การลงทุนหุ้น และเศรษฐกิจ อัพเดทรายสัปดาห์

29 ตุลาคม 2554

แผนของยุโรป และข้อบกพร่อง


วันที่27ตุลาคมที่ผ่านมา ยุโรปออกมาประกาศแผนสำหรับการแก้ปัญหาหนี้ที่ค้างคามานานแสนนาน แผนนี้มีองค์ประกอบที่สำคัญอยู่สามอย่างด้วยกันคือ

1.) กองทุนช่วยเหลือประเทศที่ประสบปัญหาหนี้ European Financial Stability Facility (EFSF) จะถูกเพิ่มวงเงินจาก สี่แสนสี่หมื่นล้านยูโร เป็นหนึ่งล้านล้านยูโร (ณ วันที่เขียน 1ยูโรมีค่าประมาณ43บาท 1ล้านล้านยูโร จึงเท่ากับ43ล้านล้านบาท) กองทุนนี้มีไว้สำหรับช่วยเหลือทั้งรัฐบาล และช่วยธนาคาร แต่จะช่วยธนาคารก็ต่อเมื่อรัฐบาลประเทศนั้นๆ ไม่สามารถช่วยเหลือธนาคารในประเทศของตนได้จริงๆ


2.) ผู้นำประเทศต่างๆใน EUกับIMF จะให้เงินกู้กับกรีซเพิ่มอีกหนึ่งแสนล้านยูโร (ทั้งๆที่รัฐมนตรีกระทรวงการคลังของกรีซพึ่งออกมากล่าวเมื่อไม่นานมานี้ว่า จะไม่สามารถลดงบประมาณขาดดุลได้ตามที่IMFตั้งเป้าไว้แต่แรก)

3.) ผู้นำEUตั้งเป้าไว้ว่าสัดส่วนหนี้รัฐต่อGDPของกรีซจะต้องลดลงจากประมาณ160%มาอยู่ที่ระดับ120%ภายในปี2020 จะไปให้ถึงเป้าหมายนั้น ภาคเอกชนผู้ถือพันธบัตรรัฐบาลของกรีซจะถูก haircut เป็นจำนวนเท่ากับ50%ของมูลค่าพันธบัตร จากเดิมที่เคยตกลงกันเมื่อเดือนกรกฎาว่าจะยอมขาดทุน20%จากมูลค่าหนี้รัฐบาลกรีซที่ถืออยู่

พอแผนการนี้ถูกประกาศ ตลอดหุ้นก็ตอบรับด้วยการปรับตัวขึ้นทันที วันพฤหัสและวันศุกร์รวมกันตลาดบ้านเราขึ้น35จุด หรือประมาณ3.7% และปิดที่973

ผมขอเตือนนักลงทุน และผู้อ่านทั้งหลายไว้ ณ ที่นี้ด้วยนะครับว่า การที่ผู้นำยุโรปเขามีแผนนั้นเป็นสิ่งที่ดี แต่แผนนี้ยังมีรายละเอียดอีกมากที่ท่านผู้นำยุโรปเหล่านี้จะต้องชี้แจง เช่น เงินจำนวนมหาศาลที่จะมาใส่เพิ่มในEFSFจะมาจากแหล่งใดบ้าง เงินที่IMFนำมาช่วยจะมีกฏข้อบังคับอะไรพ่วงมาด้วยมั้ย เป็นต้น

นอกจากนี้ ถึงแม้รายละเอียดต่างๆของแผนการนี้น่าจะถูกเตรียมการไว้เพียบพร้อมภายในต้นเดือนพฤศจิกายน ก็ไม่ได้หมายความว่า ทุกอย่างจะได้ผลตามที่ผู้นำยุโรปเขาวางแผนกันเอาไว้ ด้วยเหตุผลอย่างน้อยสองข้อด้วยกัน คือ 1.) นักลงทุนจะเชื่อหรือไม่ว่าเงินก้อนใหม่ของEFSFจะเพียงพอสำหรับการช่วยเหลือทุกรัฐบาล และธนาคารที่เดือดร้อน ถ้านักลงทุนไม่เชื่อ พวกเขาก็ยังจะเทขายหนี้ของรัฐบาลกลุ่มPIIGSกันต่อไป ดอกเบี้ยของรัฐบาลเหล่านี้ก็จะพุ่งขึ้นสูงมาก จนรัฐจ่ายไม่ไหว สิ่งที่เกิดขึ้นกับกรีซก็จะเริ่มกระจายประเทศอื่น เหมือนที่พวกเรากลัวๆกัน 2.) ภาคเอกชน ที่เป็นผู้ถือพันธบัตรรัฐบาลกรีซอาจจะไม่ยอมรับการขาดทุนหรือhaircutที่สูงถึง50%

มาถึงตรงนี้ผู้อ่านก็คงจะพอเข้าใจแล้วว่าอุปสรรคยังมีอยู่

แล้วถ้าเราสมมติว่าทุกอย่างเป็นไปตามแผนละ? ถ้าสมมุติว่า EFSFจะมีแหล่งเงินทุนที่แน่นอน IMFจะไม่ใส่กฎเกณฑ์ที่จะทำให้เศรษฐกิจกรีซย่ำแย่มากไปกว่านี้ เงินจากกองทุนช่วยเหลือจะเพียงพอสำหรับทุกภาคส่วน นักลงทุนก็จะไม่ตื่นกลัวกับหนี้เสียของกลุ่มPIIGSอีกต่อไป และสุดท้ายภาคเอกชนรับได้กับhaircutจำนวน50%

สิ่งที่กล่าวไปทั้งหมดนั้นคาดเดาได้ยากเหลือเกินว่าจะเกิดขึ้นหรือไม่ โดยเฉพาะส่วนที่ว่า"นักลงทุนก็จะไม่ตื่นกลัวกับหนี้เสียของกลุ่มPIIGSอีกต่อไป" เพราะไม่ใครรู้จริงๆว่าตลาดจะตอบรับกับเรื่องทั้งหมดแบบไหน อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าเราจะลองมองโลกในแง่บวกที่สุด แล้วสมมุติว่าทุกอย่างเป็นไปตามแผน ยุโรปก็ยังมีปัญหาเหลือยู่อีกปัญหาหนึ่ง คือ กรีซจะไม่สามารถจ่ายเงินหนี้คืนได้อยู่ดี

ตามแผนที่กำหนดไว้ haircutที่คิดเป็น50%ของมูลค่าหนี้กรีซที่ภาคเอกชนยอมรับภาระนั้นคิดเป็นจำนวนเงินหนึ่งแสนล้านยูโร เงินก้อนนี้เปรียบเสมือนเงินช่วยเหลือจากภาคเอกชนที่ผู้นำยุโรปกล่าวว่า จะทำให้สัดส่วนหนี้รัฐบาลต่อGDPของประเทศกรีซลดลงจากประมาณ160%ในปัจจุบัน เหลือ120%ในปี2020 ความจริงวันนี้คือ ถึงแม้หนี้จะลดลงเหลือ120%ของGDP กรีซก็ไม่มีปัญญาจ่ายอยู่ดี

จากการศึกษาข้อมูลในอดีตที่ย้อนหลังไปเป็นหลายร้อยปี Carmen Reinhart และ Kenneth Rogoff ได้กล่าวไว้ในหนังสือ This Time is Different ว่า เมื่อหนี้ของรัฐบาลเพิ่มขึ้นสูงมากจนถึงระดับหนึ่งจะเริ่มเป็นอันตรายต่อประเทศ และระดับที่ว่านั้นก็คือประมาณ90% ซึ่งจะเป็นอันตรายก็เพราะการลดระดับหนี้จะทำได้ยากมาก และระดับหนี้ที่สูงเกินไปจะเริ่มส่งผลลบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโดยตรง

Ken Rogoff ได้กล่าวไว้ในรายการโทรทัศน์ของBloombergว่า "แต่ระดับ90%ที่ว่า เป็นระดับเทียบเคียงสำหรับประเทศที่พัฒนาแล้ว สำหรับประเทศที่ยังไม่พัฒนา เกณฑ์เทียบเคียงจะต้องต่ำกว่านั้น และกรีซก็ไม่ใช่ประเทศที่พัฒนาแล้ว"

ถ้าดูจากในหนังสือของเขา เราจะพบว่าเกณฑ์ของประเทศที่กำลังพัฒนานั้นอยู่ที่ประมาณ65% ขอย้ำกันชัดๆอีกครั้งนะครับว่า หนี้รัฐต่อGDPของกรีซ = 160% เขตอันตราย = 65% และถึงแม้กรีซจะลดระดับหนี้มาถึง120%ได้ตามเป้า ก็ยังเป็นสัดส่วนที่สูงไปมากๆอยู่ดี


สิ่งที่ผมอยากเตือนไว้ก็คือ การที่ผู้นำยุโรปออกมาประกาศแผนการต่างๆ แล้วตลาดหุ้นทั่วโลกตอบรับด้วยการปรับตัวขึ้นกันทั่วหน้านั้น ไม่ได้หมายความว่าปัญหาทุกอย่างในยุโรปจบแล้ว สิ่งที่ผมไม่ได้อยากได้ยินก็คือ "เห็นในข่าวบอกว่า เขามีแผนออกมารองรับแล้วนิ่ ตลาดหุ้นก็ฟื้นตัวกลับมาจนทะลุ1000จุดแล้วด้วย ปัญหาคงจบแล้วละ"

นักลงทุนควรเตือนตัวเองไว้เสมอว่า
1.) ปัญหาของกรีซจะไม่จบเร็วๆนี้
2.) ตลาดหุ้นปรับตัวลงไม่ได้หมายความว่าปัญหาแย่ลง และตลาดหุ้นปรับตัวขึ้นไม่ได้บ่งชี้ว่าทุกอย่างคลี่คลายแล้ว อย่าเอาความจริงไปปนกับอารมณ์ของตลาด

Posted in:
Twitter