การลงทุนหุ้น และเศรษฐกิจ อัพเดทรายสัปดาห์

22 สิงหาคม 2562

จุดอ่อนของอเมริกาที่จะทำให้เกิดวิกฤตรอบต่อไป



SET Index ปรับตัวลงจากจุดสูงของปีมาประมาณ 6% ในขณะที่ S&P 500 ของอเมริกาปรับตัวลงมาประมาณ 3% โดยทั้งสองดัชนีเริ่มปรับตัวลงในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือน กรฎาคม หลังจากมีความไม่แน่นอนเกี่ยวกับเศรษฐกิจโลกมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งประเด็นที่สำคัญที่สุดก็คงหนีไม่พ้นสงครามการค้าระหว่าง อเมริกา กับ จีน ซึ่งประธานาธิบดี Trump ได้กลับมาประกาศศึกขึ้นภาษีสินค้านำเข้าอีกครั้งเมื่อวันที่ 1 สิงหาฯ ที่ผ่านมา

SET Index ขึ้นไปจุดสูงสุดของปีที่ 1,740.91 จุด ณ วันที่ 1 กรกฏาคม 2019

คำถามต่อมาที่อาจจะเกิดในใจนักลงทุน ก็คือ หุ้นจะลงต่อได้อีกมั้ย คำตอบจากเราคือ ความเสี่ยงยังมีรออยู่อีกเยอะ โดยบทความนี้จะมุ่งเน้นไปที่ความเสี่ยงที่ตลาดหุ้นอเมริกา ซึ่งเป็นตลาดที่นักลงทุนในไทยและทั่วโลกควรให้ความสนใจ เพราะเวลาตลาดอเมริกาปรับตัวลงแรง ก็มักจะลากตลาดอื่นลงไปด้วย 

S&P500 ขึ้นไปจุดสูงสุดที่ 3,025.86 จุด ณ วันที่ 26 กรกฎาคม 2019

ปัจจัยเสี่ยง หรือ จุดอ่อนของประเทศ ที่อาจทำให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจในอเมริกา ณ ปัจจุบันมีอยู่อย่างน้อย 3 อย่าง คือ 1) ตลาดหุ้นที่แพง 2) หนี้ภาคเอกชนที่สูงเป็นประวัติการณ์ 3) สงครามทางการค้า

1) ตลาดหุ้นที่แพง

ตัวบ่งชี้ตัวแรกที่บอกว่าตลาดหุ้นอเมริกานั้นแพงแล้วคือ Buffett Indicator หรือ Market Cap to GDP

Warren Buffett เคยกล่าวว่า Market Cap to GDP เป็นดัชนีชี้วัดที่ดีที่สุดว่าตลาดหุ้นอเมริกาถูกหรือแพง ตัวบ่งชี้นี้ประกอบไปด้วยสองส่วน ส่วนแรกคือ market capitalization หรือ มูลค่าหุ้น ซึ่งอิงจากดัชนี Wilshire Total Market ซึ่งรวมมูลค่าหุ้นทั้งเล็กใหญ่ในอเมริกาประมาณ 6,700 ตัว ส่วนประกอบที่สอง คือ  Gross Domestic Product (GDP) หรือผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศสหรัฐอเมริกา   ทางเว็บไซต์ gurufocus มีการอัพเดทอัตราส่วน Market Cap to GDP ทุกวัน 

ในช่วงเวลาปกติ Market Cap to GDP ของอเมริกามักจะอยู่ในระดับ 75%-90% ซึ่งแปลความหมายได้ว่าหุ้นมักจะมีมูลค่ารวมใกล้เคียงกับขนาดของเศรษฐกิจประเทศ ยิ่งมูลค่าหุ้นต่ำเมื่อเทียบกับ GDP แปลว่าหุ้นถูก ยิ่งมูลค่าหุ้นสูงเมื่อเทียบกับ GDP แปลว่าหุ้นแพง ปัจจุบัน (22 สิงหาคม 2019) Market Cap to GDP อยู่ที่ 140% ซึ่งแปลว่ามูลค่าหุ้นอเมริกานั้นมีขนาดใหญ่กว่าเศรษฐกิจถึง 40%

อัตราส่วนนี้เคยทำสถิติสูงสุดไว้ที่ระดับ 148.5% ในเดือน มี.ค. ปี 2000 ซึ่งเป็นช่วงตลาดหุ้นร้อนแรง เกิดภาวะฟองสบู่ในหุ้นกลุ่มที่เกี่ยวกับอินเตอร์เน็ต และเทคโนโลยี (Dot Com Bubble) ในขณะที่วิกฤตเศรษฐกิจรอบล่าสุด Market Cap to GDP ขึ้นไปแตะที่ระดับ 110% ในช่วงปลายปี 2017 ก่อนที่จะปรับตัวลงมา

ปัจจุบัน อัตราส่วน Market Cap to GDP อยู่ที่ 140.3%

ตัวบ่งชี้อีกหนึ่งตัวที่บอกว่าตลาดหุ้นอเมริกาแพง คือ Shiller P/E ของดัชนี S&P 500 โดยต่างจากอัตราส่วน P/E ทั่วไปตรงที่ กำไรที่ถูกนำมาใช้ คือ ค่าเฉลี่ยกำไรในอดีต10ปี และเป็นกำไรที่ถูกปรับด้วยอัตราเงินเฟ้อให้มีมูลค่าเท่ากับเงินดอลล่าร์ปัจจุบันแล้ว การใช้กำไรระยะยาวเช่นนี้ก็เพื่อที่จะตัดปัจจัยวงจรเศรษฐกิจออกจากการคำนวณ P/E ตัวอย่างเช่น ในปีที่เศรษฐกิจดีมาก อัตราการทำกำไรของบริษัท (gross margin, EBIT margin, net margin) อาจจะทำได้ดีเป็นพิเศษ ไม่สะท้อนผลการดำเนินงานที่แท้จริงของบริษัทในระยะยาว

ปัจจุบัน Shiller P/E ของดัชนี S&P 500 อยู่ที่ 29.1 เท่า สูงกว่าค่าเฉลี่ยระยะยาวที่ 17 เท่า ถึง 71% 

2) หนี้ภาคเอกชนในอเมริกาสูงเป็นประวัติการณ์

ย้อนไปวิกฤตเศรษฐกิจช่วงปี 2008-2009 ตัวปัญหาที่ทำให้วิกฤตรุนแรง คือ สินเชื่อเพื่อการซื้อบ้านที่มีคุณภาพต่ำ (subprime mortgage loans) การปล่อยสินเชื่อที่ต่ำกว่ามาตรฐานทำให้มีก้อนหนี้ครัวเรือนสูงเกินไป และคุณภาพต่ำเกินไป ตั้งแต่นั้นมา ธนาคารในอเมริกามีวินัยในการปล่อยกู้มากขึ้น ตัวผู้กู้เองก็มีวินัยในการกู้มากขึ้นจนทำให้ ปัญหานี้ถูกคลี่คลายไป

ปัจจุบันปัญหาใหม่เกิดขึ้นในอเมริกา เมื่อหนี้ภาคเอกชนของบริษัทที่อยู่นอกอุตสหากรรมการเงิน (Total Credit to Non-Financial Corporations) ได้ปรับตัวสูงขึ้นเรื่อยๆจนอยู่ในระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ระดับ  74.4% ของ GDP ณ สิ้นไตรมาส 4 ปี 2018 แซงหน้าสถิติเดิมที่ 72.6% ณ สิ้นปี 2008 

อัตราส่วนหนี้สินของบริษัทในอเมริกาอยู่ที่ 74.4% ณ สิ้นปี 2018 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดตลอดกาล แซงหน้า 72.6% ณ สิ้นปี 2008 

หนี้ที่สูงขึ้นเกิดจากภาวะดอกเบี้ยต่ำนานหลายปี เอื้อให้บริษัทในอเมริกากู้เงินมากขึ้น ซึ่งบริษัทเหล่านั้นก็นำเงินมาซื้อหุ้นตัวเองคืนจากตลาดหลักทรัพย์ด้วยเช่นกัน และเป็น 1 ในเหตุผลที่ทำให้ตลาดหุ้นในอเมริกาปรับตัวแพงขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่เดือน มี.ค. ปี 2009 จนถึงปลายปี 2018 บริษัทในกลุ่ม S&P500 ใช้เงินซื้อหุ้นตัวเองเป็นมูลค่า 4.5 ล้านล้านดอลล่าร์ หรือคิดเป็น 1 ใน 3 ของมูลค่าที่เพิ่มขึ้น (capital gain) 15 ล้านล้านดอลล่าร์ของ S&P500 ในช่วงเวลาเดียวกัน น่าเป็นห่วงว่าเมื่อไรที่บริษัทเริ่มกู้เพิ่มได้ยากขึ้น ไม่ว่าจะด้วยเพราะความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกและกำไรในอนาคต หรือ ด้วยดอกเบี้ยที่ปรับตัวสูงขึ้นในอนาคต การซื้อหุ้นคืนของบริษัทอาจจะเริ่มชลอตัวลง และอาจทำให้ราคาหุ้นอเมริกาไปต่อลำบาก 

กราฟเส้นสีดำแสดงถึงดัชนีตลาดหุ้น S&P500 ในขณะที่กราฟแท่งสีเขียวแสดงถึงมูลค่าการซื้อหุ้นคืนของบริษัทในกลุ่ม S&P500

หลังจากที่ทำสถิติสูงสุดใหม่ในทุกไตรมาสของปี 2018 ในไตรมาส2ของปี2019 การซื้อหุ้นคืนของบริษัทในกลุ่ม S&P500 เริ่มปรับตัวลงแล้ว โดยลดลงถึง 13% จากช่วงเวลาเดียวกันในปีก่อนหน้า (อ้างอิง: https://www.koamnewsnow.com/news/money/stock-buybacks-slowing-down/1112161241 และ https://www.wsj.com/articles/slowing-share-buybacks-remove-a-pillar-of-stock-market-11566379801)

3) สงครามทางการค้าระหว่าง อเมริกากับจีน

ถ้าสงครามทางการค้าไม่จบเร็วๆนี้ แล้วประธานาธิบดี Trump ตัดสินใจลั่นไกขึ้นภาษี10%สำหรับการนำเข้าสินค้าจีนที่เหลือมูลค่า3แสนล้านดอลล่าร์จริง (บางส่วนจะขึ้นตั้งแต่ 1 กันยาฯ บางส่วนขึ้นภาษีเดือน ธันวาฯ) เราเชื่อว่าจะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในอเมริกาและคงลุกลามไปทั่วโลก และเมื่อเศรษฐกิจหดตัว ภาระหนี้ก้อนใหญ่ของบริษัทในอเมริกาก็จะเป็นตัวปัญหาที่ทำให้วิกฤตรุนแรงขึ้น (อ่านบทความ Trade War: สงคราม กับ คะแนนนิยมของประธานาธิบดี)

จะเห็นได้ว่าแค่ขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีนชุดแรกไปแล้ว 2.5 แสนล้านล้านดอลล่าร์ การส่งออกจากประเทศต่างๆ รวมถึงไทย ที่เป็น supply chain ของจีน ก็เริ่มมีการชลอตัวให้เห็นแล้ว เศรษฐกิจของสิงค์โปร์ ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์บางท่านเปรียบเปรยเหมือนเป็นปรอทวัดไข้ของ ASEAN ก็มีหดตัวลง 0.6% ในไตรมาสสองของปี2019 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ถ้า trade war ยังรุนแรงขึ้นอีก ประเทศอื่นในภูมืภาคเดียวกันก็ยิ่งมีความเสี่ยงมากขึ้นเรื่อยๆที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย


เนื่องด้วยความเสี่ยงของอเมริกาที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ท่านนักลงทุนทั้งหลายควรลงทุนหุ้นด้วยความระมัดระวังเป็นอย่างยิ่งครับ

Posted in: ,
Twitter