การลงทุนหุ้น และเศรษฐกิจ อัพเดทรายสัปดาห์

08 กันยายน 2562

หุ้นแบงค์ถูกพอหรือยัง? Part I (Price per Book Value)

ตลาดหุ้นไทยมีธนาคารทั้งหมด 11 ตัว โดยนักลงทุนส่วนใหญ่ที่ถือหุ้นธนาคารในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา คงขาดทุนไปตามๆกัน เพราะราคาปรับตัวลงตาม รายได้ค่าธรรมเนียมที่หายไป และภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวจนทำให้หลายๆธนาคารมีหนี้เสีย หรือ NPL (Non-Performing Loan) สูงขึ้น ตัวอย่างเช่น KBANK ปรับตัวลงจาก 241.0 บาท ณ วันที่ 5 .. 2018 มาอยู่ที่ ราคา 160.5 บาท เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (6 .. 2019) เท่ากับปรับตัวลงมา 33% ในช่วงเวลาไม่ถึง 2 ปี ในช่วงเวลาเดียวกัน หุ้น SCB ปรับตัวลง 22%  หรือ พูดง่ายๆ ว่าตั้งแต่ต้นปี 2018 มาถึงปัจจุบัน  ราคาหุ้นธนาคารทุกตัวปรับตัวลงทุกตัวยกเว้น TISCO (+13%)

แหล่งที่มา: Bloomberg

คำถามต่อมา คือ ราคาลดลงมาขนาดนี้ ราคาหุ้นถูกน่าซื้อหรือยัง วันนี้เรามาดูความถูก และแพงของหุ้นธนาคารผ่านอัตราส่วน Price per Book Value (P/BV) 


อะไรคือราคาปิดต่อมูลค่าตามบัญชี (P/BV)?
ราคาปิดต่อมูลค่าตามบัญชีประกอบด้วยสองส่วน คือ "ราคาปิด" (Price) และ "มูลค่าตามบัญชี" (Book Value)

ราคาปิด ก็คือราคาปิดของหุ้นในแต่ละวัน

มูลค่าตามบัญชี หรือ Book Value ที่เราได้ยินกันบ่อยๆ และถูกใช้ในอัตราส่วนP/BVนั้น คือ มูลค่าของสินทรัพย์ ที่ทางบริษัทใช้เงินทุนจากเจ้าของบริษัทมาซื้อ ซึ่งก็คือ มูลค่าตามบัญชีที่เป็นส่วนของผู้ถือหุ้นนั้นเอง (ชื่อเต็มภาษาอังกฤษ คือ Book Value of Equity) หรือ พูดอีกอย่างก็คือเป็น มูลค่าสินทรัพย์ของบริษัทหลังจากหักส่วนของเจ้าหนี้แล้ว


มูลค่าสินทรัพย์ตามบัญชี  = มูลค่าหนี้สินตามบัญชี  + มูลค่าเงินทุนของผู้ถือหุ้นตามบัญชี

         (Book Value of Asset)                      (Book Value of Debt)                                 (Book Value of Equity)


ในกรณีของบริษัททั่วไปๆ BV มักได้มาจากมูลค่าของโรงงาน เครื่องจักร เงินสดและเงินลงทุนต่าง (asset) ลบด้วย ภาระหนี้สิน (liabilities) (อ่านเกี่ยวกับ P/BV ของธุรกิจทั่วไปเพิ่มเติมได้จาก Price per Book Value: Part I ความหมายและที่มาส่วนในกรณีของธนาคาร BV ส่วนใหญ่มาจาก มูลค่าเงินปล่อยกู้ให้ลูกค้าและเงินลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ (asset) ลบด้วย มูลค่าเงินฝากจากลูกค้าธนาคารและเงินกู้แหล่งอื่นๆ (liability) เงินปล่อยกู้ถือเป็นสินทรัพย์หรือ asset เพราะสามารถสร้างรายได้ดอกเบี้ยให้ธนาคารได้ และเป็นเงินต้นที่ธนาคารควรจะได้คืนในอนาคต ในขณะที่เงินฝากจากลูกค้าธนาคารถือเป็นภาระหนี้สินหรือ liability เพราะเป็นสิ่งที่ธนาคารมีต้นทุนดอกเบี้ยจ่าย และเป็นเงินต้นที่ธนาคารต้องจ่ายคืนลูกค้าในอนาคตตามอายุเงินฝาก หรือการถอนเงินตามความสมัครใจของลูกค้า

ที่อัตราส่วน P/BV เท่ากับ 1 เท่า หมายความว่า ตลาดหุ้นให้มูลค่าธนาคารนั้น เท่ากับ มูลค่าของเงินปล่อยกู้ (ที่หักลบด้วยภารหนี้สินแล้ว) เพราะฉะนั้น ถ้าธุรกิจธนาคารปกติดี P/BV ควรจะซื้อ-ขาย อยู่ในระดับอย่างน้อย 1 เท่าเพราะ Book Value หรือเงินปล่อยกู้เหล่านั้นเป็นสิ่งที่ 1) สร้างรายได้ดอกเบี้ยให้ธนาคารได้ และ 2)ป็นก้อนเงินที่ลูกหนี้ควรจะจ่ายธนาคารจนครบ ถ้าหุ้นธนาคารตัวไหนซื้อ-ขายที่ P/BV ต่ำกว่า 1 เท่า แปลว่าตลาดมองแนวโน้มการปล่อยกู้สินเชื่อก้อนใหม่ในอนาคตน้อยกว่า การจ่ายเงินคืนสินเชื่อก่อนที่มีอยู่เดิม (มูลค่าสินเชื่อสุทธิลดลง) หรือ ตลาดมองแนวโน้มหนี้เสีย (NPL) ปรับตัวสูงขึ้นได้อีกมาก ซึ่งการเติบโตของสินเชื่อสุทธิติดลบ และ NPL ที่เพิ่มขึ้นจะส่งให้ BV ลดลงเองในอนาคต

พูดอีกแง่นึง คือ ถ้าเรามองว่า ธุรกิจของธนาคารยังเติบโตได้ในระยะยาว P/BV ที่ระดับต่ำกว่า 1 เท่า อาจจะแปลว่าหุ้นตัวนั้นราคาถูกแล้วก็ได้ จากหุ้นธนาคารในตลาดหลักทรัพย์ทั้งหมด 11 ตัว ปัจจุบันมีอยู่ถึง 8 ตัวที่เทรดอยู่ต่ำกว่า 1 เท่า เราจึงคาดเดาว่านักลงทุนในตลาด ณ ตอนนี้ คงกังวลเรื่องภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวของไทย ซึ่งได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาทแข็ง การท่องเที่ยวซบเซา เศรษฐกิจโลกชะลอตัว และ สงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกา (อ่านเรื่อง Trade War ได้ที่ สงครามกับคะแนนนิยมของประธานาธิบดี)

แหล่งที่มา www.set.or.th - ข้อมูล ณ วันที่ 6 ก.ย. 2019

ในสภาวะที่เศรษฐกิจมหภาคมีความเสี่ยงรอบด้าน การใช้ P/BV ในการคัดเลือกหุ้นอย่างเดียวคงไม่พอ ในบทความหน้า เรามาดูกันต่อว่ามีตัวเลขอะไรบ้างที่จะมาใช้ร่วมกับ P/BV เพื่อประกอบการตัดสินใจเลือกหุ้นแบงค์ครับ

Posted in: , ,
Twitter