การลงทุนหุ้น และเศรษฐกิจ อัพเดทรายสัปดาห์

02 พฤษภาคม 2555

คำแนะนำที่น่าเชื่อถือ: มาร์เก็ตติ้ง


ผู้ใหญ่ทั้งหลายมักจะเตือน ลูก หลาน ว่าอย่าเชื่อคำพูดหรือไปไหนกับคนแปลกหน้า

พอโตขึ้นมาหน่อย เราเองคงได้เรียนรู้ว่า ก่อนจะเชื่อใคร ให้ดูด้วยว่าคนคนนั้นน่าเชื่อถือแค่ไหน

สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่เราถูกพร่ำสอน ประกอบกับเรียนรู้ด้วยตนเองมาตั้งแต่เกิด แต่มันกลับมีช่องโหว่อยู่ 2 อย่างด้วยกัน คือ
1. คนที่ไม่ได้แปลกหน้าและรู้จักมักคุ้นกันดี ก็เอาเปรียบเราได้หน้าตาเฉยเช่นกัน
2. ความน่าเชื่อถือของแต่ละคนนั้นยากที่จะวัดได้

เกณฑ์ที่แม่นยำที่สุด คือ การมองหา "แรงจูงใจ" ที่แท้จริง ของผู้พูด หรือ ผู้ที่ให้คำแนะนำกับเรา ซึ่งรวมไปถึงผู้ที่ให้คำแนะนำด้านการลงทุนเช่นกัน

ความน่าเชื่อถือของมาร์เก็ตติ้งหุ้น

นักลงทุนหลายๆท่านเลือกที่จะเปิดบัญชีหุ้น แบบที่พ่วงมาร์เก็ตติ้งมาด้วยหนึ่งคน ซึ่งมักจะทำหน้าที่อัพเดทข่าว ให้คำปรึกษาการลงทุน และช่วยซื้อขายหุ้นให้ตามคำสั่งของลูกค้า ซึ่งดูจากเนื้องานแล้ว มาร์เก็ตติ้งควรจะเป็นผู้ดูแลผลประโยชน์ให้กับนักลงทุน

ทว่า สิ่งนั้นอาจไม่ได้เป็นความจริงเสมอไป เพราะรายได้ส่วนใหญ่ของมาร์เก็ตติ้งมาจาก ค่าคอมมิชชั่น หรือ ค่านายหน้าซื้อขายหุ้น ซึ่งหมายความว่า ยิ่งลูกค้าซื้อขายด้วยเงินจำนวนมาก และซื้อขายบ่อยๆ มาร์เก็ตติ้งก็ยิ่งรวย สิ่งนี้จะทำหน้าที่เป็นแรงจูงใจให้มาร์เก็ตติ้งกระตุ้นให้ลูกค้าเทรดบ่อย

เพราะฉะนั้น เวลาที่ขอคำแนะนำ คุณต้องตระหนักเสมอว่า มาร์เก็ตติ้ง มีแรงจูงใจที่จะแนะนำให้คุณซื้อขายถี่ ด้วยเงินจำนวนมาก จนหลายๆครั้งอาจถี่เกินความจำเป็น ท่านผู้อ่านSETTALKมาสักพักคงทราบดีว่า เราสนับสนุน"การลงทุน" และต่อต้านการซื้อขายบ่อย หรือที่เป็นที่รู้จักกันว่า "การเก็งกำไร" เหตุผลคือ

"People who invest make money for themselves; people who speculate make money for their brokers.
And that, in turn, is why Wall Street perennially downplays the durable virtues of investing and hypes the gaudy appeal of speculation." - Jason Zweig

"คนที่ลงทุน ทำเงินให้ตัวเอง คนที่เก็งกำไรทำเงินให้โบรกเกอร์ และนั้นคือเหตุผลที่ Wall Street ละทิ้งคุณค่าของการลงทุนมาตลอด และส่งเสริมการเก็งกำไร"

อยากทราบข้อแตกต่างระหว่าง การลงทุน vs การเก็งกำไร กรุณาเริ่มอ่านจากบทความนี้ครับ Quotes เด็ดๆ: Invest. Don't Speculate


ตัวอย่างล่าสุดเกี่ยวกับ ความน่าเชื่อถือของมาร์เก็ตติ้ง คือเรื่องดังต่อไปนี้ครับ

มาร์เก็ตติ้งสาวคนหนึ่ง แนะนำให้เพื่อนของเธอที่เป็นลูกค้า ซื้อหุ้นPO (Public Offereing) ตัวหนึ่งที่ราคา 1.50 บาท เธอแนะนำหุ้นตัวนี้ เพราะภรรยาของเจ้าของบริษัทดังกล่าวได้บอกไว้ว่า ราคาหุ้นจะเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าจากราคา Public Offering

ลูกค้าท่านนี้เชื่อ และซื้อไป 300,000 หุ้น หรือคิดเป็นเงินมูลค่า 450,000 บาท

วันที่หุ้นได้กลับเข้ามาเทรดในตลาด หุ้นตกจาก 1.5 บาท มาที่ 1.25

มาร์เก็ตติ้งสาวบอกให้ลูกค้าของเธอใจเย็นๆ เดี๋ยวราคาจะต้องตีกลับขึ้นมาแน่นอน

ลูกค้าท่านนี้เชื่ออย่างสนิทใจ ลดหุ้นตัวอื่นในพอร์ท เพื่อนำเงินมาซื้อหุ้นตัวนี้โดยเฉพาะ ซื้อเพิ่มจนมีหุ้นตัวนี้อยู่ในพอร์ทถึง 3 ล้านหุ้น

ปัจจุบัน ราคาของหุ้นดังกล่าวอยู่ที่ประมาณ 35-45 สตางค์ ลงจากราคาPOมากว่า 70%

นี้คือเรื่องราวจาก Bangkok Post - A cautionary tale: Investor learns expensive lesson about relying on friend's advice for stocks

ถ้าทั้งหมดที่ลูกค้าท่านนี้เล่ามาเป็นความจริง จะเห็นได้ว่ามาร์เก็ตติ้งคนนี้ยอมเอาข่าวลือมากระตุ้นให้ลูกค้าตัวเองซื้อหุ้นตัวนี้เยอะๆ เพียงแค่เพราะตัวเองได้ค่าคอมมิชชั่นมากตามไปด้วย

นักลงทุนบางท่าน โดยเฉพาะนักลงทุนมือใหม่อาจคิดว่า "มาร์เก็ตติ้งเขาอยู่กับตลาดมาทุกวันๆ มาเป็นปีๆ เขาต้องรู้อะไรดีๆมากกว่าคนทั่วไปซิ เพราะฉะนั้นคำแนะนำของเขาก็ต้องช่วยเราได้บ้างแหละ"

ก่อนที่จะเชื่อแบบนั้นจริงๆ นักลงทุนทั้งหลายควรเตือนตัวเองไว้เสมอว่า
1. มาร์เก็ตติ้งมีแรงจูงใจที่จะกระตุ้นให้เราเทรดบ่อย เนื่องจากค่าคอมมิชชั่นที่เขาได้รับนั้นขึ้นอยู่กับมูลค่าการซื้อขายหุ้น
2. "การลงทุน"ที่ถูกต้อง ควรใช้ปัจจัยทางพื้นฐานเป็นหลัก การดูปัจจัยพื้นฐานนั้นต้องอาศัยการอ่านงบการเงิน ทว่า มีมาร์เก็ตติ้งจำนวนมากที่อ่านงบการเงินไม่เป็น

ทำให้เราสรุปได้ว่า ความน่าเชื่อถือของคำแนะนำขึ้นอยู่กับสองปัจจัยหลัก คือ แรงจูงใจ และความรู้ความสามารถของผู้แนะนำ

สุดท้ายนี้อยากฝากไว้ว่า ถ้านักลงทุนเชื่อคำแนะนำที่ไม่ดีของมาร์เก็ตติ้ง และซื้อขายตามคำแนะนำดังกล่าว นักลงทุนเองต้องโทษตัวเองด้วยเช่นกัน เพราะสุดท้ายแล้ว การตัดสินใจซื้อขายขึ้นอยู่กับตัวเรา มาร์เก็ตติ้งคนไหนก็ไม่สามารถบังคับเราได้


ตอนต่อไป คำแนะนำที่น่าเชื่อถือ: นักวิเคราะห์

Posted in:
Twitter