ในช่วง2-3เดือนที่ผ่านมา ดอกเบี้ยหุ้นกู้รัฐบาลของประเทศเหล่านี้ได้ทยอยปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากนักลงทุนพากันเทขายหุ้นกู้ดังกล่าวพร้อมๆกัน เพราะเห็นว่าประเทศเหล่านี้มีความเสี่ยงสูงที่จะไม่จ่ายเงินคืนเต็มจำนวน (ราคาของหุ้นกู้-Price of bond จะวิ่งส่วนทางกับ ดอกเบี้ยหุ้นกู้-Yield to maturity เสมอ) ปัจจุบันรัฐบาลกรีซต้องจ่ายดอกเบี้ยถึง26.65%ต่อปี สำหรับหุ้นกู้ที่มีอายุสองปี
ดอกเบี้ยหุ้นกู้รัฐบาลกรีซอายุ2ปี ตั้งแต่กรกฎาคม2007 ถึง กรกฎาคม2011 |
ปัจจุบัน สถาบันจัดอันดับฐานะการเงินและความน่าเชื่อถือต่างๆก็ให้เรตติ้งแก่หนี้รัฐบาลกรีซในอันดับที่ต่ำที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ของ Junk Bond (หุ้นกู้ขยะ) ถ้าลดลงไปอีกหนึ่งระดับหนี้ของกรีซจะถือเป็นหนี้เสียทันที
สถาบันจัดอันดับฐานะทางการเงินMoody's พึ่งลดระดับให้หนี้ของรัฐบาลโปรตุเกสมาอยู่ที่สถานะ Junkเช่นกัน ซึ่งหมายความว่าเป็นหนี้คุณภาพต่ำ มีความเสี่ยงที่จะเป็นหนี้เสียสูงนั้นเอง
ทางการเลือกที่จะไม่อยู่กับความจริง
ธนาคารกลางยุโรป สภายุโรป และIMF กลับเลือกที่จะปฎิเสธในสิ่งที่นักลงทุนในตลาดการเงินเห็นได้อย่างชัดเจน นัั้นก็คือ ไม่ช้าก็เร็วรัฐบาลของกรีซจะไม่สามารถจ่ายหนี้คืนให้กับเจ้าหนี้ได้ พวกนักการเมืองเหล่านี้พยายามเลื่อนเหตุการณ์หนี้เสียไปในอนาคต โดยพยายามยื่นเงินเขาช่วยเหลือกรีซเป็นครั้งที่สองในช่วงเวลาไม่ถึงหนึ่งปี
นักลงทุน และสำนักข่าวต่างประเทศต่างเปรียบเทียบการช่วยเหลือกรีซครั้งหนี้ว่าเหมือนกับ การเดินเตะกระป๋องไปข้างหน้าไปเรื่อยๆ โดยไม่ยอมเก็บขยะกระป๋องนั้นไปทิ้งสักที แต่หารู้ไม่ว่าทุกครั้งที่คุณเตะกระป๋องนั้นออกไป กระป๋องนั้นมีขนาดใหญ่ขึ้นและหนักขึ้นเรื่อยๆ ปัญหาของกรีซคือการมีหนี้มากเกินไป เพราะฉะนั้นการที่การที่ทางการให้กู้ยืมเพิ่มขึ้นไปอีกจึงไม่ใช่ทางออกระยะยาวอย่างแน่นอน
เมื่อสิ้นปีที่แล้วหนี้ของรัฐกรีซคิดเป็นสัดส่วนของGDPนั้นเท่ากับ143% และคาดว่าจะถึงระดับ160%เร็วๆนี้
นักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำในอเมริกา และทั่วโลกต่างกล่าวตรงกันว่า ด้วยสภาพเศรษฐกิจอันย่ำแย่(อัตราการว่างงานประมาณ15% GDPกำลังจะลดลงในปีนี้ประมาณ3%-4%) และภาระหนี้อันมหาศาล ไม่ช้าก็เร็ว รัฐบาลกรีซจะไม่สามารถจ่ายหนี้คืนได้อย่างแน่นอน
หลังจากกรีซไม่จ่ายหนี้
เหมือนที่ทางเราได้เขียนไปตั้งแต่11พฤษภาคมปี2010 หนี้ของรัฐบาลกรีซจะต้องกลายเป็นหนี้เสียแน่นอน และกรีซเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น (อ่าน http://settalk.blogspot.com/2010/05/blog-post.html) ถ้าสภายุโรปและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่เริ่มแก้ปัญหาที่แท้จริงโดยด่วน
หน่วยงานของยุโรปสามารถควบคุมไม่ให้เหตุการณ์หนี้เสียของกรีซลุกลามไปยังประเทศต่างๆได้ด้วยการทำอย่างน้อยสามอย่างนีคือ
1. กำหนดเป้าหมายและวิธีการแก้ไขโครงสร้างทางเศรษฐกิจอย่างชัดเจน เช่น การลดอำนาจหรือยกเลิกสหภาพแรงงาน และการลดค่าแรงของภาครัฐและเอกชน
2. การเพิ่มทักษะของแรงงาน
3. การจัดการให้เหตุการณ์หนี้เสียเป็นไปอย่างราบรื่น แทนที่จะเลื่อนเหตุการณ์นี้ออกไปเรื่อยๆ
สองอย่างแรกจะช่วยให้แรงงานของกรีซแข่งขันกับแรงงานชาติอื่นๆได้มากขึ้น สิ่งนี้จะช่วยกระตุ้นการส่งออกและเศรษฐกิจของกรีซ และทำให้รัฐและประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้น ซึ่งจะทำให้ปัญหาหนี้นั้นเบาบางลงนั้นระยะยาว
ข้อที่สาม เป็นการยอมรับสภาพความเป็นจริงว่ากรีซไปไม่รอด แทนที่จะหลอกตัวเองและนักลงทุนไปวันๆ สิ่งนี้จะลดความตรึงเครียดในตลาดได้พอสมควร เพราะนักลงทุนในตลาดเกลียดความไม่แน่นอน แต่เมื่อใดก็ตามที่ทางการรับรู้ปัญหาอย่างตรงไปตรงมา ความชัดเจนจะเกิดขึ้น หุ้นอาจจะตก แต่เหตุการณ์จะไม่บานปลาย เหมือนกับการแกล้งทำว่าสิ่งที่เกิดขึ้นแก้ไขได้ง่ายๆ ด้วยการแค่ยื่นเงินช่วยเหลือ
ถ้าคุณไม่เห็นว่าทางการยุโรปทำอย่างน้อยสามอย่างที่กล่าวมา เหตุการณ์ที่กำลังจะเกิดขึ้นกับตลาดการเงิน และเศรษฐกิจโลกอาจไม่สู้ดีนัก
อย่าหลงลืมปัญหาในยุโรป
พอเห็นข่าวว่า กรีซได้รับเงินช่วยเหลือจากทางการยุโรป IMF และประเทศเพื่อนบ้าน นักลงทุนส่วนใหญ่ก็จะสบายใจ คิดว่าปัญหายุโรปจะจบได้ง่ายๆ คนกลุ่มนี้คิดผิด เพราะเมื่อไรที่เหตุการณ์หนี้เสียในกรีซลุกลามไปยังประเทศอื่นๆ นักลงทุนจะวิตกกังวลถึงวิกฤตการเงินครั้งใหญ่ที่อาจจะเกิดขึ้นในยุโรป เพราะสถาบันการเงินจำนวนมากในยุโรปเป็นผู้ให้ยืมเงินรัฐบาลกลุ่มPIIGSอยู่ ความเสียหายต่อสถาบันการเงินเหล่านี้อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจยุโรปและโลกได้ สิ่งที่จะตามมาก็คือนักลงทุนต่างชาติจะหวาดกลัวกับวิกฤตที่อาจจะเกิดขึ้น และเทกันขายหุ้นจากในเอเชียและในยุโรปไปซื้อหุ้นกู้ในอเมริกา หรือแม้กระทั้งซื้อทอง
เพราะฉะนั้น ในอย่างน้อยๆสามถึงหกเดือนนี้ ปัญหาหนี้ยุโรปจะตามรังควานการเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นไทย และทั่วโลกอยู่เรื่อยๆ คำแนะนำที่เราพอจะให้ได้ในตอนนี้ก็คือ อย่าพึ่งซื้อหุ้นเต็มพอร์ท โอกาสซื้อหุ้นถูกๆอาจจะรออยู่ในอนาคตอันไม่ไกลนัก