การลงทุนหุ้น และเศรษฐกิจ อัพเดทรายสัปดาห์

25 มีนาคม 2555

ลงทุนปี2012: ปัจจัยลบและปัจจัยบวก [หลังไตรมาสหนึ่ง]


บทความนี้เป็นบทความอัพเดท ต่อเนื่องจาก ลงทุนปี2012: ปัจจัยลบและปัจจัยบวก

ไตรมาสที่หนึ่งกำลังจะสิ้นสุดลง เข้าสู่ไตรมาสสอง มีสิ่งต่างๆเกิดขึ้นมากมาย ทำให้นักลงทุนได้ตื่นเต้นอย่างไม่ขาดสาย ก่อนที่เราจะไปคาดการณ์ว่าอะไรจะเกิดต่อจากนี้ไป เราลองมาดูกันก่อนดีกว่าครับว่า สิ่งที่ทางSETTALK วิเคราะห์ไว้เมื่อปลายปีที่แล้วว่าจะเกิดขึ้นในปีนี้นั้นจริงเท็จอย่างไร


เกิดอะไรขึ้นบ้าง?

ปัจจัยลบจากตอนที่แล้ว: 1.) วิกฤตหนี้ในยุโรป 2.) ปัญหาหนี้รัฐบาลในอเมริกา 3.) ความขัดแย้งระหว่างตะวันตกกับอิหร่าน

เริ่มจากวิกฤตหนี้ในยุโรปก่อนนะครับ

คาดไว้ว่า: ในภาคที่แล้ว เราทำนายไว้ว่าสถานการณ์จะต้องแย่ลงไปอีก เพราะจะเกิดหนี้เสียขึ้นในบางประเทศ ซึ่งมีความเป็นไปได้สูงว่าสิ่งนี้จะทำให้ประเทศเพื่อนบ้านโดนลดอันดับความน่าเชื่อถือลงไปด้วย

สิ่งที่เกิดขึ้น: ปรากฏว่า อันดับความน่าเชื่อถือของประเทศต่างๆถูกปรับลดลง ก่อนที่กรีซจะก่อหนี้เสียเสียอีก ซึ่งแสดงให้เห็นว่าบรรดาRating Agenciesทั้งหลายมีความเข้มงวดในการจัดอันดับมากขึ้น หลังจากที่เกิดวิกฤตการทางการเงินในปี2008

ผู้ที่ติดตามSETTALKมาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ปี2554 จะทราบดีว่า ทางเราไม่ได้คาดการณ์ไว้เพียงเท่านี้ ในซีรี่ส์No Way Out เราได้คาดการณ์เกี่ยวกับยุโรปไว้สามอย่างด้วยกัน คือ

1. Recession in Europe (ภาวะเศรษฐกิจหดตัวในยุโรป)
2. Defaults in EU (หนี้เสียในEU)
3. Smaller Eurozone (ยูโรโซนจะมีขนาดเล็กลง)

ผู้เขียนได้คาดการณ์สองอย่างแรกไว้ได้อย่างถูกต้อง อันที่จริงแล้วเราได้คาดการณ์เรื่องภาวะเศรษฐกิจหดตัวในยุโรปก่อนหน่วยงานทางการเสียอีก (คลิกเพื่อดูหลักฐาน)

ส่วนการคาดการณ์ในเรื่องของ Smaller Eurozone นั้น เป็นการคาดการ์ระยะยาวที่ผู้เขียนคาดว่าจะเกิดขึ้นภายใน3-5ปีข้างหน้า และเป็นสิ่งที่ต้องดูกันต่อไปว่ากรีซจะทนอยู่ต่อในยูโรโซนได้หรือไม่


ปัจจัยลบอันต่อมาคือ ปัญหาหนี้รัฐบาลในอเมริกา 

คาดไว้ว่า: รัฐบาลอเมริกาคงไม่สามารถลดจำนวนหนี้ได้มากนักในปี2012 "เพราะ1.)โอบามาจะเริ่มใช้เวลากับการหาเสียงเยอะขึ้น และใช้เวลากับการทำงานน้อยลง 2.) รัฐบาลของโอบามาคงไม่กล้าเปลี่ยนนโยบายที่มีอยู่แบบฉับพลันก่อนการเลือกตั้ง"

สิ่งที่เกิดขึ้น: ยังวัดผลไม่ได้ เพราะตัวเลขหนี้สาธารณะต่อGDPล่าสุดของปีนี้ยังไม่ถูกประกาศ แต่เราคาดว่าตัวเลขดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นจาก 98.7% ในปีที่แล้ว และทะลุ100%ในปีนี้


ปัจจัยลบอันสุดท้าย คือ  ความขัดแย้งระหว่างตะวันตกกับอิหร่าน

คาดไว้ว่า: ความขัดแย้งนี้จะส่งผลให้ "1.)ราคาน้ำมันอาจปรับตัวสูงขึ้นได้ เพราะอิหร่านคือประเทศผู้ผลิตน้ำมันที่มีผลผลิตต่อปีมากเป็นอันดับสองของOPECรองจากซาอุดิอาราเบีย 2.) ตลาดหุ้นทั่วโลกอาจปรับตัวลง เพราะนักลงทุนไม่ชอบความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นจากสงคราม"

สิ่งที่เกิดขึ้น: ความขัดแย้งครั้งนี้เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ส่งผลราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูงขึ้นในช่วง2-3เดือนที่ผ่านมา แต่ก็ยังไม่มีเหตุการณ์ที่ตลาดหุ้นปรับตัวลงอย่างรุนแรง เพราะยังไม่มีสงครามใดๆเกิดขึ้น


ปัจจัยบวกจากตอนที่แล้ว จีนยังพอโตได้

คาดไว้ว่า: "ถ้ายุโรปแย่ จีนต้องแย่ด้วย เพราะทวีปยุโรปเป็นคู่ค้าที่ใหญ่ที่สุดของจีน อย่างไรก็ตาม ในปีนี้ จีนจะโตต่อได้ และไม่น่าจะเกิดhard landingเหมือนที่นักเศรษฐศาสตร์และนักธุรกิจต่างประเทศบางท่านทำนายกันเอาไว้ เพียงแต่ว่าอัตราการเติบโตอาจจะลดลงจากปัจจุบันเล็กน้อย"

สิ่งที่เกิดขึ้น: ผู้นำจากจีนลดเป้าหมายการเติบโตของGDPลงจาก8% เหลือ7.5% แต่ยังคงต้องดูกันต่อไปว่าจีนจะโตได้มากน้อยขนาดไหน


อัพเดทสำหรับหลังไตรมาสหนึ่ง

ปัจจัยลบ [อัพเดท]
1. วิกฤตหนี้ในยุโรป
2. ปัญหาระหว่างตะวันตกกับอิหร่าน
3. นโยบายค่าแรงในประเทศ

ในส่วนของปัจจัยลบ ท่านผู้อ่านจะเห็นว่า เราอัพเดทด้วยการตัด ปัญหาหนี้รัฐบาลในอเมริกา ออก เพราะเราเชื่อว่า ถึงแม้ก้อนหนี้อันมหาศาลก้อนนี้เปรียบเสมือนระเบิดเวลา มันไม่น่าจะก่อให้เกิดปัญหาได้เร็วๆนี้ เราคาดว่านักลงทุนน่าจะเริ่มกังวลในช่วงปลายปีนี้ หรือต้นปีหน้า หลังจากที่มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีเสร็จเรียบร้อย

นอกจากนี้ เรายังได้เพิ่ม นโยบายค่าแรงในประเทศ เข้าไปในรายการของปัจจัยลบ เพราะเราเชื่อว่าค่าแรงขั้นต่ำ ที่สูงขึ้นจะส่งผลต่อต้นทุนของผู้ผลิต และเศรษฐกิจในวงกว้าง

เราลองมาดูอัพเดทของปัจจัยลบกันทีละตัวเลยดีกว่าครับ

ปัจจัยลบ 1 วิกฤตหนี้ในยุโรป

เหตุการณ์ที่น่าลุ้นที่สุดของยูโรโซน ซึ่งก็คือการเจรจาขอhaircutระหว่างภาคเอกชนกับรัฐบาลกรีซก็ได้ผ่านพ้นไปเรียบร้อย ถึงแม้ผู้ถือหุ้นกู้ของรัฐบาลกรีซจะขาดทุนไปกว่า70% ตลาดหุ้นก็ไม่ได้ปรับตัวลงเลยแม้แต่น้อย

ถึงแม้การปรับลดหนี้จะผ่านไปได้อย่างราบรื่น สิ่งที่นักลงทุนควรกังวลต่อจากนี้ คือ 1.) ประเทศอย่างโปรตุเกสจะขอ haircut ด้วยหรือไม่ และถ้าขอ สิ่งนั้นจะกระทบกับสถาบันการเงิน และเศรษฐกิจมากน้อยแค่ไหน 2.) ผู้เขียนคาดว่าเศรษฐกิจของยูโรโซนจะหดตัวต่อ

สิ่งที่นักลงทุนควรปฏิบัติ ณ ตอนนี้คือ หลีกเลี่ยงการลงทุนในบริษัทที่มีสัดส่วนการส่งออกไปยุโรปอยู่มาก โดยเฉพาะธุรกิจที่ส่งออกสินค้าที่ไม่ใช่สิ่งจำเป็นในชีวิตประจำวัน และไม่ต้องซื้อบ่อยๆ

ปัจจัยลบ 2 ปัญหาระหว่างตะวันตกกับอิหร่าน

เมื่อใดที่อิหร่านมีอาวุธนิวเคลียร์เป็นของตัวเอง ผู้นำประเทศอิสราเอลจะนอนไม่หลับ เพราะประเทศของตนอาจหายวับไปต่อหน้าต่อตาเมื่อใดก็ได้ ผู้นำอเมริกาก็คงหวาดผวาเช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้น ถ้าอิหร่านยังดื้อดึงที่จะสร้างอาวุธนิวเคลียร์ต่อไป ก็มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดสงครามเกิดขึ้น เนื่องจากมีประเทศใดประเทศหนึ่งบุกเข้าไปยับยั้งการสร้างขีปนาวุธ

ทว่า ทางชาติตะวันตกไม่ได้โง่ และรู้ดีว่า ถ้าบุกเมื่อไร ราคาน้ำมันจะขึ้นอีกอย่างแน่นอน และตอนนี้ชาติตะวันตก โดยเฉพาะยุโรปที่ยังมีเศรษฐกิจที่เปราะบางอยู่นั้น คงยังไม่อยากบุกอิหร่านจนส่งผลให้ราคาน้ำมันขึ้นเร็วๆนี้ เพราะฉะนั้น สงครามน่าจะเกิดก็ต่อเมื่อ 1.) เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวดีแล้ว หรือ 2.) อิสราเอลหมดความอดทน

ปัจจัยลบ 3 นโยบายค่าแรงขั้นต่ำในประเทศ

ผู้เขียนได้กล่าวถึงค่าแรงขั้นต่ำ และผลกระทบต่อเศรษฐกิจไว้ในบทความ ค่าแรงขั้นต่ำ และผลกระทบต่อเศรษฐกิจ แต่ก็คงไม่เสียหายถ้าจะสรุปให้ฟังอีกครั้งหนึ่ง ต่อไปนี้คือสิ่ง ที่ผู้เขียนคาดว่าจะเกิดขึ้น

1.) ค่าแรงขั้นต่ำที่ปรับตัวสูงขึ้น จะส่งผลให้ค่าแรงของแรงงานระดับสูงกว่าปรับตัวสูงขึ้นตามไปด้วย
2.) ต้นทุนของผู้ประกอบการจะปรับตัวขึ้นอย่างมหาศาล บางรายกำไรจะลดลง บางรายอาจต้องปิดกิจการ
3.) ต้นทุนที่สูงผลักดันให้ ผู้ประกอบการที่ยังอยู่ในประเทศหันมาใช้เครื่องจักรมากขึ้น หลายๆรายคงหันไปลงทุนต่างประเทศ ส่งผลให้มีคนตกงานเพิ่ม
4.) ต้นทุนที่สูงขึ้นส่งผลให้ธุรกิจส่งออกแข่งขันได้ยากกว่าเดิม อาจทำให้การส่งออกไม่โตเท่าที่ควร
5.) ผู้ประกอบการในหลายๆธุรกิจจะแบ่งภาระต้นทุนมาที่ผู้บริโภคโดยการเพิ่มราคาสินค้า ตอกย้ำปัญหาเงินเฟ้อภายในประเทศ
6.) การลงทุนในประเทศที่น้อยลง การว่างงานที่เพิ่มขึ้น และการส่งออกที่ชลอตัว จะส่งผลต่อเศรษฐกิจภาพรวมโดยตรง

ธุรกิจที่จะได้รับผลน้อยที่สุด คือ ธุรกิจที่ใช้แรงงานเป็นสัดส่วนของปัจจัยการผลิตน้อย และสามารถปรับเพิ่มราคาสินค้าและบริการของตนได้ไม่ยากนัก

กลุ่มอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเป็นสัดส่วนมากพอสมควร และปรับราคาสินค้าได้ไม่มากคือ อุตสาหกรรมเครื่องดื่ม วัสดุก่อสร้าง เคมี เฟอร์นิเจอร์ กระดาษ และอิเล็คโทรนิคส์ อย่างไรก็ตาม กลุ่มที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ อุตสาหกรรมผลิตเครื่องจักร เครื่องเพชรและเครื่องประดับ และอุตสาหกรรมสิ่งทอ*

* ข้อมูลจาก Who Bears the Burden of Rising Wages โดย TMB Analytics (หน้งสือพิมพ์ Bangkok Post ฉบับ Friday, August 5, 2011 หน้า B2)

นักลงทุนควรหลีกเลี่ยงลงทุนในอุตสาหกรรมเหล่านี้ โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมที่โดนสองเด้ง คือ โดนทั้งเรื่องค่าแรงที่เพิ่มขึ้น และการส่งออกที่ชลอตัวเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจหดตัวในยุโรป


ในส่วนของรายการปัจจัยบวก เราตัด "จีนยังโตได้" ออก และไม่ได้เพิ่มปัจจัยใดๆเข้าไป สาเหตุที่ตัดออกก็เพราะว่าตัวแปรหลักที่จะกำหนดเศรษฐกิจโลก ณ ตอนนี้ คือยุโรปไม่ใช่จีน ถึงแม้รัฐบาลจีนจะกระตุ้นเศรษฐกิจให้โตได้ตามเป้า การกระตุ้นเหล่านั้น(เช่นการลดดอกเบี้ย และการกระตุ้นให้ธนาคารปล่อยกู้มากขึ้น)จะเป็นประโยชน์กับเศรษฐกิจภายในประเทศซะส่วนใหญ่ และไม่ได้ช่วยเศรษฐกิจโลกเท่าไรนัก

1. China Cuts Growth Target to 7.5% as Wen Seeks Sustainable Growth: Economy
2. 'โฆษิต'แนะนักธุรกิจลงทุนนอก ไม่นานขาดแรงงาน
3. Builders say wage hike would add to housing cost

Posted in: , ,
Twitter