การลงทุนหุ้น และเศรษฐกิจ อัพเดทรายสัปดาห์

05 พฤศจิกายน 2554

ลงทุนแบบ Warren Buffett: Part III ธุรกิจที่มีอนาคตดี (Durable Competitive Advantage)


บทความนี้เป็นบทความต่อเนื่องกับ "ลงทุนแบบ Warren Buffett: Part II" เพราะผมนำเอาคุณลักษณะที่สองของบริษัทที่บัฟเฟตต์สนใจมาขยายความต่อครับ

คุณลักษณะดังกล่าวคือ ธุรกิจจะต้อง"มีอนาคตระยะยาวที่น่าพอใจ"

ต้องขอเน้นคำว่า"ระยะยาว"นะครับ เพราะนักลงทุนผู้นี้ เขามองการซื้อหุ้นเหมือนเป็นการซื้อธุรกิจ โดยจะถามตัวเองก่อนเสมอว่า "ถ้าเราต้องซื้อบริษัทนี้ทั้งบริษัท แล้วต้องอยู่กับมันไปอีกห้าถึงสิบปี เราจะกล้าซื้อมั้ย?" เพราะฉะนั้น บัฟเฟตต์จะเพ่งความสนใจไปที่"ตัวธุรกิจ"ว่าจะดีหรือแย่ในอนาคต แทนที่จะจดจ่อว่า"ราคาหุุ้น"จะขึ้นหรือจะลงในอนาคต เมื่อเข้าใจมุมมองของบัฟเฟตต์ได้อย่างถูกต้องแล้ว เราจะเข้าใจคำพูดและคำแนะนำของเขาได้ดีขึ้น

สิ่งที่ผมจะนำเสนอต่อไปนี้ คือคำแนะนำที่มีค่ามากที่สุดอันหนึ่งของ วอร์เรน บัฟเฟตต์ เลยครับ แต่คำแนะนำดังกล่าวจะถูกตัดออกเป็นส่วนๆ เพื่อเราจะได้วิเคราะห์ความหมายได้ละเอียดขึ้นครับ

"ความลับสู่ความสำเร็จในการลงทุนนั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับ ความรู้ว่าอุตสากรรมนั้นจะเปลี่ยนแปลงการใช้ชีวิตคนไปมากน้อยแค่ไหน"

นับมาตั้งแต่อดีตกาลนานมาแล้วนั้น นักลงทุนจำนวนไม่น้อยให้ความคาดหวังไว้สูงกับธุรกิจที่จะ"เปลี่ยนแปลงโลก" ไม่ว่าจะเป็นบริษัทขนส่งทางรถไฟ บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ บริษัทสายการบิน บริษัทผลิตสินค้าอิเล็กโทรนิคส์ต่างๆ บริษัทผู้ผลิตคอมพิวเตอร์ และล่าสุดบริษัทที่เกี่ยวข้องกับอินเตอร์เน็ต

ผู้คนนั้นแย่งกันลงทุน และเก็งกำไรในบริษัทที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะในช่วงยุคแรกๆที่นวัตกรรมที่ถูกกล่าวมาข้างต้นพึ่งถูกคิดค้นได้ไม่นาน ตัวอย่างเช่น คนจำนวนมากแย่งกันลงทุนในบริษัทที่ทำเว็บไซต์ หรือเกี่ยวข้องกับอินเตอร์เน็ตในตลาดอเมริกาในช่วงปลายของยุค90's ด้วยความคิดว่าอินเตอร์เน็ตจะเปลี่ยนแปลงการใช้ชีวิตคน ต่อไปอินเตอร์จะเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องใช้ จะเป็นยุคที่อินเตอร์เน็ตเฟื่องฟู!

ความคิดที่ว่ามาถูกทุกข้อครับ แต่หลายๆครั้งสิ่งที่ดีกับผู้บริโภคนั้นก็แย่กับผู้ผลิต คือผู้บริโภคอย่างพวกเรามีชีวิตที่สะดวกสบายขึ้นมากก็จริง แต่การทำกำไรจากอินเตอร์เน็ตนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ผลก็คือบริษัทส่วนใหญ่ในธุรกิจ"dot com"เจ๊งไปตามๆกัน ดัชนีNASDAQซึ่งเป็นดัชนีที่ประกอบไปด้วยบริษัทต่างๆที่เกี่ยวกับITของอเมริกา ปรับตัวลงกว่า80%จากสูงสุดมาที่จุดต่ำสุด

สิ่งที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ไม่ได้หมายความว่า พอมีอุตสาหกรรมใหม่ๆขึ้นมาเราต้องไม่ลงทุนในอุตสหกรรมเด็ดขาด ลงทุนได้ แต่ต้องดูเป็นรายบริษัทไป และจำไว้เสมอว่าสิ่งที่เปลี่ยนแปลงชีวิตคน หรือเปลี่ยนแปลงโลกได้นั้นอาจจะไม่ทำกำไรเสมอไป

จากบรรดาธุรกิจ"dot com"จำนวนไม่กี่รายที่อยู่ยงคงกระพันมาถึงทุกวันนี้ มีอย่างน้อย 2 บริษัทคือ Amazon และ Google ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างสูงและให้ผลตอบที่ดีมากกับนักลงทุนในเวลาต่อมา

"หรือแม้กระทั่งอุตสาหกรรมนั้นจะโตมากหรือน้อยเพียงใด"

ในประโยคที่ถูกตัดมานี้ บัฟเฟตต์กล่าวเพิ่มว่า แม้กระทั้งความรู้ว่าอุตสาหกรรมนั้นจะโตมากน้อยขนาดไหนก็ไม่ใช่ความลับสู่ความสำเร็จในการลงทุน เพราะว่า อุสหากรรมโต ไม่ได้หมายความว่าความเป็นอยู่ของบริษัทในอุตสาหกรรมนั้นจะดีตาม

ตัวอย่างเช่น ตลาดรถยนต์ของโลกมีอัตราการเติบโตอย่างโตเนื่องมาตลอด (ยกเว้นช่วงสั้นๆบางช่วง ซึ่งเกิดจากวิกฤตเศรษฐกิจที่รุนแรง) แต่บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ยักษ์ใหญ่ของอเมริกา อย่าง Ford GM และChrysler ก็ยังมีผลประกอบการที่แย่ลงๆในแต่ละปี เพราะแข่งขันกับค่ายรถญี่ปุ่นไม่ได้ ซึ่งคล้ายกับธุรกิจการบิน ที่มีจำนวนผู้โดยสารมากขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจที่เจริญเติบโต แต่บริษัทสายการบินนับไม่ถ้วนกลับมีผลประกอบการขาดทุนเป็นเรื่องปกติ(การบินไทยก็ไม่อยู่ในข้อยกเว้น) และบริษัทที่ล้มละลายไปแล้วก็มีนับไม่ถ้วนเช่นเดียวกัน อันเนื่องมาจาก 1.)ธุรกิจมีการแข่งขันสูง แข่งตัดราคาเพื่อแย่งลูกค้ากันเป็นว่าเล่น 2.)ต้นทุนส่วนใหญ่นั้นมาจากน้ำมัน ซึ่งราคาน้ำมันนั้นจะปรับตัวขึ้นเรื่อยๆในระยะยาว เป็นตัวบีบให้อัตราผลกำไรนั้นแคบ หรือทำให้ขาดทุนไปเลยในหลายๆครั้ง

"แต่ความลับสู่ความสำเร็จนั้นอยู่ที่ความสามารถในการค้นหาความได้เปรียบในการแข่งขันของบริษัท"

นี้ละครับ คำตอบที่ทุกคนรอคอย จะประสบควาสำเร็จในการลงทุนได้ อย่ามองว่ามันจะเปลี่ยนแปลงชีวิตคนขนาดไหน และอย่าไปสนใจมากนักว่าภาคอุตสาหกรรมนั้นจะโตมากโตน้อย แต่ต้องหาให้ได้ว่าบริษัทที่เราจะลงทุนนั้นมีความได้เปรียบในการแข่งขัน หรือจุดแข็งในด้านไหน  (อ่าน 5จุดแข็งของบริษัทที่น่าลงทุน) โดยบริษัทจะต้องมีหนึ่งใน5จุดแข็งที่ผมเคยกล่าวไปในบทความในอดีต

สำหรับ วอเรน บัฟเฟตต์ เขามักจะเลือกบริษัทที่มีความได้เปรียบด้าน Perceived Product Differentiation คือมีสินค้าที่มียี่ห้อ และมีกลุ่มลูกค้าที่นิยมใช้ ติดใจในยี่ห้อนั้นๆอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็น เครื่องดื่มโค้ก ซุปCampbell ร้านMcDonald's รองเท้าNike

"โดยเฉพาะอย่างยิ่งความคงทนของข้อได้เปรียบนั้น"

ในประโยคที่ถูกตัดมานี้ บัฟเฟตต์กล่าวว่า จะมีความได้เปรียบอย่างเดียวนั้นไม่พอ ความได้เปรียบทางการแข่งขันนั้นจะต้องคงทนด้วย จะรู้ได้ไงว่าความได้เปรียบนั้นคงทนหรือไม่?

ความได้เปรียบทางการแข็งขันที่คงทนจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อ
1.)เป็นสินค้าหรือบริการที่มีลูกค้าชื่นชอบมานาน เพราะลูกค้าได้มองเห็นว่าสินค้าดังกล่าวมีคุณภาพ หรือเป็นยี่ห้อที่น่าเชื่อถือ
2.)ข้อได้เปรียบนั้นจะต้องอยู่ที่สินค้า หรือบริการเป็นหลัก ไม่ใช่อยู่ที่ทักษะของบุคคลในองกรค์เท่าไรนัก ตัวอย่างเช่น พนักงานที่อยู่ในขั้นตอนการผลิตโค้กนั้นไม่ต้องมีความรู้เกี่ยวกับส่วนผสม หรือความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์อะไรทั้งสิ้น เพราะบริษัทเขามีส่วนผสมของเขาอยู่แล้ว มีคนและเครื่องจักรคอยผลิตเครื่องดื่ม ซึ่งไม่ว่ายังไงโค้กก็ยังใช่ส่วนผสมเดิมวันยันค่ำ และยังขายดีได้เหมือนเดิม ต่างจากบริษัทที่ผลิตคอมพิวเตอร์และมือถือ อย่างAppleซึ่งต้องอาศัยบุคคลที่มีความรู้ ความชำนาญสูง และมีประสบการณ์พอสมควร จริงอยู่ว่าพอAppleออกiPhoneมาก็เป็นที่นิยมอยู่ตั้งหลายปี แต่iPhoneและสินค้าอื่นๆของAppleเป็นสินค้าที่ต้องได้รับการปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา จึงจะอยู่ในตลาดและแข่งขันกับผู้อื่นได้ ซึ่งประสิทธิผลของการปรับปรุง เปลี่ยนแปลงและพัฒนาสินค้านั้น ขึ้นอยู่กับทักษะของคนในองกรค์ล้วนๆ ถ้าบุคลากรหลักๆลาออก หรือจากองกรค์ไป (สตีฟ จ็อบส์?) ใครจะกล้ารับรองว่า บริษัทจะแข็งแกร่งเหมือนเดิม?

"สินค้าหรือบริการที่มี"คูเมือง"อันกว้างขวาง และคงทนล้อมรอบอยู่นั้นจะเป็นสิ่งที่ให้ผลตอบแทนที่ดีต่อนักลงทุน"

ในประโยคสุดท้ายนี้ บัฟเฟตต์ได้สรุปความลับสู่ความสำเร็จไว้สั้นๆ ซึ่งเหมือนคำพูดของเขาจะเป็นการบ่งชี้ว่า "สินค้าและบริการ"คือหัวใจ ไม่ใช่ทักษะพิเศษทางด้านต่างๆของคนในบริษัท ซึ่งตรงกับที่เรากล่าวไว้ข้างต้น

ส่วนคำว่า"คูเมือง"นั้นมาจากคำว่าmoatในภาษาอังกฤษ ซึ่งในที่นี้ บัฟเฟตต์ได้ใช้สื่อความหมายว่าเป็นความได้เปรียบในการแข่งขัน

บัฟเฟตต์ใช้คำว่า คูเมือง เพราะว่า ประสาทหรือหัวเมืองที่ดี จะต้องมีคูน้ำหรือคูเมืองที่ดี คือกว้างและคงทน เพื่อป้องกันไม่ให้ข้าศึกเข้ามาตีได้ง่ายๆ เพราะฉะนั้น ความได้เปรียบทางการแข่งขัน ก็ทำหน้าที่เหมือนเป็น"คูเมือง"ที่ป้องกันไม่ให้บริษัทคู่แข่งเข้ามาแย่งตลาดจากเราได้ง่ายๆ และทำให้บริษัทมียอดขายและกำไรที่เติบโตได้อย่างมั่นคงนั้นเอง พูดสั้นๆคือ competitive advantage = economic moat

สุดท้าย เราจะนำประโยคทั้งหมดมารวมกัน ซึ่งได้ความว่า


"ความลับสู่ความสำเร็จในการลงทุนนั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับ ความรู้ว่าอุตสากรรมนั้นจะเปลี่ยนแปลงการใช้ชีวิตคนไปมากน้อยแค่ไหน หรือแม้กระทั่งอุตสาหกรรมนั้นจะโตมากหรือน้อยเพียงใด แต่ความลับสู่ความสำเร็จนั้น อยู่ที่ความสามารถในการค้นหาความได้เปรียบในการแข่งขันของบริษัท โดยเฉพาะอย่างยิ่งความคงทนของข้อได้เปรียบนั้น สินค้าหรือบริการที่มี"คูเมือง"อันกว้างขวางและคงทนล้อมรอบอยู่นั้นจะเป็นสิ่งที่ให้ผลตอบแทนที่ดีต่อนักลงทุน"



"the secret to successful investing is not locked up in the knowledge of how much an industry is going to alter the way people live their lives, or even in how much it's going to grow, but rather in determining the competitive advantage of any given company and, above all, the durability of the advantage. Products or services that have wide, sustainable moats around them are the ones that deliver rewards to investors." Warren Buffett

ในคลิปวีดีโอด้านล่าง บัฟเฟตต์ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับ durable competitive advantage


คลิกเพื่ออ่าน Part I บทนำ หรือ Part II: กฏ4ข้อในการลงทุน

Posted in:
Twitter