การลงทุนหุ้น และเศรษฐกิจ อัพเดทรายสัปดาห์

29 กรกฎาคม 2554

ว่าด้วยเรื่องปัญหาหนี้ และเพดานหนี้ของรัฐบาลสหรัฐ


ดัชนีดาวโจนส์ร่วงมาเป็นเวลาห้าวันติดต่อกัน เนื่องจากนักลงทุนมีความกังวัลว่า ทางการจะตกลงกันไม่ได้ในเรื่องการเพิ่มเพดานหนี้ของรัฐบาล ซึ่งจะต้องถูกปรับขึ้นก่อนวันที่สอง สิงหาคมที่จะถึง มิฉะนั้นหนี้บางส่วนของรัฐบาลอเมริกาจะกลายเป็นหนี้เสีย

เรื่องหลักๆที่รัฐสภาอเมริกา(หรือ congress ซึ่งมีพรรคRepublicanเป็นเสียงส่วนใหญ่) และสภาสูง (หรือ Senate ซึ่งมีพรรคDemocratคุม) ตกลงกันไม่ได้ก็คือ มาตราการที่จะนำมาใช้ลดหนี้ของรัฐบาลในอนาคต

ฝ่ายRepublicanบอกว่าปัญหาใหญ่อยู่ที่รายจ่าย เราจะต้องลดรายจ่ายเป็นหลัก และทำให้เงินที่รัฐบาลจ่ายไปแต่ละดอลล่าร์มีประสิทธิผลมากขึ้น

ฝ่ายDemocratบอกว่าปัญหาหลักไม่ได้อยู่ที่รายจ่าย แต่อยู่ที่รายได้ เพราะฉะนั้นการแก้ที่ถูกต้องก็คือ ต้องเพิ่มรายได้ โดยการเพิ่มภาษีต่างๆ การลดรายจ่ายเป็นหลักนั้นไม่ควรทำ เพราะคนบางกลุ่มยังมีความจำเป็นที่จะต้องพึ่งพาเงินที่ได้รับจากรัฐบาลอยู่

ถึงแม้ทั้งสองฝ่ายจะเล็งเห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องกำหนดนโยบายเพื่อการแก้ไขปัญหานี้สาธารณะก่อนที่จะอนุญาตให้ตนเองยืมเงินได้เพิ่มขึ้น การที่ทั้งสองฝ่ายไม่ยอมรับนโยบายของฝ่ายตรงข้ามทำให้การปรับขึ้นเพดานนี้ถูกเลื่อนออกมาเรื่อยๆ และเข้าใกล้วันชี้เป็นชี้ตายมากขึ้นทุกที

ถ้าสองสภาของอเมริกาไม่สามารถหาข้อสรุป และไม่สามารถปรับเพิ่มเพดานหนี้สาธารณะได้ภายในวันที่ 2 สิงหาคม 2011 จะเกิดอะไรขึ้น?

หนี้เสียครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของอเมริกา?

ถ้าปรับเพดานขึ้นไม่ได้ รัฐบาลจะไม่สามารถกู้ยืมเพิ่มได้ รายจ่ายจะมากกว่ารายได้ภาษีและหนี้ที่รัฐสามารถกู้ยืมมาได้ทันที กระทรวงการคลังของสหรัฐจะต้องตัดสินใจว่าค่าใช้จ่ายอันไหนจะจ่าย ค่าใช้จ่ายอันไหนจะเบี้ยวไม่ยอมจ่าย และรัฐจะไม่สามารถจ่ายหนี้ที่มีอยู่ได้คืนครบทุกก้อน ผลก็คือ เมื่อถึงวันครบกำหนด หนี้บางก้อนของประเทศมหาอำนาจประเทศนี้ จะกลายเป็นหนี้เสีย

ผู้ให้ยืม หรือผู้ซื้อหุ้นกู้จากรัฐบาลจะต้องการดอกเบี้ยจากหุ้นกู้สูงขึ้นเพื่อชดเชยความเสี่ยงหนี้เสีย และพากันเทขายก้อนหนี้ที่ถืออยู่ เหมือนที่เกิดขึ้นกับ กรีซ และประเทศอื่นๆในกลุ่ม PIIGS  องกรค์ที่จัดอันดับฐานนะทางการเงินและน่าเขื่อถือที่มีชื่อเสียง ก็จะพากันลดเรตติ้งหนี้ของรัฐบาลสหรัฐ ส่งผลให้ดอกเบี้ยของหุ้นกู้สูงขึ้นไปอีก ถ้าเหตุการณืนี้เกิดขึ้นจริง ผลกระทบมาถึงตลาดหุ้นบ้านเราแน่นอน

อย่างไรก็ตาม ทางเราเชื่อว่า เหตุการณ์หนี้เสียของสหรัฐอเมริกานั้นเป็นไปได้ต่ำมาก เพราะนักการเมืองทั้งสองฝ่ายคงไม่อยากถูกตัดสินว่าเป็นผู้ทำลายความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ แต่ถึงแม้ในกรณีที่การปรับเพดานนั้นสำเร็จลุล่วง อันดับเรตติ้งของหนี้สหรัฐก็อาจถูกปรับลดลงอยู่ดี ถ้ายังไม่มีความชัดเจนในด้านแนวทางการบรราเทาภาระหนี้

ทางเราขอไม่ตัดสินว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งถูกผิดแต่อย่างใด แต่จะนำเสนอข้อมูลสถิติที่เป็นความจริงสำหรับท่านผู้อ่านให้ลองไปพิจารณากันดูเองครับ

  • คาดว่าในปีนี้ สัดส่วนค่าใช้จ่ายของรัฐบาลกลางต่อGDPของประเทศสหรัฐอเมริกา ในงบปีปัจจุบัน (สิ้นสุดวันที่30กันยายน2554)จะมีค่าเท่ากับ 24.1%   เมื่อปี2009 ตัวเลขเดียวกันนี้สูงถึง 25% ซึ่งสูงสุดในรอบ 65ปี
  • ในขณะเดียวกัน สัดส่วนรายได้ของรัฐบาลกลางต่อGDPนั้นถูกคาดว่าจะลดลงมาเหลือเพียงแค่ 14.8% ลดลงจาก14.9%ในปีที่แล้ว ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง (WWII) มีเพียงครั้งเดียวเท่านั้นที่รายได้ของรัฐบาลตกลงมาต่ำใกล้เคียงระดับดังกล่าว คือเมื่อปี1950 รายได้ได้ตกลงมาอยู่ที14.4% ของGDP
  • รายจ่ายที่สูงเป็นประวัติการณ์ บวกกับรายได้ที่ต่ำเป็นประวัติการณ์ ทำให้รัฐบาลสหรัฐเกิดการขาดดุลงบประมาณมากที่สุดตั้งแต่ WWII
  • 36% ของรายจ่ายรัฐบาลในปีนี้ คือเม็ดเงินที่รัฐบาลกู้ยืมมา
  • รายจ่ายหลักๆของรัฐบาลกลางคือ เงินสนับสนุนเพื่อค่าครองชีพ (Social Security) และเงินสนับสนุนเพื่อค่ารักษาพยาบาล (Medicare) สำหรับคนแก่ ซึ่งรวมกันเท่ากับ 33.5% ของรายจ่ายรวมในปี2010 และค่าใช้จ่ายทางทหารซึ่งมีค่าเท่ากับ 20.1% ของรายจ่ายในปีเดียวกัน ค่าใช้จ่ายด้านดอกเบี้ยหนี้รัฐอย่างเดียวก็มีมูลค่าเท่ากับ 5.7%ของค่าใช้จ่ายทั้งหมดแล้ว หนำซ้ำสัดส่วนค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยกำลังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
  • ภาษีรายได้จากคนทำงานมีมูลค่าเท่ากับ 41.5% ของรายได้ทั้งหมดของรัฐบาลกลาง ลดลงจาก49.6% ในช่วงก่อนที่จอร์จ บุช ปรับลดอัตราภาษีเงินได้ ภาษีเงินได้จากบริษัทมีมูลค่าเพียง8.9% ลดลงมาต่ำมากเนื่องจากวิกฤตเศรษฐกิจครั้งล่าสุด ภาษีหักค่าจ้างและรายได้จากประกันสังคม รวมกันคิดเป็น40% ของรายได้ทั้งหมดในปี2010
ไม่ว่าปัญหาจะมีต้นตอมาจากอะไร สิ่งหนึ่งที่ค่อนข้างชัดเจนก็คือ หนี้สาธารณะเป็นปัญหาที่ใช้เวลาก่อตัวเรื้อรังมาเป็นเวลานาน เพราะฉะนั้น จะต้องใช้เวลานานในการแก้ไข ทางเราจึงคาดว่ามีความเป็นไปได้สูงที่ปัญหาหนี้สาธารณะในอเมริกาจะตามก่อกวนตลาดหุ้นไทยเป็นระยะๆ เหมือนกับที่ปัญหาหนี้ยุโรปตามรังควานพวกเราในช่วง2ปีที่ผ่านมา แต่ความรุนแรงของวิกฤตครั้งนี้ คงจะอยู่ในระดับที่ควบคุมได้ ซึ่งหมายความว่า ในช่วงหกเดือนถึงหนึ่งปีที่จะถึง อาจจะมีจังหวะให้เราซื้อของถูกเข้าพอร์ทอีกเป็นครั้งคราว

หัวข้อที่เกี่ยวข้อง: หนี้สาธารณะในสหรัฐอเมริกา 2010 และ ภาระหนี้อันมหาศาลของรัฐส่งผลต่อประชาชนอย่างไร 2010

ข้อมูลสถิติจาก http://www.factcheck.org/2011/07/fiscal-factcheck/

Posted in:
Twitter