สวัสดีท่านผู้อ่านและแฟนๆชาว Settalkทุกท่านค่ะ ก่อนอื่นต้องขอออกตัวก่อนว่า นี่เป็นครั้งแรกเลยที่ได้มีโอกาสเขียนบทความเกี่ยวกับการลงทุน ต้องขอบคุณคุณ Risk Taker ที่เชิญดิฉันมาร่วมแบ่งปันสิ่งดีๆและมีประโยชน์ให้กับทุกๆท่านในฐานะนักเขียนมือใหม่ ดิฉันเชื่อว่า บทความนี้คงจะมีประโยชน์ไม่น้อยเลยทีเดียวค่ะ
หลายๆครั้งที่ชาวนักลงทุนอย่างเราๆอ่านหนังสือพิมพ์หรือติดตามข่าวสารการลงทุนและสภาพเศรษฐกิจทั่วโลก จากสื่อต่างๆ มักพบเห็นประโยคที่ว่า “ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปรับตัวลงอย่างรุนแรง เนื่องจากนักลงทุนมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับปัญหาหนี้สาธารณะในยุโรป...” ผู้เขียนได้ทำตัวหนาที่คำว่า ดัชนีดาวโจนส์(Dow Jones Industrial Average Index, DJIA)เนื่องจากมันคือสิ่งที่ผู้เขียนจะดึงมาเป็นประเด็นในบทความนี้ค่ะ ถึงตอนนี้ท่านผู้อ่านบางท่านคงสงสัยว่าแล้วดัชนีดาวโจนส์มันทำไมล่ะ? ก่อนอื่นเลยดัชนี หมายถึง ค่าที่ใช้ในการบอกสภาพโดยรวมของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ซึ่งมีไว้เพื่อแสดงให้เห็นถึงลักษณะการเปลี่ยนแปลงของสิ่งที่เจ้าดัชนีนั้นเข้าไปวัด ดัชนีหุ้น จึงมีไว้เพื่อดูความเปลี่ยนแปลงของหุ้นต่างๆที่อยู่ในความสนใจของดัชนีนั้นๆ ดัชนีดาวโจนส์ได้ถูกคิดค้นครั้งแรกโดย Charles Henry Dow และ Edward Jones ในปีพ.ศ.2425 ซึ่งประกอบด้วยหุ้นBlue Chip 30 ตัวของบริษัทในประเทศสหรัฐอเมริกา คราวนี้ก็มาถึงสิ่งที่เป็นข้อบกพร่องของมันที่ทำให้การเคลื่อนไหวของดาวโจนส์ไม่ได้มีความหมายอะไรใดๆทั้งสิ้น แต่กระนั้นผู้ที่ทำงานบนถนนสายที่ชื่อ Wall Streetนักลงทุนสถาบันและรายย่อยทั่วโลก หรือกระทั่งนักวิชาการผู้มากไปด้วยทฤษฎีก็ยังให้ความสนใจกับดัชนีนี้ในแบบที่แทบจะเรียกได้ว่า “ดาวโจนส์ไปไหน ฉันขอไปด้วย”
ข้อบกพร่อง(Flaw) อย่างแรกของดัชนีดาวโจนส์คือ ดาวโจนส์ประกอบไปด้วยหุ้นเพียงแค่ 30 ตัว (ย้ำ 30 ตัวเท่านั้น!) ซึ่งถ้าคิดเป็นสัดส่วนแล้วก็เพียงแค่ 29% ของมูลค่าของบริษัททั้งหมดในตลาดหุ้นสหรัฐอเมริกา[1] แน่นอนว่าการที่หุ้นเพียงแค่ 30 ตัวเปลี่ยนแปลง มันไม่สามารถบ่งบอกอะไรเกี่ยวกับสภาพโดยรวมของตลาดหุ้นอเมริกา หรือสภาพเศรษฐกิจทั่วโลกได้เลย ถึงอย่างนั้น ตลาดหุ้นหลายๆแห่งทั่วโลกก็เคลื่อนไหวตามดาวโจนส์กันอย่างเกือบหลีกเลี่ยงไม่ได้ ถ้าวันไหนดาวโจนส์ร่วงลงมาแรงๆ เช้าอีกวันหนังสือพิมพ์บ้านเราจะพาดหัวข่าวใหญ่โตและนักลงทุนก็เกิดความกังวลอย่างรุนแรง ผลสุดท้ายคือดัชนีตลาดหุ้นบ้านเราก็ตกลงไปด้วยเพราะนักลงทุนแห่กันทยอยขายเพราะ ดัชนีดาวโจนส์ตกลงมาอย่างหนัก
ข้อบกพร่องอย่างที่สองคือ บริษัทที่จะถูกรวมเข้าไปในดัชนีและนำมาคำนวณนั้นขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของบริษัทที่จัดทำดัชนีนี้ นั่นคือ Wall Street Journal และ Dow Jones & Company“บริษัทซึ่งจะถูกนำมาคำนวณเป็นส่วนหนึ่งของดัชนีนั้นจะต้องเป็นบริษัทที่มีชื่อเสียง และ อยู่ในความสนใจของนักลงทุน รวมถึงต้องมีการเติบโตอย่างมั่นคง (จาก http://www.djindexes.com/averages/)” ณ วันที่เขียนบทความนี้ บริษัท Coca-Cola Co. อยู่ในดัชนีดาวโจนส์ แต่บริษัท PepsiCo ไม่ได้อยู่ในดัชนี หรือแม้กระทั่ง Apple และ Google ก็ไม่ได้ถูกรวมอยู่ด้วย หากย้อนกลับไปที่เกณฑ์หลักๆในการคัดเลือกบริษัทเข้ามาในดัชนีซึ่งเขียนไว้ชัดเจนในเวปไซต์ที่กล่าวมาด้านบน ผู้เขียนมีความสงสัยอยู่ไม่น้อยว่า Apple หรือ Google ขาดคุณสมบัติใดไป จึงไม่ได้ถูกรวมอยู่ในดัชนีทั้งสามบริษัทมีชื่อเสียง อยู่ในความสนใจของนักลงทุน และมีการเติบโตค่อนข้างมั่นคงในช่วงที่ผ่านมา[2]
ข้อบกพร่องสุดท้าย และเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ดัชนีดาวโจนส์นั้นเป็น ‘ดัชนีราคาตลาด หรือ Price-Weighted Index’ก่อนอื่นเรามาดูกันว่าดัชนีราคาตลาดนั้นมีวิธีคำนวณอย่างไร สมมติว่าเรามีดัชนีชื่อ PW Index ซึ่งเป็นดัชนีราคาตลาดที่ประกอบไปด้วยหุ้น 2บริษัทคือ บริษัท A และ B(เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจง่ายและเห็นภาพอย่างชัดเจน เราจึงยกตัวอย่างดัชนีง่ายๆที่ประกอบไปด้วยหุ้นเพียงสองตัวค่ะ)
วัน | ราคาหุ้น | ตัวหาร (Divisor) | PW Index | |
บริษัท A | บริษัท B | |||
1 | 1 ฿ | 100 ฿ | 2 | (100+1)/2 = 50.50 |
จากตัวอย่างด้านบน Index ในวันแรกจะมีค่าเท่ากับ 50.50 จุด ซึ่งเกิดจากการนำราคาของสองบริษัทมาหาค่าเฉลี่ย หลักการง่ายๆของการหาค่าเฉลี่ย (Arithmetic Mean) ก็คือการนำราคาหุ้นทุกตัวในดัชนีมาบวกกันแล้วหารด้วยจำนวนบริษัททั้งหมด (ตัวหาร หรือ Divisor ของดัชนีนี้ก็คือ 2 เพราะมี 2 บริษัทนั่นเอง) มาถึงตรงนี้หลายๆท่านคงพอจะรู้แล้วว่าการนำราคาหุ้นทุกตัวมาหาค่าเฉลี่ยกันมันมีข้อเสียอย่างไร ข้อเสียที่เห็นได้ชัดก็คือ หุ้นที่มีราคาสูง (อย่างเช่นหุ้นบริษัท B ในกรณียกตัวอย่างนี้) จะมีอิทธิพลต่อค่าของดัชนีมากกว่าหุ้นที่มีราคาต่ำ (อย่างเช่นหุ้นบริษัท A) แต่!! ราคาหุ้น ไม่ได้บ่งบอกลักษณะ สถานะ ส่วนแบ่งตลาด หรือ ผลประกอบการ (และอื่นๆอีกมากมาย) ของธุรกิจใดๆเลยทั้งสิ้น ราคาหุ้นเป็นเพียงตัวเลขที่บอกว่า ถ้าคุณจะลงทุนใน หรือ ขาย หุ้นตัวนี้ เม็ดเงินที่จะออกจากกระเป๋า หรือ ได้รับจากการขายนั้นจะเป็นเท่าไร อย่างที่ Ken Fisher กล่าวไว้ในหนังสือ Debukeryใน Bunk 23 ว่า “[s]tock price is purely cosmetic.”เราลองมาดูตัวอย่างง่ายๆกันนะคะ ว่าหุ้นมีราคาสูงส่งผลต่อดัชนีอย่างไร สมมติว่าในดัชนี PW มีหุ้นอยู่สองบริษัท นั่นคือบริษัท A และ บริษัท B โดยที่บริษัท A และบริษัท B นี้มีลักษณะของการประกอบธุรกิจ ขนาด ส่วนแบ่งตลาด และอื่นๆที่เหมือนกันหมดเลย มีอยู่เพียงอย่างเดียวที่ไม่เหมือนกันคือ ราคาหุ้น ในวันที่ 1 ราคาหุ้นของบริษัท A และบริษัท B คือ 1฿ และ 100฿ตามลำดับ ดังตารางด้านล่าง
วัน | ราคาหุ้น | ตัวหาร (Divisor) | PW Index | |
บริษัท A | บริษัท B | |||
1 | 1 ฿ | 100 ฿ | 2 | (100+1)/2 = 50.50 |
ในวันที่ 2 เราจะสมมติให้ราคาหุ้นของบริษัท A เพิ่มขึ้น 10% ในขณะที่หุ้นของบริษัท B นั้นเท่าเดิม โดยรวมแล้วดัชนีเมื่อจบวันที่ 2 คือ 50.55 จุดหรือ 0.1%
วัน | ราคาหุ้น | ตัวหาร (Divisor) | PW Index | |
บริษัท A | บริษัท B | |||
1 | 1 ฿ | 100 ฿ | 2 | (100+1)/2 = 50.50 |
2 | 1.1 ฿ | 100 ฿ | 2 | (100+1.1)/2 = 50.55 |
แต่ในอีกกรณีหนึ่ง ถ้าหากว่าในวันที่ 2 ราคาหุ้นของบริษัท B เพิ่มขึ้น 10% ในขณะที่หุ้นบริษัท A ราคาเท่าเดิม ดัชนีเมื่อจบวันที่ 2 คือ 55.5 จุด หรือเปลี่ยนแปลงไปถึงเกือบ 10%
วัน | ราคาหุ้น | ตัวหาร (Divisor) | PW Index | |
บริษัท A | บริษัท B | |||
1 | 1 ฿ | 100 ฿ | 2 | (100+1)/2 = 50.50 |
2 | 1฿ | 110 ฿ | 2 | (110+1)/2 = 55.50 |
ทั้งๆที่ทั้งสองบริษัทมีลักษณะการประกอบธุรกิจเหมือนกันทุกอย่าง แต่ราคาของหุ้นAและBที่เพิ่มขึ้นไป 10%เท่ากัน ในกรณีแรก และกรณีที่สองตามลำดับ กลับส่งผลต่อดัชนีโดยรวมไม่เท่ากัน! เหลือเชื่อมั้ยละค่ะ?
ข้อเสียของดัชนีราคาตลาดอีกอย่างหนึ่งเกิดขึ้นเมื่อบริษัททำการ ‘แตกหุ้น’ หรือ Stock Splits ยกตัวอย่างเช่น การแตกหุ้น 5-1 หมายถึง ถ้าเดิมคุณมีหุ้นบริษัท Cอยู่ 100 หุ้น หุ้นละ 100฿ (มูลค่าทั้งหมด 10,000฿) หลังการแตกหุ้น5-1 คุณจะมีหุ้นบริษัท Cอยู่ 500หุ้นแต่หุ้นละ 20 ฿ (มูลค่าทั้งหมด 10,000฿เท่าเดิม ไม่เปลี่ยนแปลง)ลองมาดูว่าดัชนีเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง (ในกรณีนี้เราสมมติว่าทั้งสองบริษัทมี Market Cap เท่ากัน และมี Nature of Business เหมือนกันทุกอย่าง)
วัน | ราคาหุ้น | ตัวหาร (Divisor) | PW Index | |
บริษัท C | บริษัท D | |||
1 | 100฿ | 100 ฿ | 2 | (100+100)/2 = 100 |
1 (หลังแตกหุ้น) | 20฿ | 100฿ | (100+20)/100 = 1.2 | 100 |
2 | 22฿ | 100฿ | 1.2 | (100+22)/1.2 = 101.67 |
หลังจบวันที่ 1 บริษัท C ทำการแตกหุ้น 5-1 ราคาหุ้นจะเหลืออยู่ 20 ฿ ส่วนดัชนีที่ท้ายวันที่ 1หลังการแตกหุ้นจะต้องยังคงเป็น 100 จุดเท่าเดิม แต่ตัวหาร (Divisor) จะเปลี่ยนไป เพราะเนื่องจากเดิมที่มีอยู่ 2 บริษัทในดัชนี หลังการแตกหุ้น เราจะต้องปรับตัวหารของค่าดัชนี(Divisor) ทั้งนี้ก็เพื่อให้ การทำการsplitและreverse splitจำนวนหุ้นไม่ส่งผลต่อระดับของดัชนี ณ วันที่มีการsplit
หลังจากวันที่ 1 เป็นต้นไป Divisor คือ 1.2 ในวันที่ 2 บริษัท C ราคาหุ้นเพิ่มขึ้นไป 2 บาท หรือ 10% ด้วย Divisor 1.2 ทำให้เราได้ดัชนีในวันที่ 2 เท่ากับ 101.67 จุด เพิ่มขึ้น 1.67%
แต่!! หากว่าบริษัท C ไม่มีการแตกหุ้นในวันที่ 1 และราคาของหุ้น C เพิ่มขึ้น 10% ในวันที่ 2ดัชนีที่วันที่สองจะอยู่ที่ 105 จุด เพิ่มขึ้น 5 %!(ตารางด้านล่าง)
วัน | ราคาหุ้น | ตัวหาร (Divisor) | PW Index | |
บริษัท C | บริษัท D | |||
1 | 100 ฿ | 100 ฿ | 2 | (100+100)/2 = 100 |
2 | 110฿ | 100 ฿ | 2 | (110+100)/2 = 105 |
เราจะเห็นได้ว่าหุ้นของบริษัท C มีการเปลี่ยนแปลงคือเพิ่มขึ้น 10%เหมือนกันทั้งในกรณีที่มีและไม่มี Stock Splits ในขณะที่ราคาหุ้น D เท่าเดิมทั้งสองวัน แต่ดัชนีกลับเปลี่ยนแปลงไม่เท่ากันทั้งๆที่หุ้นตัวเดียวกัน เพิ่ม 10% เท่ากัน และไม่มีสิ่งอื่นเปลี่ยนเลยนอกจากราคาหุ้น ทั้งสองกรณี!
นี่แค่ดัชนีตัวอย่างที่มีหุ้นเพียง 2 ตัว และมีการแตกหุ้นเพียง 1 ครั้ง ลองนึกถึงภาพความเป็นจริงของดัชนีที่มีหุ้นมากมาย และบริษัทก็ทำการแตกหุ้นกันมากกว่า 1 ครั้ง ดัชนีราคาตลาด หรือ Price-Weighted Index จะเพี้ยนได้ขนาดไหน! มาถึงตรงนี้เราคงสรุปได้ว่าดัชนีที่เป็นดัชนีราคาตลาด ไม่ได้สะท้อนสภาพความเป็นจริงของบริษัท และไม่สามารถใช้ประกอบการตัดสินใจในการลงทุนใดๆได้เลย ดัชนีที่นำ ‘ราคาหุ้น’ (ซึ่งไม่สามารถบอกอะไรเราได้เลย) มาเป็นตัวคิดคำนวณ Index ก็เปรียบเหมือนกับการนำอุปกรณ์ชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ที่ไม่สามารถใช้งานได้จริงไปประกอบเป็นคอมพิวเตอร์ รูปลักษณ์ภายนอกเราก็ยังคงเห็นเป็นคอมพิวเตอร์สวยงาม แต่ไม่สามารถใช้งานได้
Ken Fisher ได้ยกตัวไว้ในหนังสือ Debunkeryของเขาว่า
‘Very many investors, both amateur and professional, are fond of saying the market return went nowhere from 1965 to 1982 – 17 infamous years of “no return.” When they say that, they mean the Dow went nowhere. But that’s nonsense. The S&P 500 over the same time period annualized 7.1 percent – below average but still positive. Why the huge difference? The S&P 500 is a better reflection of the reality of the US stock market. It’s correctly calculated – not price-weighted but market-cap weighted – the way indexes are supposed to be.’
‘นักลงทุนสมัครเล่นและนักลงทุนอาชีพที่มีความชำนาญหลายๆคนชอบพูดว่า ผลตอบแทนจากตลาดหุ้น 17 ปี ตั้งแต่ปี 1965 ถึง 1982 นั้นเป็นศูนย์ พวกเขาหมายถึงว่า ดัชนี Dow Jones นั้นไม่ได้ขยับไปไหนเลย ซึ่งเป็นสิ่งที่ไร้สาระ เพราะดัชนี S&P 500 ในช่วงเวลาเดียวกันได้ให้ผลตอบแทนถึง 7.1% ต่อปี ถึงแม้จะต่ำกว่าค่าเฉลี่ยแต่ก็ยังเป็นบวกสาเหตุที่ทั้งสองดัชนีให้ผลตอบแทนที่ต่างกันมากถึงขนาดนี้เพราะ ดัชนี S&P 500 สะท้อนสภาพความเป็นจริงของตลาดหุ้นสหรัฐอเมริกาได้ดีกว่า คำนวณโดยวิธีที่ถูกต้องกว่าและเป็นวิธีที่ควรจะใช้ในการคำนวณดัชนี นั่นคือ การคำนวณแบบถ่วงน้ำหนักด้วยมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด(Market-cap Weighted Index)’
วิธีที่ถูกต้องและดีกว่าในการคำนวณดัชนีราคาหุ้นนั่นคือวิธี Capitalization-Weighted หรือ Market-cap Weighted ค่ะ โชคดีนะคะที่ SET Index ของแบบเราคือแบบที่ดีกว่า
แล้วพบกันใหม่ในบทความหน้านะคะ สวัสดีค่ะ
*บทความนี้ถูกแปลและเรียบเรียงมาจากหนังสือ Debunkeryโดย Ken Fisher*
ควรดูอะไรแทนดัชนีดาวน์โจนส์? คลิกที่นี่
[2]กำไรสุทธิของ Apple ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2009 – 2011 โตถึง 40% CAGR ส่วนกำไรสุทธิของ Google ตั้งแต่ปี 2008 – 2010 โต 26% CAGR (เนื่องจากผลประกอบการปี 2011 ทั้งปีของ Google ณ วันที่เขียน ยังไม่ออก ผู้เขียนจึงขออนุญาตนำตัวเลขสามปีย้อนหลังตั้งแต่ 2008 มาแสดงแทนค่ะ)