การลงทุนหุ้น และเศรษฐกิจ อัพเดทรายสัปดาห์

07 พฤษภาคม 2555

คำแนะนำที่น่าเชื่อถือ: นักวิเคราะห์


หลังจากที่ได้โพสบทความ "คำแนะนำที่น่าเชื่อถือ: มาร์เก็ตติ้ง" ลงไปในบล็อก ผู้เขียนอีกสองท่านจากSETTALK ได้แสดงความคิดเห็น และความห่วงใยออกมาว่า

"อย่าให้พวกมาร์เก็ตติ้งรู้นะว่าใครเป็นคนเขียน ฮ่าๆๆๆ" Matt
"ไม่กลัวพวกมาร์เก็ตติ้งรู้เหรอ? แล้วคนอ่านที่เขาชอบมาร์เก็ตติ้งของตัวเองอยู่แล้วละ เขาจะไม่เลิกอ่านSETTALK ไปเลยเหรอ" Glass

ต้องบอกตรงๆว่า ผมเขียนเพื่อผลประโยชน์ของนักลงทุนครับ ถ้าเป็นเรื่องที่นักลงทุนทราบแล้วลงทุนได้ดีขึ้น ผมก็คงต้องเขียนต่อไป
ความเดิมจากตอนที่แล้ว...

ผู้เขียนได้บอกไปในตอนจบว่าความน่าเชื่อถือของคำแนะนำที่เราได้รับขึ้นอยู่กับ 2 ปัจจัยหลัก คือ
1. แรงจูงใจของ และ
2. ความรู้ความสามารถของคนที่ให้คำแนะนำ
-------------------------------

การที่เราจะเข้าใจแรงจูงใจของนักวิเคราะห์ได้นั้น ท่านผู้อ่านควรทราบก่อนนะครับว่า นักวิเคราะห์ถูกแบ่งออกเป็นสองประเภท คือ

Buy-Side Analysts 
นักวิเคราะห์กลุ่มนี้จะทำงานให้กับ บริษัทที่จัดการกองทุน เช่น กองทุนรวม (mutual fund) กองทุนบำเหน็จบำนาญ (pension fund) และ hedge fund เป็นต้น นักวิเคราะห์ประเภทนี้มีหน้าที่หาโอกาสการลงทุนที่จะให้ผลตอบแทนที่ดีที่สุดต่อพอร์ทของกองทุนหรือบริษัทของพวกเขา บทวิเคราะห์ประเภทนี้จะถูกเก็บเป็นความลับของบริษัท และไม่เผยแพร่สู่สาธารณชน

ในส่วนของ buy-side analysts นั้น แรงจูงใจ คือ ยิ่งพวกเขาหาโอกาสการลงที่ดีให้กับบริษัทได้มากเท่าไร รายได้ของพวกเขาก็ยิ่งมาก

Sell-Side Analysts 
บทวิเคราะห์ที่ท่านผู้อ่านเห็นว่าแจกฟรีในsettrade นั้นแหละครับ คือ บทวิเคราะห์จากsell-side analystsที่มีลูกค้าเป็นนักลงทุนรายย่อยอย่างพวกเรา ถ้าบทวิเคราะห์ยังแจกฟรี นักวิเคราะห์เหล่านี้หารายได้มาจากไหน?

sell-side analysts มีหน้าในการหาลูกค้าให้กับบริษัทหลักทรัพย์ ลูกค้าจำนวนมากต้องการบทวิเคราะห์มาประกอบการตัดสินใจลงทุน เพราะฉะนั้น ถ้าลูกค้าเชื่อว่าบทวิเคราะห์มีคุณภาพ มันก็มีโอกาสมากขึ้นที่ลูกค้าจะมาเปิดบัญชีกับบริษัทหลักทรัพย์นั้นๆ และเมื่อมีลูกค้ามาเทรดหุ้นกับบล.มากขึ้น ฝ่ายวิเคราะห์ก็จะได้ผลตอบแทนที่ดีขึ้นตามไปด้วย

หมายเหตุ: sell-side analysts มีลูกค้าได้สองประเภท คือ นักลงทุนรายย่อย และ สถาบัน
ในบทความนี้ เราจะพูดถึง sell-side ที่มีลูกค้าเป็นนักลงทุนรายย่อยเท่านั้น เพราะผู้เขียนเข้าใจว่าผู้อ่านSETTALK อย่างน้อย99% คือ นักลงทุนรายย่อย


ปัญหาของแรงจูงใจ

ในส่วนของ buy-side analysts จะไม่มีปัญหาด้านแรงจูงใจ เพราะผลตอบแทนของนักวิเคราะห์ ขึ้นอยู่กับผลตอบแทนของผู้ใช้บทวิเคราะห์ (เช่น บริษัท และกองทุนต่างๆ) สิ่งนี้จะเป็นแรงจูงใจให้นักวิเคราะห์ผลิตแต่บทวิเคราะห์ที่มีคุณภาพ ถ้าบทวิเคราะห์แย่ ผลตอบแทนของกองทุนก็จะแย่ตาม เงินที่เหลือมาจ่ายโบนัสให้กับนักวิเคราะห์ก็น้อยลง

ในกรณีของ sells-side analysts ผลตอบแทนของนักวิเคราะห์ไม่ได้ขึ้นอยู่กับผลตอบแทนของผู้ใช้บทวิเคราะห์โดยตรง ถ้าบทวิเคราะห์แย่ แต่บริษัทหลักทรัพย์ยังกำไรดี เพราะมีลูกค้าเทรดเยอะ ผลตอบแทนของนักวิเคราะห์ที่เป็นsell-sideก็จะดีตามกำไรของนายจ้างซะส่วนใหญ่ ถึงแม้นักลงทุนรายย่อยที่ซื้อขายหุ้นตามบทวิเคราะห์จะขาดทุนก็ตาม

ท่านผู้อ่านก็คงพอจะนึกออกว่า ปัญหาที่ตามมาก็จะคล้ายๆกับ ปัญหาแรงจูงใจที่เกิดขึ้นกับมาร์เก็ตติ้ง คือ

ผลตอบแทนของผู้แนะนำ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับคุณภาพของคำแนะนำโดยตรง แต่กลับขึ้นอยู่กับจำนวนเงิน และจำนวนครั้งที่ลูกค้าเทรดหุ้น

นี่เองคือสาเหตุที่ บทวิเคราะห์ที่แนะนำ "ซื้อ" จึงมีมากกว่าบทวิเคราะห์ที่แนะนำ "ขาย" อยู่หลายเท่าตัว เหมือนที่นักวิเคราะห์ต่างชาติท่านหนึ่งเคยกล่าวไว้ว่า

"สัดส่วน[ของบทวิเคราะห์]ที่แนะนำให้ขายในวอลล์ สตรีทนั้นต่ำกว่า5%เสียอีก ทั้งๆที่นักศึกษาปีหนึ่งMBAก็บอกคุณได้แล้วว่า ไม่มีทางเลยที่หุ้นในตลาดที่เหลืออีก95%จะเป็นหุ้นที่ดีทั้งหมด"

และผู้เขียนก็ได้เขียนเสริมไปว่า

/\ ประโยคนี้จริงกับสหรัฐอเมริกา และคงจะจริงกับประเทศไทยด้วยเช่นเดียวกัน

ถ้าให้ผมเดาคร่าวๆ ผมเดาว่ากว่า90%ของบทวิเคราะห์ที่มีให้อ่านทุกวันนี้เป็นบทวิเคราะห์ที่แนะนำให้"ซื้อ", "ซื้อเมื่ออ่อนตัว", "ซื้อระยะยาว" และ "ถือ"

บริษัทที่เป็นเจ้าของบทความเหล่านี้ไม่ใช่บริษัทที่น่าเชื่อถือได้เสมอไปเพราะ
1.) บริษัทที่ถูกวิเคราะห์นั้นอาจจะเป็นลูกค้าที่ใช้บริการจากบริษัทผู้วิเคราะห์อยู่ แทนที่ผู้วิเคราะห์จะแนะนำ"ขาย" ก็กลับต้องแนะนำ"ถือ"แทน(หรือไม่ก็เลิกเขียนบทวิเคราะห์เกี่ยวกับบริษัทนั้นไปเลย) เพราะกลัวว่าผู้ที่ถูกวิเคราะห์นั้นจะไม่พอใจ จนอาจจะทำให้บริษัทผู้วิเคราะห์เสียลูกค้าได้
2.) ทุกๆการซื้อขาย นักลงทุนจะต้องจ่ายค่าคอมมิชชั่น และพวกที่ได้คอมมิชชั่นก็คือบริษัทที่สนับสนุนให้เรา"ซื้อ"กันเนี้ยแหละ ยิ่งมีปริมาณการซื้อ-ขายมาก ยิ่งได้ค่าคอมมิชชั่นมาก

ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ไม่ได้หมายความว่า นักวิเคราะห์ที่เป็นsell-sideเขียนบทวิเคราะห์และให้คำแนะนำเพื่อสร้าง volume การซื้อขายเท่านั้น แต่นักลงทุนก็ควรตระหนักไว้ว่านักวิเคราะห์เหล่านี้ได้ค่าจ้างจากบริษัทหลักทรัพย์ (ซึ่งหาผลกำไรจากvolumeการเทรด) 


Posted in:
Twitter