ครับ

วิธีรับมือตลาดอันแปรปรวน

สุดท้ายนี้ขอให้นักลงทุนโชคดี เก็บหุ้นถูกๆกันได้เยอะนะครับ

Posted in:
Twitter