การลงทุนหุ้น และเศรษฐกิจ อัพเดทรายสัปดาห์

11 พฤษภาคม 2553

เงินจากEUและIMFไม่ได้ช่วยแค่กรีซ: กรีซเป็นเพียงจุดเริ่มต้น

กรีก อาณาจักรที่เคยยิ่งใหญ่ในอดีต กลายเป็นกรีซในปัจจุบันซึ่งต้องการการฟื้นฟูและซ่อมแซมอย่างเร่งด่วน
ยุโรปยืนอยู่บนจุดที่น่าอับอายอีกครั้ง หลังจากกรีซได้ประกาศอย่างชัดเจนว่าไม่สามารถยืนหยัดด้วยตัวเองได้ เรียกอีกอย่างก็คือล้มละลาย(bankrupt)นั้นเอง ดอกเบี้ยของหุ้นกู้(Yield to Maturity on Bond)ของประเทศกรีซพุ่งตัวขึ้นไปสูงสุดที่38เปอร์เซ็นได้แป๊บนึงแล้วจึงค่อยๆปรับตัวลง เนื่องจากนักลงทุนเทขายพร้อมๆกัน ด้วยความกลัวที่ว่ากรีกจะไม่สามารถจ่ายเงินคืนได้ ราคาของหุ้นกู้จึงดิ่งลงเหว ส่งผลให้ดอกเบี้ยของหุ้นกู้ปรับตัวสูงขึ้น

เพื่อเป็นการบรรเทาความรุนแรง และไม่ให้เหตุการณ์บานปลาย กลุ่มผู้นำแถบยุโรป และ IMF จึงได้จัดการหาเงินมาช่วยเหลือเป็นจำนวนถึง หนึ่งแสนแปดหมื่นห้าพันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเป็นคิดเป็นสามเท่าของจำนวนที่คาดการณ์ไว้ตอนแรก

ก็เเหมือนกับตอนIMFเข้ามาช่วยไทย รัฐบาลกรีซถูกสั่งให้ลดค่าใช้จ่าย เพิ่มภาษี และลดค่าจ้างแรงงาน เพื่อเป็นการฟื้นฟูระบบเศรษฐกิจให้เข้าที่เข้าทาง

ในขณะที่ นักการเมือง ของกลุ่มประเทศEUต่างก็กล่าวว่าเงินก้อนนี้ คือเงินสำหรับช่วยเหลือกรีซ ซึ่งเป็นประเทศปัญหา แต่ที่จริงแล้ว นี้คือเงินสำหรับช่วยชีวิตธนาคารในประเทศอื่นทั่วยุโรป

สถาบันการเงินในฝรั่งเศสและเยอรมัน ได้ปล่อยหนี้ดอกเบี้ยต่ำให้ประเทศกรีกเป็นจำนวนมหาศาล ธนาคารเหล่านี้ไม่เกรงหลัวต่อความเสี่ยง ถึงแม้ว่าวิกฤตหนี้สาธารณะในประเทศไอร์แลนด์ ไอซ์แลนด์ และลัทเวียในช่วงปลายปี2008และต้นปี2009 ได้บ่งชี้ชัดเจนว่าเศรษฐกิจของประเทศยุโรปที่อ่อนแอนั้นมีความเสี่ยงที่จะคืนหนี้ไม่ได้สูงมาก

Barclays Capital บอกว่า แค่สถาบันการเงินในฝรั่งเศสและเยอรมันอย่างเดียวก็ถือหุ้นกู้ของรัฐบาลกรีซหรือGreece government bondเป็นจำนวน 1 แสนล้านเหรียญสหรัฐ สถาบันการเงินและธนาคารที่ซื้อหุ้นกู้เหล่านี้มากๆ ก็คือสถาบันเดียวกันกับพวกที่เคยซื้อหุ้นกู้CDO's ในช่วงก่อนsubprime crisisของอเมริกา

พฤติกรรมการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูงของสถาบันการเงินเหล่านี้กำลังจะถูกรองรับและได้รับการช่วยเหลือจากเงินภาษีของประชาชนยุโรป เนื่องจากการยื่นเงินช่วยกรีซก็เหมือนการช่วยบริษัทเหล่านี้ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของกรีซ

เสี่ยงมาก แต่ก็ยังอยากให้ยืม
สิ่งที่หลายๆคนวิตกกังวลในตอนนี้ก็คือการช่วยเหลือกรีซจะส่งผลให้คนมองข้ามความเสี่ยงต่างๆ และลงทุนโดยขาดการวิจารณญาน เพราะทุกๆคนต่างก็รู้ว่าเมื่อไรก็ตามที่ประเทศใดประเทศหนึ่งมีปัญหา EUและIMFจะต้องควักกระเป๋าเข้ามาช่วยแน่นอน สุดท้ายคนก็จะลงทุนกันโดยที่ไม่สนใจว่าประเทศเหล่านั้นมีสภาพเศรษฐกิจแย่ขนาดไหน และสามารถจ่ายหนี้ได้หรือไม่ สิ่งนี้จะทำให้ประเทศอื่นๆที่มีปัญหาคล้ายกับกรีก เกิดวิกฤตทางเศรษฐกิจเร็วยิ่งขึ้น ด้วยดีกรีที่รุนแรงกว่าที่ควรจะเป็น ประเทศเหล่านี้คือกลุ่ม PIGS (Portugal, Ireland, Greece, Spain)

ประเทศกลุ่มPIGSมีลักษณะที่เหมือนกัน3อย่างคือ
1. หนี้สาธารณะเยอะมหาศาล
2. ขาดความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก และอัตราการเจริญเติบโตของGDPต่ำที่สุดในกลุ่มEU
3. ใช้ค่าเงินยูโร

ด้วยความที่มีหนี้เยอะ รัฐบาลกลุ่มประเทศPIGSจำเป็นจะต้องขึ้นภาษีเป็นจำนวนมากและลดรายจ่ายไปพร้อมๆกันอย่างเพื่อหารายได้มาจ่ายหนี้ แต่เนื่องจากอัตราการเจริญเติบโตของGDPที่ต่ำ การเพิ่มรายได้ของรัฐบาลในประเทศเหล่านี้จึงทำได้ยากเหลือเกิน เพราะGDPหรือผลผลิตมวลรวมของประเทศก็เหมือนกับ รายได้ของคนทั้งประเทศรวมกัน ถ้ารายได้ไม่เพิ่มขึ้นหรือลดลงในแต่ละปี เงินภาษีที่รัฐเก็บได้ก็จะลดลงไปด้วย

นอกจากนี้การขึ้นภาษีและลดรายจ่ายของภาครัฐอาจจะเป็นการทำให้เศรษฐกิจชลอตัวยิ่งขึ้นไปอีก

หนำซ้ำประเทศเหล่านี้ต้องใช้เงินยูโรรวมกับประเทศอื่นๆในยุโรป ถึงแม้คนจะกลัววิกฤตในยุโรปมากเพียงใด ค่าเงินยูโรก็ยังไม่ถึงลดฮวบลงมาในระดับที่น่ากลัว เพราะยังมีประเทศที่เศรษฐกิจแข็งแรงรองรับอยู่ ระบบค่าเงินเดียวที่มั่นคงนี้ ทำให้ประเทศอย่างกรีกไม่สามารถหวังพึ่งผลประโยชน์จากการที่ค่าเงินอ่อนลงเพื่อช่วยให้การส่งออกสูงขึ้นได้เลย

กรีซเป็นเพียงจุดเริ่มต้น PIGSหนีไม่พ้น
ความจริงสามข้อที่พึ่งกล่าวไปได้ชื่อให้เห็นว่า ประเทศเหล่านี้ขาดเสถียรภาพ และถ้าศึกษาประเทศเหล่านี้ลึกลงในรายละเอียดก็จะทราบว่า เป็นไปไม่ได้เลยที่ประเทศทุกประเทศในกลุ่มPIGSจะสามารถคืนหนี้ได้หมด ในที่สุดแล้ว ประเทศใดประเทศหนึ่งที่เหลือในกลุ่มนี้จะช่วยเหลือตนเองไม่ได้ และต้องขอความช่วยเหลือจากEUและIMFอีกเช่นเคย พอถึงตอนนั้นตลาดหุ้นก็จะเกิดอาการตกใจ กลัววิกฤตเหล่านี้จะลามไปทั่วยุโรปหรือทั่วโลก

ประเด็นที่ผมต้องการจะพูดคือ จังหวะนี้น่าจะเป็นโอกาสดีสำหรับการทยอยเข้าไปซื้อหุ้น เพราะประเทศเหล่านี้ไม่ค่อยมีบทบาทสำคัญในเศรษฐกิจโลก และถึงแม้มันจะลามไปถึงธนาคารในประเทศอื่น ผลกระทบที่จะมีต่อการใช้จ่ายของผู้บริโภคและอัตราการจ้างงานในประเทศที่ปล่อยกู้ให้นั้นค่อนข้างจำกัด

พูดสั้นๆคือ อาจจะเกิดผลกระทบทางด้านจิตวิทยาทำให้ตลาดหุ้นปรับตัวลงชั่วคราว แต่ไม่ใช่วิกฤตเศรษฐกิจโลก ตราบใดที่ประเทศใหญ่ๆอย่างเยอรมัน และฝรั่งเศสซึ่งมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจโลกยังมีเสถียรภาพ ก็ไม่มีอะไรจะต้องกังวล ดูอย่างตอนวิกฤตที่ ไอร์แลนด์ ไอซ์แลนด์ และลัทเวีย เป็นตัวอย่าง เอเชียไม่ได้รับผลกระทบอะไรเลยในแง่การส่งออก

ถ้าหุ้นตกหนักๆเพราะวิกฤตของประเทศกลุ่มPIGSในยุโรป ผมว่าเป็นโอกาสที่ดีที่นักลงทุนจะได้ทยอยซื้อหุ้นถูกๆ เพราะผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประเทศไทยและเอเชียมีค่อนข้างจำกัด แต่ขอเน้นนะครับว่าให้"ทยอยซื้อ"เพราะความตื่นตระหนกของนักลงทุนอาจทำให้ราคาหุ้นในระยะสั้นต่ำกว่าที่เราคาดไว้ก็เป็นได้

Posted in:
Twitter