ในบทความนี้เรามาดูเครื่องมืออื่นๆ นอกจากอัตรา P/BV ณ ปัจจุบัน ที่จะช่วยให้นักลงทุนคัดเลือกหุ้นแบงค์ได้ง่ายขึ้นครับ ซึ่งประกอบไปด้วย 1) ค่า P/BV ในอดีต และ 2) ROE ระยะยาว
P/BV ปัจจุบัน เทียบกับ P/BV ในอดีต
จากกราฟด้านล่าง จะเห็นได้ว่าหุ้นธนาคารแทบทุกตัวกำลังซื้อ-ขายอยู่ที่ P/BV ในระดับที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยระยะยาว11ปีของตัวเอง (ที่ใช้11ปีก็เพื่อที่จะได้รวมปี 2009 ซึ่งเป็นช่วงวิกฤตเข้าไปด้วย) ตัวอย่างเช่น P/BV ของ KBANK ปัจจุบันอยู่ที่ 1.00 เท่า ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยระยะยาวที่ระดับ 1.74 เท่า ถึง 42% ส่วน SCB ค่า P/BV อยู่ที่ 1.01 เท่า ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยระยะยาวถึง 46%
มีแค่ KKP กับ TISCO เท่านั้นที่ซื้อ-ขายอยู่ในระดับสูงกว่าค่าเฉลี่ย P/BV ของตัวเอง ถ้าจำกันได้ ในบทความที่แล้วเราเคยบอกไว้ว่า TISCO เป็นหุ้นธนาคารตัวเดียวที่ราคาเพิ่มขึ้นนับตั้งแต่ต้นปี 2018 สาเหตุหลักคือ มีการเพิ่มสัดส่วนเงินปันผลจากเดิม เคยจ่าย 66% ของกำไรในปี 2017 เพิ่มเป็น 80% ของกำไรในปี 2018 ในสภาวะดอกเบี้ยต่ำเตี้ยแบบนี้ (ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยอายุ 10 ปี อยู่ที่ประมาณ 1.5%) นักลงทุนจึงให้ค่าหุ้นที่จ่ายปันผลดีค่อนข้างมาก
ในกราฟที่เห็นด้านบน เราได้โชว์ข้อมูลเพิมเติมด้วยว่า ถึงแม้ P/BV ของธนาคารจะค่อนข้างต่ำ เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ย 11 ปี แต่ค่า P/BV ปัจจุบัน ก็ยังไม่ต่ำกว่าจุดต่ำสุดที่เกิดขึ้นช่วงวิกฤตปี 2009 (ยกเว้น CIMBT และ TMB) การที่ TMB เป็นหุ้นที่มี P/BV เท่ากับ 0.68 เท่า ซึ่งต่ำกว่าช่วงวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2009 (0.70 เท่า) อาจจะแปลว่าหุ้นตัวนี้มีความเสี่ยงต่ำก็ได้ อย่างไรก็ตาม TCAP กับ TMB กำลังอยู่ในระหว่างการควบรวม และการเพิ่มทุน นักลงทุนควรปรึกษา นักวิเคราะห์ หรือ ที่ปรึกษาการลงทุน เพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน
ROE ระยะยาว
ROE ย่อมาจาก Return on Equity หรืออัตราผลตอบแทนผู้ถือหุ้น (กำไรสุทธิ (net profit) หารด้วย ส่วนของผู้ถือหุ้น (BV) ) ยิ่ง ROE สูง แปลว่าผลตอบแทนจากการลงทุนสูง บริษัทสามารถนำเงินของผู้ถือหุ้นไปแสวงหากำไรได้ดี หรือมองอีกมุมก็คือ ยิ่ง ROE สูง BV ของบริษัทก็ยิ่งเติบโตได้เร็วนั่นเอง เพราะกำไรที่หาได้เพิ่ม(หลังหักปันผล)จะถูกนำมาใส่ไว้ที่ส่วนของผู้ถือหุ้นในงบดุล
มาถึงตรงนี้คอนเซปท์ของ P/BV และ ROE จะคล้ายๆกับ P/E และ อัตราการเติบโตของกำไร (อ่าน Peter Lynch and His Famous PEG ratio) P/E คืออัตราส่วนที่บอกว่าตลาดให้มูลค่าหุ้นมากแค่ไหนเมื่อเทียบกับกำไรต่อปี ณ วันนี้ ยิ่งคาดหวังการเติบโตของกำไรในอนาคตมาก ตลาดยิ่งมีแนวโน้มให้ค่า P/E สูง ทำนองเดียวกัน หุ้นที่ ROE สูง ตลาดยิ่งมีโอกาสให้ค่า P/BV สูงไปด้วย เนื่องจาก Book Value สามารถขยายได้เร็ว ในตารางดังต่อไปนี้ ทางเราได้นำค่า P/BV ของหุ้นธนาคารมาถูกหารด้วย ROE ระยะยาว เพื่อหาว่าหุ้นตัวไหนมีราคาถูกเมื่อเทียบกับ ROE ของตัวเอง โดยจะสุ่ม ROE มาจากบทวิเคราะห์ล่าสุดของหุ้นแต่ละตัวที่อยู่ใน SETTRADE และใช้ ROE ของปี 2020 (หรือปี 2021 ถ้ามี) - ขออนุญาตเรียกอัตราส่วนนี้ว่า PBR
--- ตั้งแต่ย่อหน้านี้เป็นต้นไป จะขอไม่พูดถึง CIMBT และ LHFG เพราะไม่มีประมาณการจากนักวิเคราะห์ใน SETTRADE และไม่พูดถึง TISCO เพราะมีปันผลสูงเป็นพิเศษจนทำให้ราคาหุ้น และ ROE เปรียบเทียบกับธนาคารตัวอื่นค่อนข้างลำบาก (ROE ที่ได้จาก AWS เป็นปี 2020 ในขณะที่ ROE จาก MBKET เป็นปี 2021) ---
เมื่อเรามองไปที่ P/BV เปล่าๆ ช่วงห่างระหว่างตัวที่ P/BV สูงสุด (KKP = 1.36 เท่า) และต่ำสุด (TMB = 0.68 เท่า) จะกว้าง โดย P/BV ของ KKP สูงกว่า TMB ถึง 99.6% แต่เมื่อเราปรับอัตราส่วน P/BV ด้วยการนำ ROE มาหาร จะพบว่าอัตราส่วน PBR ของหุ้นแต่ละตัวจะเกาะกลุ่มใกล้ค่าเฉลี่ยของกลุ่ม (average = 0.093 เท่า) มากขึ้น ช่วงห่างระหว่างตัวที่ PBR สูงสุด (KBANK = 0.105 เท่า) กับต่ำสุด (TMB = 0.084 เท่า) อยู่ที่ 25.2% เท่านั้น ซึ่งบ่งชี้ให้เห็นว่าอัตราส่วน P/BV ที่ตลาดจะให้ค่าสูงหรือต่ำนั้น เป็นตัวทำหน้าที่สะท้อนความคาดหวังของ ROE ในระยะยาวนั้นเอง (ROE สูงถูกสะท้อนด้วย P/BV ที่สูง และ ROE ต่ำถูกสะท้อนด้วย P/BV ที่ต่ำ)
ในขณะนี้ หุ้นที่มี PBR ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่ม (0.093 เท่า) คือ BBL KKP KTB TCAP TMB ส่วน SCB ถือว่าใกล้เคียงค่าเฉลี่ยกลุ่ม เพราะอัตราส่วน PBR อยู่ที่ 0.096 เท่า เหลือแค่ KBANK ที่ PBR สูงกว่ากลุ่มอย่างเห็นได้ชัดที่ระดับ 0.105 เท่า (สูงกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่ม 8.8%) ทั้งนี้อัตราส่วน PBR ดังกล่าวขึ้นอยู่กับ ROE ที่นำมาใช้ นักวิเคราะห์ต่างคนก็ต่างใช้ ROE ระยะยาวไม่เท่ากัน นักลงทุนอาจจะต้องคำนวน ROE ระยะยาวเอง หรือ เอามาจากบทวิเคราะห์ที่เราเชื่อถือครับ
จะลงทุนหุ้นธนาคารทั้งที นักลงทุนควรประเมินแนวโน้มหนี้เสีย(NPL)ของแต่ละธนาคาร และประเมินเศรษฐกิจมหภาคของทั้งประเทศไทยและโลกประกอบด้วยนะครับ ซึ่งทั้ง2ปัจจัยดังกล่าวยังไม่ได้ถูกกล่าวถึงในบทความนี้ อย่างไรก็ตาม ทางเราหวังว่าเครื่องมือต่างๆที่ถูกกล่าวถึงในบทความทั้ง2ตอนจะช่วยให้ท่านนักลงทุนที่อ่านตัดสินใจเลือกหุ้นได้ง่ายขึ้นครับ