การลงทุนหุ้น และเศรษฐกิจ อัพเดทรายสัปดาห์

23 มีนาคม 2555

ค่าแรงขั้นต่ำ และผลกระทบต่อเศรษฐกิจ

ท่านนักลงทุนที่ติดตามข่าวคงทราบดีว่าช่วง 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมา หนังสือพิมพ์หลายฉบับพากันตีพิมพ์เกี่ยวกับ ผลกระทบของนโยบายค่าแรงขั้นต่ำที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

ถือว่าเป็นความซวยซ้ำ ซวยซ้อนของหลายๆบริษัท เพราะเจอน้ำท่วมมาหมาดๆ ต้องมาเจอต้นทุนที่สูงขึ้น เนื่องจากนโยบายค่าแรง 300 บาท มีหนังสือพิมพ์อยู่หนึ่งฉบับถึงกับกล่าวว่า 50% ของ SMEs ที่โดนสองปัจจัยนี้เข้าไปในเวลาใกล้เคียงกันคงจะต้องปิดตัวลง

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่นักลงทุนอาจจะสนใจมากกว่านั้น คือ ผลกระทบโดยตรงต่อเศรษฐกิจ และตลาดหุ้น เราลองมาดูกันทีละอย่าง เริ่มจากเศรษฐกิจกันก่อนครับ

ผลกระทบต่อเศรษฐกิจ

สมมติว่า บริษัท A มีคนอยู่ 10 คน 
  • สามคนแรกเป็นแรงงานรับค่าแรงขั้นต่ำซึ่งมีมูลค่าเท่ากับ 200 บาทต่อคน
  • สามคนต่อมาเป็นแรงงานฝีมือ เช่น ช่างไฟฟ้า และช่างอุตสาหการ ซึ่งรับค่าแรงอยู่ 400 บาทต่อคน
  • สามคนสุดท้าย เป็น หัวหน้าฝ่ายช่างต่างๆ รับค่าแรงอยู่ 700 บาทต่อคน
จะเกิดอะไรขึ้น เมื่อสามคนแรกถูกปรับค่าแรงขึ้นจาก 200 บาท เป็น 300 บาท?

สามคนต่อมาก็ต้องบอกกับนายจ้างว่า "พวกเราเป็นช่างฝีมือ ทำไมให้พวกเรามากกว่าสามคนแรกแค่100บาท?  เมื่อก่อนพวกเราได้มากกว่าตั้งเยอะ พวกเราไม่ยอม!" นายจ้างก็คงจะพยายามรั้งไว้ให้นานที่สุด แต่สุดท้ายก็ต้องขึ้นค่าแรงให้กลุ่มแรงงานกลุ่มที่สอง เพราะการจ่ายค่าแรงใกล้เคียงค่าแรงขั้นต่ำมากเกินไปทำให้หาแรงงานฝีมือยาก เกิดการขาดแคลนแรงงาน และเกิดแรงกดดันภายในองค์กรอย่างมาก (ลองถามตัวเองดูว่า คุณจะรู้สึกอย่างไร ถ้าอยู่ดีๆ ลูกน้องในบริษัทของคุณได้ขึ้นเงินเดือนคนละ30-50%ในเดือนเมษายนที่จะถึง แต่คุณได้เงินเดือนเท่าเดิม)

จากการขาดแคลนแรงงาน และแรงกดดันภายในองค์กร สามคนสุดท้ายที่เดิมได้รับค่าแรงคนละ700บาทต่อคน ก็ต้องได้ค่าแรงในอัตราที่สูงขึ้นเช่นกัน เพราะฉะนั้น เวลาที่รัฐบาลมีการปรับค่าแรงขั้นต่ำให้สูงขึ้น มันจะส่งผลกระทบต่อโครงสร้างผลตอบแทนของแรงงานเป็นวงกว้าง เหมือนกับหินที่ถูกโยนไปในน้ำ แล้วก่อให้เกิดคลื่นกระเพื่อมไปทั่วบริเวณฉันใด ฉันนั้น หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 2,721 ก็ได้พาดหัวไว้ชัดเจน

หัวข้อข่าว: นายจ้างอ่วมควักสองเด้ง! 300พ่วงมาตรฐานฝีมือ ชี้รู้ตัวรีบปิดก่อนเมษาฯ

/\ ดีเดย์ 1 เมษานายจ้างควักจ่ายเพิ่มสองเด้ง ทั้งขั้นต่ำ 300 บาท พ่วงปรับค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ 6 กลุ่ม 22 สาขา เป็น 320-775บาทต่อวัน... โรงงานเฟอร์นิเจอร์ออกอาการผิดตัวแล้ว 20%

นายวัลลภ วิตนาการ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) และที่ปรึกษาสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย กล่าวเพิ่มเติมกับ ฐานเศรษฐกิจ ว่า

/\ สิ่งที่จะตามมาหลังการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน คือ พนักงานรายเดือนที่จบ ปวช. หรือ ปวส.ที่เงินเดือนไม่ถึง  9,000 บาท หรือไม่ถึง 300 บาทต่อวันจะต้องขอปรับเงินเดือนเพิ่ม... ผู้ประกอบการคงได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้า

บทสรุปของผู้ประกอบการโดยรวม คือ ต้นทุนที่สูงขึ้นอย่างมหาศาล ซึ่งทำให้ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบส่วนใหญ่มีแค่สามทางเลือก
1. ทนกับอัตรากำไรที่ลดลง
2. ใช้เครื่องจักรในการผลิดมากขึ้น และใช้แรงงานให้น้อยลง
3. ย้ายฐานการผลิตไปประเทศที่แรงงานถูกกว่า เช่น บังคลาเทศ เวียดนาม พม่า กัมพูชา อินโดนีเซีย ฯลฯ

ธุรกิจที่ไม่มีทางเลือกก็คงต้องปิดกิจการ และบางรายก็ทยอยปิดไปเรียบร้อยแล้ว

ผู้ประกอบการที่พอมีทุนก็คงไม่ทนให้อัตรากำไรลดลงไปเฉยๆ หลายรายก็คงต้องทำทั้งข้อ 2. และ 3. ซึ่งจะทำให้มีคนตกงานเพิ่มขึ้น (เนื่องจากโรงงานหนีไปจ้างแรงงานต่างประเทศ) และเศรษฐกิจไม่เติบโตเท่าที่ควร (เนื่องจากอัตราการว่างงานที่เพิ่มขึ้น และการลงทุนในประเทศที่น้อยลง)

ไม่เพียงเท่านั้น ผู้ประกอบการจะต้องแบ่งภาระต้นทุนที่สูงขึ้นมาสู่ผู้บริโภคด้วยการปรับราคาสินค้าให้สูงขึ้น ซึ่งอาจทำให้เกิดส่งออกไม่เติบโตเท่าที่ควร และมีปัญหาเงินเฟ้อภายในประเทศตามมา 

ถึงแม้จะมีความเป็นไปได้สูงที่การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้จะเป็นโทษกับเศรษฐกิจโดยรวม (คนว่างงาน ต่างชาติหนีไปลงทุนทีอื่น และการส่งออกชลอตัว) กลุ่มคนที่ไม่เสียประโยชน์จากเหตุการณ์ครั้งนี้ คือ กลุ่มคนที่ไม่ตกงาน และได้รับค่าจ้างสูงขึ้น

ถ้าเรานำเอาปัจจัยเรื่องค่าแรงที่สูงขึ้น มาบวกกับ วิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในยุโรป เราก็จะพบว่าประมาณการณ์อัตราการเติบโตของ GDP ที่รัฐมองว่าจะโต 7% คงจะเป็นการมองโลกในแง่บวกมากเกินไป

---------------------------------------------------

จบไปแล้วครับ สำหรับเรื่องค่าแรงขั้นต่ำ และผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ในบทความต่อไป ผู้เขียนจะมาพูดถึง หุ้นและธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการเพิ่มค่าแรงในครั้งนี้ 

สุดท้ายนี้ ผู้เขียนอยากฝากไว้ว่า ถ้าปัญหาความเหลื่อมล้ำ และความไม่เท่าเทียมของรายได้สามารถถูกแก้ไขได้ด้วยการแก้กฏหมายเพื่อเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ (โดยที่ไม่สนใจเพิ่มทักษะให้กับแรงงาน) โลกนี้ก็คงไม่มีปัญหาความไม่เท่าเทียมของรายได้แล้วละครับ

1.  นายจ้างอ่วมควักสองเด้ง! 300พ่วงมาตรฐานฝีมือ ชี้รู้ตัวรีบปิดก่อนเมษาฯ: ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 32 ฉบับที่ 2,721 วันที่ 11-14 มีนาคม พ.ศ. 2555
2. ข่าวถุงคึกคักจ่อขึ้นราคา อานิสงส์รับจำนำ/ค่าแรง/น้ำมันแพงปลุกตลาด1.2แสนล้าน: ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 32 ฉบับที่ 2,721 วันที่ 11-14 มีนาคม พ.ศ. 2555

Posted in:
Twitter