การลงทุนหุ้น และเศรษฐกิจ อัพเดทรายสัปดาห์

28 พฤษภาคม 2555

กรีซจะออกจากยูโร... แต่ยังไม่ใช่เร็วๆนี้


หลายท่านอาจคิดว่าปัญหาหนี้ยุโรปกลับมารังควานตลาดหุ้นอีกแล้ว

ความจริงก็คือ ปัญหานี้มันไม่เคยหายไปไหน สาเหตุหลักๆเลยก็คือ กรีซยังไม่สามารถจ่ายหนี้ที่เหลือคืนได้ ถึงแม้จะมีการhaircutไปสองรอบแล้วก็ตาม และประเทศอื่นในกลุ่มPIIGSก็ยังมีปัญหาที่คล้ายๆกันอยู่ โดยเฉพาะสเปน และโปรตุเกส ซึ่งสเปนคงจะต้องได้รับการช่วยเหลือจากองค์กรภายนอกอย่าง IMFและECB เร็วๆนี้
ก่อนหน้า haircut กรีซมีสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อGDPอยู่ที่ประมาณ164.5% หลังจากhaircut สัดส่วนนี้ต่ำลง แต่ยังไม่แน่ชัดว่าจะเหลือเท่าไร แต่IMF เคยกล่าวไว้ว่าจะตั้งเป้าให้สัดส่วนนี้เหลือประมาณ 120% ภายในปี 2020 แสดงว่าตอนนี้สัดส่วนหนี้ต่อGDPของกรีซอยู่ระหว่าง 120% - 164.5% ซึ่งถือว่าเป็นระดับที่อันตรายมากอยู่ดี เพราะอะไร?
S ตามตัวเลขข้อมูลในอดีต ระดับหนี้ของรัฐที่95%ของGDPนั้น เริ่มเป็นเขตอันตราย เพราะมันจะเริ่มส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจ ซึ่งจะทำให้การจ่ายหนี้คืนให้ได้หมด ตามเวลาที่กำหนด เป็นไปได้ยากยิ่งขึ้นแต่กรีซคงใช้ตัวเลข95%ไม่ได้ เพราะ
1.) เส้นอันตราย 95% คือ ค่าเฉลี่ยของประเทศที่พัฒนาแล้ว
2.) กรีซมีสภาพเศรษฐกิจที่แย่เป็นพิเศษ เนื่องจาก3ปัจจัยหลัก คือ นโยบายของรัฐบาลที่ไม่เอื้อต่อการทำธุรกิจ ความสามารถในการแข่งขันของแรงงานไม่เพียงพอ และประชากรสูงอายุที่มีอยู่มากเป็นอันดับต้นๆในยุโรป จนส่งผลให้ความสามารถในการเติบโตของเศรษฐกิจนั้นค่อนข้างจำกัด และเพิ่มภาระค่าใช่จ่ายของรัฐเพื่อเลี้ยงดูคนเหล่านี้


บอกตามตรงว่า การจะฝืนให้กรีซอยู่ในยูโรโซนต่อไปนั้น ทางการIMFและECBจะต้องส่งเงินช่วยเหลือให้รัฐบาลกรีซไปอีกหลายปี

แต่ก็ไม่ใช่ว่าส่งเงินช่วยเหลือไปเรื่อยๆก็น่าจะจบ เลือกตั้งเสร็จ ได้รัฐบาลที่ยอมทำตามเงื่อนไขIMFและECBเพื่อยอมรับเงินช่วยเหลือก็น่าจะจบ ปัญหาครั้งนี้มันไม่ได้ตื้นขนาดนั้น เพราะ"เงินช่วยเหลือ"ที่ว่านี้ไม่ใช่เงินบริจาคจากนานาประเทศ แต่เป็นก้อนหนี้ที่กรีซต้องจ่ายคืนในอนาคตอยู่ดี มันเหมือนกับเป็นการเปลี่ยนจากกู้จากเอกชน มากู้รัฐบาลประเทศอื่นๆและECBแทน

ปัญหาหนี้ของกรีซนั้นย่ำแย่มาก คงไม่ผิดอะไรที่จะกล่าวว่าการส่งเงินช่วยเหลือ และการทำhaircutที่ผ่านมาทั้งหมดเป็นเพียงการซื้อเวลา ซึ่งก่อนหน้าการhaircut 70%เมื่อต้นปี ผู้เขียนก็เคยเตือนแล้วว่า "นี่จะไม่ใช่ครั้งสุดท้ายที่รัฐบาลกรีซต้องพึ่งผู้อื่นเพื่อเอาตัวรอด"

ถ้าถามว่าทำไมช่วงหลังๆ ไม่ค่อยมีบทความอัพเดทเกี่ยวกับปัญหาหนี้ยุโรป ผู้เขียนต้องขอตอบว่าสิ่งที่เราควรเขียนเราได้เขียนไปหมดแล้วในหมวดหมู่ เศรษฐกิจโลก และ NO WAY OUT และความคิดเห็นของผมก็ยังไม่ได้แตกต่างไปจากบทความเหล่านั้นมากนัก


อะไรจะเกิดขึ้นต่อไป?


ใน จุดเริ่มต้นของจุดจบ: วิกฤตหนี้รัฐบาลในยูโรโซน เราได้เตือนผู้อ่านว่า การhaircut 20%ของกรีซในครั้งแรก และการที่นักลงทุนแย่งกันขายพันธบัตรรัฐบาลกลุ่มPIIGSเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของวิกฤตครั้งนี้
 
ใน อนาคตอันไม่ไกลนัก: Recession in Europe เราคาดการณ์ว่ายูโรโซนจะต้องอยู่ในภาวะเศรษฐกิจถดถอยในปี2012 ในขณะเดียวกัน European Commision กลับคาดว่ายูโรโซนจะโต 0.5% (EC ได้เปลี่ยนประมาณการมาอยู่ที่ -0.3% ในเดือนกุมภาพันธ์)
 
ใน อนาคตอันไม่ไกลนัก: Defaults in EU เราคาดการณ์ว่าจะมีหนี้เสีย (disorderly defaults) เกิดขึ้น ซึ่งได้เกิดขึ้นแล้วกับกรีซ และน่าจะเกิดขึ้นกับประเทศอื่นอีกในอนาคต
 
บทความเหล่านี้เป็นหลักฐานว่า ผู้เขียนได้คาดการณ์ไว้อย่างถูกต้อง เหลืออีกการคาดการณ์เดียวที่ยังไม่รู้ผลคือ อนาคตอันไม่ไกลนัก: Smaller Eurozone ซึ่งผู้เขียนได้ทำนายว่า ประเทศอ่อนแอบางประเทศจะต้องออกจากยูโรโซน ซึ่งผมก็ยังยืนยันคำทำนายเดิมไม่เปลี่ยนแปลง
 
ผู้เขียนมีความมั่นใจถึง 80% ว่า กรีซจะต้องออกจะยูโรโซนภายใน 1-2ปีนี้ แต่คงไม่ใช่ภายในเดือนสองเดือนที่จะถึง เพราะประเทศอื่นๆ (โดยเฉพาะแกนนำอย่างเยอรมันและฝรั่งเศส) ยังต้องใช้เวลาคิดหาวิธีว่าจะให้กรีซออกอย่างไรให้มีผลกระทบข้างเคียงต่อประเทศอื่นๆในยูโรโซนน้อยที่สุด ซึ่งผู้เขียนเดาว่าตอนนี้ผู้นำประเทศต่างๆคงนั่งคิดและเตรียมแผนการดังกล่าวกันจนปวดหัวเลยทีเดียว
 
 
บทสรุปสำหรับนักลงทุน
 
หลายท่านคงคิดว่า ถ้ารัฐบาลกรีซยอมรับเงื่อนไขและมาตรการรัดเข็มขัดจากIMFและECBเพื่อขอรับการช่วยเหลือต่อไป กรีซก็จะรอด แต่ถ้ารัฐบาลเป็นพวกต่อต้านมาตรการรัดเข็มขัดจนทำให้ประเทศพลาดโอกาสรับเงินช่วยเหลือ กรีซจะไม่รอด
 
ผมขอถามท่านทั้งหลายว่ามีกี่ครั้งแล้วที่นักลงทุนมัวคิดว่า "เหตุการณ์ในครั้งนี้มีความสำคัญมาก ถ้ากรีซไม่ได้การช่วยเหลือครั้งนี้กรีซจะไม่รอด แต่ถ้าได้ กรีซก็จะรอดปลอดภัย แคล้วคลาด" จากนั้นกรีซก็จะได้รับการช่วยเหลือ แล้วตลาดหุ้นก็ปรับตัวขึ้นตามระเบียบ... ไม่นานหลังจากนั้นปัญหาเรื่องกรีซก็กลับมาเป็นเรื่องที่น่าหวาดกลัวอีกครั้ง
 
สิ่งนี้เกิดขึ้นซ้ำแล้ว ซ้ำเล่า...
 
จากเหตุการณ์ทีเกิดขึ้นตลอดมา และข้อมูลเศรษฐกิจทั้งหลาย มันควรชัดเจนกับนักลงทุนแล้วว่าปัญหาของกรีซไม่สามารถถูกแก้ด้วยเพียงแค่การอัดฉีดเงินช่วยเหลือ ไม่ว่าเงินแต่ละก้อนจะมากมายขนาดไหนก็ตาม
 
สิ่งเหล่านี้ทำให้เราได้ข้อสรุปที่ว่า
1.) ถึงแม้เราสมมติว่ากรีซจะได้รับเงินช่วยเหลือในครั้งนี้ "นี่จะไม่ใช่ครั้งสุดท้ายที่รัฐบาลกรีซต้องพึ่งผู้อื่นเพื่อเอาตัวรอด"

2.) ถึงแม้เราสมมติว่ากรีซจะได้รับเงินช่วยเหลือในครั้งนี้ มันมีโอกาสสูงมากที่ ประเทศอื่นๆอย่างโปรตุเกส และสเปนจะสร้างข่าวร้ายต่างๆรังควานตลาดหุ้นต่อไปอีกในอนาคต
พูดสั้นๆคือ ถึงแม้กรีซได้รับเงินช่วยเหลือในครั้งนี้ ปัญหาหนี้ในยุโรปจะยังไม่จบเร็วๆนี้ และผมก็เชื่อว่านักลงทุนที่มีความอดทน และความกล้ามากพอ ก็จะได้ซื้อธุรกิจราคาถูกๆในช่วงเวลาแบบนี้แหละ

"The most common cause of low prices is pessimism - some times pervasive, some times specific to a company or industry. We want to do business in such an environment, not because we like pessimism but because we like the prices it produces. It's optimism that is the enemy of the rational buyer." - Warren Buffett

"สาเหตุทั่วไปที่ทำให้ราคาหุ้นต่ำคือ การมองโลกในแง่ร้าย ซึ่งบางครั้งเกิดขึ้นทุกหนทุกแห่งในตลาดหุ้น และบางครั้งก็เกิดขึ้นกับเฉพาะบริษัทหรืออุตสาหกรรมอันใดอันหนึ่ง เราต้องการที่จะทำธุรกิจในสภาพแวดล้อมแบบนั้น ไม่ใช้เพราะว่าเราชอบการมองโลกในแง่ร้าย แต่เพราะเราชอบราคาหุ้นที่เป็นผลพวงมาจากความคิดลบๆเหล่านั้น การมองโลกในแง่บวกนั้นแหละคือศัตรูของนักลงทุนที่มีเหตุมีผลในการตัดสินใจ" - วอร์เรน บัฟเฟตต์


Posted in:
Twitter