การลงทุนหุ้น และเศรษฐกิจ อัพเดทรายสัปดาห์

01 เมษายน 2555

Peter Lynch and His Famous PEG ratio


สวัสดีค่ะท่านผู้อ่านทุกท่าน หลายๆท่านคงเคยได้ยินชื่อของนักลงทุนผู้ยิ่งใหญ่ท่านหนึ่ง ซึ่งมากไปด้วยประสบการณ์ด้านการลงทุนในหุ้น อีกทั้งยังเป็นผู้คิดค้นอัตราส่วนทางการเงิน (Ratio) ที่ใช้ประกอบการลงทุนได้เป็นอย่างดีไว้หนึ่งอันซึ่งก็คือ Price to Earnings Growth Ratio หรือ PEG Ratio นั่นเองค่ะ...บุคคลนั้นจะเป็นใครไปไม่ได้นอกจาก Peter Lynch
Peter Lynch เกิดเมื่อ 19 มกราคม 1944 ในเมือง Massachusetts บิดาของเขาได้เสียชีวิตไปตั้งแต่เขาอายุได้ 10 ปี Lynch เริ่มหาเงินด้วยการไปเป็น Caddy ที่สนามกอล์ฟแห่งหนึ่งใน Boston ในปี 1950 ซึ่งเป็นปีที่ตลาดหุ้นกำลังร้อนแรง สมาชิกกอล์ฟคลับหลายๆคนก็ลงทุนในหุ้น รวมไปถึง D. George Sullivan แห่ง Fidelity Investment บุคคลผู้ซึ่งกลายเป็นผู้มีอิทธิพลต่อหน้าที่การงานของ Lynch ในเวลาต่อมา ตลอดเวลาการเป็นแคดดี้ Lynch ได้ยินเรื่องราวการลงทุนเกี่ยวกับหุ้นจากผู้ที่มาเล่นกอล์ฟมากมาย และเขาก็เกิดสนใจในหุ้นขึ้นมาทันที Lynch เลือกเรียนปริญญาตรีสาขา Finance ที่ Boston College ในปีสุดท้ายของการเรียนปริญญาตรี Lynch ได้ไปสมัครงานที่ Fidelity Investment ตามคำชวนของ D. George Sullivan ซึ่งเป็นประธานบริษัทในขณะนั้น หลังจากนั้น Lynch ได้เรียนเข้าเรียนปริญญาโท MBA ที่ Wharton ซึ่งเป็นที่ที่เขาได้พบกับภรรยาของเขา Carolyn ทั้งสองได้แต่งงานกันในปี 1968 และมีลูกด้วยกัน 3 คน[1] ในปี 1969 Lynch เข้าทำงานที่ Fidelity ด้วยตำแหน่งนักวิเคราะห์ (Analyst) และดูหุ้นที่อยู่ในอุตสาหกรรมสิ่งทอ และ เหล็ก (Textile and Metal Industry) 5 ปีต่อมาเขากลายเป็นผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ (Research Director) ในปี 1977 เขาย้ายไปทำงานที่ Magellan Fund ในฐานะผู้จัดการกองทุนเป็นครั้งแรกในชีวิต แต่การเริ่มงานที่ Magellan ก็ไปได้ไม่สวยสักเท่าไรนัก เพราะในช่วงปี 1970s หุ้นตกฮวบฮาบ แต่ Lynch ก็สามารถผ่านช่วงเวลานั้นไปได้ และทุกอย่างก็เริ่มกลับมาดีขึ้นในช่วงต้นปี 1982 (Lynch ทำงานโดยเฉลี่ย 6 วันต่อสัปดาห์ในช่วงนั้น และบางครั้งก็ทำวันอาทิตย์ด้วย!) ในปี 1990 Lynch ตัดสินใจเกษียณตัวเองด้วยอายุการทำงาน 13 ปีที่ Magellan เขาได้ออกมาอยู่บ้านกับภรรยาและลูกทั้งสามคน และจบอาชีพการงานด้วยความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ ชีวิตหลังเกษียณของ Lynch ก็ยังยุ่งอยู่เหมือนเดิม เพราะเขาดำรงตำแหน่งรองประธานที่ Fidelity นอกจากนั้น Lynch ยังบริจาคเงินของเขาเพื่อช่วยเหลือผู้อื่นอีกมากมาย Lynch มีมูลนิธิการกุศลในชื่อ Lynch Foundation อีกด้วย

Peter Lynch ได้คิดค้น Ratio ขึ้นมาหนึ่งอันที่มีชื่อว่า PEG หรือ Price to Earnings Growth Ratio ค่ะ Lynch บอกว่า P/E อย่างเดียวอาจจะบอกอะไรได้ไม่มากเท่ากับการที่เราเปรียบเทียบ P/E กับ Growth Rate ของ Earnings per share (EPS หรือ กำไรต่อหุ้น) ของบริษัทนั้นๆค่ะ นั่นหมายความว่า บริษัท A อาจจะมี P/E ratio ที่สูง เช่น P/E 20 เท่า ซึ่งหมายความว่าหุ้นตัวนี้อาจจะแพงเกินไปแล้ว (ที่ผู้เขียนบอกว่า ”อาจจะแพงเกินไป” เพราะว่า การจะบอกว่าหุ้นตัวหนึ่งแพงหรือถูกนั้นต้องดูหลายปัจจัยประกอบกัน อัตราส่วนทางการเงินเพียงอันเดียวไม่สามารถบอกได้ทั้งหมด บางครั้งเราอาจจะต้องเปรียบเทียบอัตราส่วนนั้นๆกับค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรม หรือว่าอัตราส่วนเฉลี่ยย้อนหลังของบริษัทนั้นๆเป็นเวลา 5 ปีขึ้นไป รวมทั้งยังต้องดูประกอบกับอัตราส่วนอันอื่นหลายๆอันด้วยค่ะ) Lynch ได้ให้หลักการและเหตุผลของ PEG Ratio ไว้ว่า หุ้นบริษัท A สามารถมี P/E ที่สูง และยังคงน่าสนใจที่เราจะเข้าไปลงทุนได้ ถ้า บริษัท A
มีการเติบโตของกำไรต่อหุ้น (EPS Growth Rate) ในระดับที่เหมาะสม ซึ่งหมายความว่า ถึงแม้ P/E ตัวเดี่ยวๆจะสูง แต่ถ้า P/E ของบริษัท A น้อยกว่าหรือเท่ากับอัตราการเติบโตของกำไรต่อหุ้นของบริษัท A โดยเปรียบเทียบแล้ว หุ้นบริษัท A จะยังคงน่าสนใจอยู่ค่ะ และยิ่งถ้า P/E ต่ำกว่าครึ่งหนึ่งของ Growth rate ของ EPS แล้ว หุ้นตัวนั้นจะยิ่งน่าสนใจมากเข้าไปอีก
ยกตัวอย่างเช่น หุ้นบริษัท A มี P/E อยู่ที่ 20 เท่า และมีค่าประมาณการ EPS growth rate ในอีก 5 ปีข้างหน้าอยู่ที่ 20% นั่นหมายความว่า PEG มีค่าเท่ากับ 1[2] ซึ่งหมายความว่าตลาดได้ให้ราคาหุ้นของบริษัท A ที่สะท้อนการเติบโตของกำไรต่อหุ้นได้เหมาะสมและพอดี แต่ถ้าหุ้นของบริษัท A มี PEG มากกว่า 1 เท่า ก็จะหมายความว่า ตลาดได้ซื้อขายหุ้น A ที่ราคาที่มากกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับการเติบโตของกำไรต่อหุ้น (Overvalue) หรือถ้าจะพูดให้เห็นภาพชัดเจนนั่นคือ ตลาดโดยรวมคาดการณ์การเติบโตของกำไรในอนาคตไว้ว่าจะโตได้อีกมาก คนจึงยอมที่จะจ่ายแพง เพราะเชื่อว่าในอนาคตกำไรจะดีกว่าที่คาด และหุ้นจะโตเร็วกว่าที่ประมาณการ ดังนั้นหุ้นที่มี PEG สูงมักจะเป็นหุ้นประเภท Growth Stocks ค่ะ ส่วนหุ้นที่มี PEG Ratio ต่ำกว่า 1 แปลว่า หุ้นนั้นซื้อขายที่ราคาที่ต่ำกว่ามูลค่าที่ควรจะเป็น (Undervalue) หรือที่ราคาต่ำกว่าการเติบโตของ EPS ค่ะ
จบไปแล้วนะคะ สำหรับความหมายและการใช้ PEG Ratio อย่าลืมนะคะว่า อัตราส่วนเพียงแค่อันเดียวนั้นไม่สามารถบอกเรื่องราวที่เกี่ยวกับบริษัทได้ทั้งหมด อย่าลืมว่าต้องใช้ประกอบกับอัตราส่วนทางการเงินอื่นๆเพื่อให้การวิเคราะห์การลงทุนมีศักยภาพและเกิดประโยชน์สูงสุดค่ะ
ก่อนจากกันขอฝากคำพูดของ Peter Lynch ไว้หน่อยค่ะ
“Stock Prices often move in opposite directions from the fundamentals but long term, the direction and sustainability of profits will prevail”
ในระยะสั้น ราคาหุ้นอาจจะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ตรงข้ามกับปัจจัยพื้นฐานของบริษัท
แต่ในระยะยาว ทิศทางและความยั่งยืนของผลกำไรของบริษัทจะเป็นสิ่งที่สะท้อนออกมาให้เห็นในราคาหุ้น
.....
สวัสดีค่ะ
Source:
The Guru Investor
โดย John P. Reese และ Jack M. Forehand, CFA
One Up on Wall Street โดย Peter Lynch และ John Rothchild



[2]
P/E
หารด้วย EPS Growth rate = 20/20 ผู้อ่านจะเห็นว่า ถึงแม้ว่า Growth rate จะเป็นเปอร์เซ็นต์ แต่ในการคำนวณ PEG Ratio เราจะนำ Growth rate มาคูณด้วย 100 ค่ะ
[1]
Lynch
รู้มาตลอดว่าเขาอยากทำงานด้านการลงทุน และก็ติดตามข่าวสารเกี่ยวกับหุ้นมาโดยตลอด เขาอินกับหุ้นมาก ถึงกับว่า แม้ใน Date แรกของเขากับภรรยา เขาพูดถึงแต่เรื่องการลงทุน!

Posted in: ,
Twitter