ผู้เขียนมีญาติอยู่หนึ่งท่านที่เพิ่งเล่นหุ้นได้ไม่นาน สาเหตุที่เริ่มต้นลงทุนในตลาดหุ้น คือ การได้เห็นคนรู้จักสองสามคนทำกำไรจากหุ้นได้มหาศาลภายในระยะเวลาไม่กี่ปี ญาติของผมท่านนี้ (ต่อไปจะใช้นามสมมติว่า"คุณเอ")จึงคิดว่า การลงทุนในหลักทรัพย์น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีทางหนึ่ง อย่างน้อยๆก็น่าจะดีกว่าฝากธนาคาร ซึ่งดอกเบี้ยมักจะต่ำและแพ้อัตราเงินเฟ้อ
เป็นความคิดเริ่มต้นที่ถูกต้องทีเดียว (หุ้น ชนะ ฝากธนาคาร) อย่างไรก็ตาม ปัญหาคือ คุณเอไม่มีพื้นฐานทางด้านการเงินและการธนาคาร ถ้าจะลงทุนในตลาดหลักทรัพย์อย่างจริงจัง คงต้องเริ่มศึกษาเรียนรู้เองตั้งแต่ศูนย์ และต้องใช้เวลาและความทุ่มเทมาก
คุณเอจึงเริ่มอ่านหนังสือลงทุน และปรึกษาคนรอบข้างไปพร้อมๆกัน คนที่คุณเอปรึกษามีอยู่สามกลุ่มหลักด้วยกันคือ
- นายหน้าซื้อขายหุ้น (โบรกเกอร์/มาร์เก็ตติ้ง)
- ญาติที่มีประสบการณ์ลงทุนหุ้น (Risk Taker และ Matt จาก SETTALK)
- เพื่อนที่มีประสบการณ์ลงทุนหุ้น
กลุ่มแรก นายหน้าซื้อขายหุ้น (มาร์เก็ตติ้ง)
ท่านนักลงทุนคงทราบดีว่า นายหน้าซื้อขายหุ้น มักจะแนะนำให้ลูกค้าหาจังหวะเข้าออกจากตลาดเพื่อทำกำไร โดยใช้วิธีและเทคนิคต่างๆ ซึ่งโดยมากแล้วมักจะเป็นการใช้กราฟราคาหุ้นหรือดัชนีแบบรายวัน/สัปดาห์/เดือน หรือ ที่รู้จักกันว่าเป็นการแนะนำโดยใช้ Technical Analysis แบบใช้กราฟเป็นหลัก
นอกจากการอัพเดทข่าวเศรษฐกิจและการลงทุนแล้ว มาร์เก็ตติ้งของคุณเอจะแนะนำว่าหุ้นตัวไหนน่าสนใจ เพราะอะไร ราคาซื้อเหมาะสมอยู่ตรงไหน ราคาขายเหมาะสมอยู่ตรงไหน โดยราคาซื้อขายที่เหมาะสมมักจะเกิดจากการดู "แนวรับ" "แนวต้าน" และสัญญาณทางTechnicalต่างๆ ที่ถูกนำมาจากกราฟราคาหุ้น
จากการปรึกษามาร์เก็ตติ้ง คุณเอจึงคิดว่า การดูกราฟเป็นเรื่องที่สำคัญต่อการลงทุน เพราะ "ถ้าไม่ดู เราจะรู้ได้ไงว่าซื้อขายตอนไหน จึงจะถูกต้อง?"
กลุ่มที่สอง ญาติที่มีประสบการณ์ลงทุนหุ้น (SETTALK)
ผู้ที่ติดตามSETTALK คงทราบดีว่าเราให้คำแนะนำแบบไหน กว่า90บทความที่ผ่านมา ไม่เคยมีสักประโยคเดียวที่ทางเราบอกให้ผู้อ่านดู "แนวต้าน" หรือ "แนวรับ"
เราจะเกิดความสนใจในหุ้นตัวใดตัวหนึ่งก็ต่อเมื่อธุรกิจมีพื้นฐานและอนาคตที่ดี เมื่อเรามั่นใจว่าหุ้นมีอนาคตที่ดี เราจะทำการซื้อก็ต่อเมื่อราคาของหุ้นไม่แพงจนเกินไปเมื่อเทียบกับปัจจัยพื้นฐาน
การตัดสินใจขายมักเกิดขึ้นจากข้อมูลปัจจัยพื้นฐานเช่นกัน ไม่ใช่ราคาหุ้นที่วิ่งขึ้นลงในแต่ละวัน โดยส่วนมากเราจะขายก็ต่อเมื่อ "ไม่ดีจริง ไม่ดีแล้ว มีดีกว่า" กล่าวคือ
1. ไม่ดีจริง - ตอนซื้อนึกว่าดี (ผ่านเกณฑ์ที่ตั้งไว้) แต่พอค้นคว้าเพิ่มเติม หรือ ข่าวเพิ่งออกมาใหม่ ทำให้เรารู้ว่า มันไม่ได้ดีจริง เราก็ควรจะขาย
2. ไม่ดีแล้ว - ตอนซื้อก็ดีจริง แต่พอเวลาผ่านไปสักระยะ สภาพตลาดเปลี่ยน เช่น คู่แข่งเพิ่มขึ้น หรือ ผู้บริโภคเปลี่ยนความชอบ ทำให้ธุรกิจที่เคยดี ไม่ได้ดีอีกต่อไป เราก็ควรจะขาย
3. มีดีกว่า - เมื่อไรที่มีธุรกิจที่เรามั่นใจว่าจะให้ผลตอบแทนดีกว่า เราก็ควรจะขายหุ้นที่ถืออยู่ ไปซื้อหุ้นที่ดีกว่าแทน*
*จากบทความ WHEN TO SELL: 3 เหตุผลที่นักลงทุนระยะยาวควรขายหุ้น
สิ่งที่เราแนะนำคุณเอจึงไม่แตกต่างจากสิ่งที่เราเขียนไว้ในบทความต่างๆมากนัก
เนื่องจากคุณเอเพิ่งเริ่มศึกษาวิธีการลงทุน เราจึงแนะนำให้ซื้อเมื่อคุณเอ 1.) เข้าใจธุรกิจและโครงสร้างรายได้ 2.) พอจะรู้ว่าธุรกิจจะมีอนาคตที่ดีโดยดูจาก ลักษณะธุรกิจและลูกค้า trendยอดขายและกำไรในอดีต และสังเกตจำนวนของลูกค้าตามร้านค้าของบริษัทนั้นๆถ้ามี 3.) พบว่าหุ้นตัวนั้นมี P/E ไม่เกิน 20 ROA สูงกว่า 10% และมีหนี้ไม่เยอะจนเกินไป
นอกจากนี้เรายังแนะนำให้ถือหุ้นแต่ละตัวอย่างน้อยหนึ่งปี ยกเว้นว่ามัน "ไม่ดีจริง ไม่ดีแล้ว มีดีกว่า" ยังมีรายละเอียดอีกหลายอย่างที่เราแนะนำ แต่นี้คือใจความหลักๆครับ
สับสน ดูกราฟ หรือ ดูพื้นฐาน?
เมื่อคนสองกลุ่มที่ปรึกษาให้คำแนะนำที่ต่างกันอย่างสิ้นเชิง คุณเอจึงเกิดความสับสนว่าตกลงแล้วเราควรจะดูอะไรเป็นหลัก
คุณเอมักจะถามผู้เขียนอยู่บ่อยๆว่า "ถ้า [Risk Taker] ไม่ดูกราฟ แล้วจะรู้ได้ไงว่า ต้องซื้อขายตอนไหน" และ " ใช้กราฟประกอบ มันก็น่าจะช่วยไม่ใช่เหรอ?" ผู้เขียนจึงได้ชี้แจงคำถามเหล่านี้ให้กระจ่าง และนำคำชี้แจงมาแบ่งปัน ดังนี้ครับ
ในโลกของตลาดหุ้นจะมีกลุ่มนักเล่นหุ้นอยู่สองพวกครับคือ กลุ่มที่เชื่อว่าคนเราสามารถทายทิศทางตลาดและราคาหุ้นระยะสั้นได้ค่อนข้างแม่นยำ และกลุ่มที่เชื่อว่าไม่ว่าจะเก่งแค่ไหน คนเราก็ไม่สามารถทายทิศทางราคาหุ้นระยะสั้นได้แม่นยำเพียงพอจนทำกำไรเป็นกอบเป็นกำได้อย่างยั่งยืน
กลุ่มที่เชื่อว่าถ้าเก่งจริง ต้องทายทิศทางราคาระยะสั้นได้ ส่วนใหญ่จะดูกราฟและปัจจัยทางเทคนิคเยอะ และด้วยความเชื่อที่ว่าเขาสามารถทายระดับราคาที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ได้ เขาก็จะตั้งใจทำกำไรจากสิ่งที่เขาทำนาย เช่น ขายเมื่อคิดว่าราคาจะลง และซื้อเมื่อคิดว่าราคาจะขึ้น หลักการนี้อยู่บนพื้นฐานความคิดที่ว่า "จะถือแช่ยาวเป็นปีๆไปทำไม เสียเวลา ถ้าเราคาดว่ามันจะลงก็ขายไปก่อน ถ้าคิดว่ามันจะขึ้นก็ค่อยซื้อใหม่ ซื้อต่ำขายสูงอย่างนี้ไปเรื่อยๆสิ จะได้ทำกำไรได้หลายๆรอบ" ฟังดูดี แต่ความคิดนี้จะถูกต้องและทำกำไรก็ต่อเมื่อคุณทายทิศทางตลาดได้แม่นยำพอ
กลุ่มที่เชื่อว่าการคาดการณ์ทิศทางราคาระยะสั้น อยู่เหนือความสามารถของมนุษย์ ส่วนใหญ่ คือ นักลงทุน ที่เชื่อว่า ราคาในระยะสั้น ขึ้นอยู่กับอารมณ์และความต้องการของผู้ซื้อผู้ขายในแต่ละขณะ เช่น
ราคาหุ้นมักจะถูกกดให้ต่ำลง เมื่อผู้ขาย
- หวาดกลัวว่าราคาจะตกอย่างรุนแรงภายในเวลาอันสั้น
- มองแนวโน้มธุรกิจในแง่ลบมาก
- ต้องการเงินมาใช้ด่วน
- คิดว่าราคาจะปรับตัวขึ้นแรงเร็วๆนี้
- มองแนวโน้มธุรกิจในแง่บวกมาก
- มีสภาพคล่องเหลือมากมาย
อย่างไรก็ตาม "นักลงทุน" ก็ยังเชื่อว่า ราคาและผลตอบแทนของหุ้นในระยะยาวจะขึ้นอยู่กับ ปัจจัยพื้นฐาน และความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจนั้นเป็นหลัก คนเหล่านี้มองการลงทุนหุ้น เหมือนการลงทุนปกติทั่วไป เช่น การลงทุนในบ้าน คอนโด และที่ดิน
ตัวอย่างเช่น นักลงทุนคอนโดที่ดี ก็คงจะดูปัจจัยพื้นฐานที่ส่งผลต่อค่าเช่าและราคาคอนโดในอนาคต เช่น ทำเลรอบข้างเป็นอย่างไร มีสิ่งอำนวยความสะดวกหรือไม่ ถ้าไม่มี มีความน่าจะเป็นมากน้อยแค่ไหนที่ทำเลรอบข้างจะมีสิ่งปลูกสร้างที่ช่วยอำนวยความสะดวกสบาย เช่น ห้างสรรพสินค้า โรงพยาบาล ร้านอาหาร ถูกสร้างขึ้นในอนาคต และที่สำคัญที่สุดคือ การเดินทางไปมาสะดวกแค่ไหน มีหรือกำลังจะมีสถานีรถไฟฟ้า/ใต้ดินหรือไม่ นอกจากชื่อเสียงของบริษัทผู้สร้าง และความหรูหราสวยงามของตัวอาคาร ปัจจัยพื้นฐานเหล่านี้จะเป็นตัวช่วยกำหนด ค่าเช่าและราคาของคอนโดได้ในอนาคต
แต่"นักลงทุน" ที่ลงทุนในคอนโดคงไม่มานั่งดูราคารายวันของคอนโดว่าทะลุ "แนวต้าน" หรือยัง จะได้เข้าไปซื้อ หรือ ลดลงต่ำกว่า"แนวรับ"หรือยังจะได้รีบขายทิ้ง การเคลื่อนไหวของราคารายชั่วโมง/วัน/เดือน คงไม่ใช่สิ่งที่เขาสนใจเท่าไรนัก เพราะนักลงทุนเชื่อว่ามันเป็นสิ่งที่คาดเดาได้ยากและไม่ใช่สาระสำคัญ
บทสรุป
ในตอนท้ายของบทสนทนา ผู้เขียนได้บอกคุณเอว่า เราต้องถามตัวเองว่า เรามีความเชื่อแบบไหน จะได้ไม่สับสนวกไปวนมาว่าควรจะดูปัจจัยอันไหนกันแน่เวลาซื้อขายหุ้น
แต่คุณเอ และนักลงทุนทุกๆท่านไม่จำเป็นที่จะต้องรีบเลือกว่าจะเชื่อแบบไหนตอนนี้ เดี๋ยวนี้เลย ลองศึกษาจากประสบการณ์เซียนทั้งในไทยและต่างประเทศที่เขาประสบความสำเร็จมาก่อนว่า เขาทำกันอย่างไร มีข้อผิดพลาด ข้อดี ข้อเสียอะไรบ้าง พร้อมๆกับเรียนรู้จากประสบการณ์ของตนเองไปด้วย เช่น ลองสำรวจตัวเองว่าเราทำนายทิศทางราคาได้แม่นยำแค่ไหน เรามีข้อผิดพลาดอะไรบ้าง นักลงทุนที่ประสบความสำเร็จจะต้องไม่ทำความผิดพลาดเดิมซ้ำหลายๆครั้ง
เมื่อศึกษาและหาประสบการณ์มากพอ เราควรจะค้นพบสไตล์"การลงทุน"ของตนเองที่สามารถนำไปใช้ได้ผลจริง