การลงทุนหุ้น และเศรษฐกิจ อัพเดทรายสัปดาห์

18 มีนาคม 2555

ลงทุนใน Bonds หรือ Stocks ดี?

นักลงทุนหลายๆท่านมีความคิดที่ว่า การลงทุนในตราสารหนี้นั้นปลอดภัยกว่าการลงทุนในตราสารทุน (Bonds are safer than stocks) และก็มีนักลงทุนหลายๆท่านที่เทเงินในพอร์ตลงไปกับตราสารหนี้เป็นสัดส่วนที่มาก ด้วยสาเหตุดังกล่าว เราจะมาดูกันว่ามันปลอดภัยกว่าจริงหรือไม่

สิ่งที่สำคัญที่สุดก่อนที่เราจะเริ่มบทความนี้ก็คือ การนิยามคำว่า “ปลอดภัย” ค่ะ... คำว่าปลอดภัยนั้นหมายถึง การได้ผลตอบแทนจากการลงทุนที่ต่ำในระยะยาวแต่มีความผันผวนน้อยในระยะสั้น ? หรือ “ปลอดภัย” หมายถึง การที่พอร์ตของเรามีความน่าจะเป็นสูงขึ้นในการให้ผลตอบแทนระยะยาวตามที่เราต้องการ ? ไม่ว่าคุณจะนิยามว่าอะไรก็ตาม ถ้าคุณต้องการมีการเติบโตในพอร์ตของคุณเพื่อที่จะสามารถรองรับการใช้ชีวิตหลังเกษียณเหมือนตอนก่อนเกษียณ การลงทุนที่มีความผันผวนต่ำเกินไปอาจจะไม่สามารถทำให้คุณใช้ชีวิตเหมือนตอนก่อนเกษียณได้ เพราะนั่นหมายถึงว่า upside gain ก็ถูกจำกัดไปด้วย....

Bonds can be negative, too: มูลค่าของตราสารหนี้ก็สามารถติดลบได้....”

ใช่ค่ะ มูลค่าของตราสารทุน หรือ หุ้น (stocks) นั้นผันผวนและน่ากลัวในระยะสั้น แต่เราก็อย่าลืมว่า มูลค่าของตราสารหนี้ (Bonds) ก็สามารถลดลงอย่างมากในระยะสั้นเช่นเดียวกัน ตัวอย่างแรกที่เห็นได้ชัดคือ ในปี 2009 มูลค่าของตราสารหนี้นั้นลดลงไปมากเมื่อเปรียบเทียบกับตราสารทุน เพราะในปีนั้น ดัชนีตราสารทุนหลายๆแห่งในโลกได้แสดงให้เห็นว่า ผลตอบแทนจากหุ้นนั้นสูงถึง 30%[1] และในทำนองเดียวกันใน ค่าสัมบูรณ์ของผลตอบแทน (Absolute return) จากพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอเมริกา อายุ 10 ปีก็ลดลงไปถึง 9.5%[2] ถึงแม้ว่าการลงทุนในตราสารทุนจะมีความเสี่ยงและความผันผวนมากในระยะสั้น แต่นั่นเป็นเพราะว่าเราคาดหวังว่าจะได้ผลตอบแทนที่ดีกว่าในระยะยาว ซึ่งก็เป็นความจริงค่ะ ถ้าเราต้องการผลตอบแทนที่ดีกว่าในระยะยาว การลงทุนในตราสารทุนคือคำตอบค่ะ...

Inflation’s bite: เงินเฟ้อกินผลตอบแทน...”

แล้วทำไมมูลค่าของตราสารหนี้ถึงติดลบได้? คำตอบคือ เงินเฟ้อค่ะ... ผู้คนมักลืมเกี่ยวกับอิทธิพลของเงินเฟ้อ ในระยะยาว ถ้าเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ((ซึ่งก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในโลกแห่งความเป็นจริง) จะมีผลที่ตามมาสองอย่าง คือ หนึ่ง ดอกเบี้ยระยะยาวจะเพิ่มขึ้นตามเงินเฟ้อ สาเหตุก็เพราะว่า ถ้าเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดอกเบี้ยจะต้องสูงขึ้นเพื่อทำให้การเติบโตของเศรษฐกิจนั้นเย็นลง (cool down) และเป็นไปอย่างช้าลง อย่างที่เราๆรู้ว่า ดอกเบี้ยกับมูลค่า(หรือราคา)ของตราสารหนี้นั้นเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางตรงกันข้ามกัน[3] ดังนั้น เมื่อดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น มูลค่าของตราสารหนี้จะลดลงค่ะ สอง เมื่อครบอายุของตราสารหนี้ เงินที่คุณได้คืนจากการไถ่ถอนนั้นก็จะมีมูลค่าที่แท้จริง (real value) ลดลงไปเพราะเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น มูลค่าที่แท้จริงลดลงไปหมายถึงว่า เงิน 100 บาทเท่าเดิมแต่สามารถซื้อของสิ่งเดียวกันได้น้อยชิ้นลง กำลังซื้อ (Purchasing Power) ก็น้อยลงไปด้วย ทั้งสองเหตุการณ์นี้ เกิดขึ้นพร้อมๆกันเมื่อเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น นั่นคือ มูลค่าของตราสารหนี้จะลดลงจากดอกเบี้ยระยะยาวที่เพิ่มขึ้นแล้ว เงินที่ได้คืนจากการไถ่ถอนยังมีมูลค่าที่แท้จริงลดลงอีกด้วย! โชคร้ายกันสองต่อเลยนะคะ! และทำไมเราถึงจะมองว่าเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆล่ะ... นั่นก็เพราะว่าเม็ดเงิน (Money Supply) ทั่วโลกนั้นเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แล้วการเพิ่มขึ้นของ Money Supply ก็ส่งผลกระทบโดยตรงต่อเงินเฟ้ออย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ค่ะ ถ้าหากจะอธิบายด้วยทฤษฎีด้านเศรษฐศาสตร์ Irving Fisher ได้คิดค้นทฤษฎีที่ชื่อว่า Quantity Theory of Money ซึ่งกล่าวไว้ว่า ปริมาณเม็ดเงิน (Money Supply) ในระบบเศรษฐกิจส่งผลโดยตรงต่อระดับราคา (Price Level) Fisher ได้อธิบายทฤษฎีนี้ด้วยสมการด้านล่าง

M x V = P x Q โดย M หมายถึง ปริมาณเม็ดเงินทั้งหมดที่อยู่ในระบบเศรษฐกิจ (Money Supply)

V หมายถึง ความเร็วของเม็ดเงินที่หมุนไปในระบบเศรษฐกิจ (Velocity of Money)

P หมายถึง ระดับราคา (Price Level)

Q หมายถึง ผลผลิต (Quantity of Output)

นั่นคือ ปริมาณเงินที่มีอยู่ในระบบเศรษฐกิจคูณด้วยความเร็วที่เม็ดเงินเหล่านั้นหมุนเวียนอยู่ในระบบเศรษฐกิจ จะมีค่าเท่ากับ ผลผลิตที่เกิดขึ้นคูณด้วยระดับราคา (หรือเท่ากับ Nominal GDP หรือ GDP ในรูปตัวเงิน) ใน Quantity Theory of Money ความเร็วในการหมุนเวียนของเม็ดเงิน (V) นั้นจะถูกกำหนดให้มีค่าคงที่ ดังนั้น การเพิ่มขึ้นของเม็ดเงิน (M) จะส่งผลให้ระดับราคา (P) เพิ่มขึ้นในสัดส่วนที่เท่ากัน เพื่อทำให้สมการนี้เป็นจริงอยู่เสมอ สาเหตุที่ Q หรือ ผลผลิตไม่เพิ่มขึ้นนั้นเพราะ Q เป็นตัวแปรที่แท้จริง (Real variable) และจะไม่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของตัวแปรที่เป็นตัวเงิน (Nominal variable)[4] ดังนั้น การที่เราถือตราสารหนี้มากมายอยู่ในมือ และหวังว่ามันจะมีความผันผวนน้อยกว่าหุ้นก็คงไม่ถูกเสมอไปหรอกค่ะ เพราะอย่าลืมว่าเรามีเจ้า “เงินเฟ้อ” ที่คอยกัดกร่อนมูลค่าของตราสารหนี้เหล่านั้นอยู่

ถึงแม้ว่าเงินเฟ้อจะส่งผลให้ผลตอบแทนจากตราสารทุนนั้นถูกกัดกร่อนไปบ้างเช่นกัน แต่ในระยะยาวการลงทุนในหุ้นจะให้ผลตอบแทนดีกว่าการลงทุนในตราสารหนี้ค่ะ ในหนังสือ Debunkery ของ Ken Fisher ใน Bunk1: Bonds are safer than stocks ฟิชเชอร์ได้ยกตัวอย่างว่า ในระหว่างปี 1925 – 2009 ผลตอบแทนในช่วงทุกๆ 3 ปีนั้นแสดงให้เห็นว่า การลงทุนในตราสารทุนมีช่วงระยะเวลาที่ให้ผลตอบแทนที่ติดลบน้อยกว่าการลงทุนในตราสารหนี้![5]

ก่อนจากกัน ขอฝากไว้ว่า หุ้นให้ผลตอบแทนที่ดีและสม่ำเสมอกว่าตราสารหนี้ในระยะยาวค่ะ แล้วพบกันใหม่ในบทความหน้า สวัสดีค่ะ

*บทความนี้ถูกดัดแปลงมาจากหนังสือ Debunkery โดย Ken Fisher ใน Bunk1


[1] ที่มา: Thomson Reuters, MSCI world index total return with net dividends

[2] ที่มา: Global Financial Data. Inc.

[3] ถ้าหากจะอธิบายด้วยคณิตศาสตร์ มูลค่าของตราสารหนี้นั้นคิดได้จาก การนำกระแสเงินสด (cash flows) ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตทั้งหมดมาคิดหาส่วนลด (discount) ด้วยอัตราดอกเบี้ย กลับมาที่ช่วงเวลาปัจจุบัน แต่หากจะอธิบายให้ง่ายขึ้นเพื่อให้เห็นภาพได้ชัดคือ ถ้าดอกเบี้ยในตลาดเพิ่มขึ้น คนก็จะขายตราสารหนี้และหันไปฝากเงินแทน มูลค่าตราสารหนี้ก็จะลดลงจากการขายค่ะ

[4] บริษัทจะจ้างงานเพิ่มหรือเพิ่มผลผลิต ไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่ามีปริมาณเม็ดเงินอยู่เท่าไรในระบบเศรษฐกิจ

[5] Figure1.1 หน้า 6 และ Figure 1.2 หน้า 7 จากหนังสือ Debunkery โดย Ken Fisher

Posted in:
Twitter